Thursday, March 9, 2006

สถาบันการเมืองกับการพัฒนาประเทศ*

สถานการณ์บ้านเมืองที่วุ่นวายในเวลานี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากลองย้อนกลับไปดูการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจัยทางด้านการเมืองและสังคมล้วนมีความสำคัญ งานวิชาการที่ผ่านมาต่างชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยด้านสถาบันการเมือง (Political Institution) และสถาบันกฎหมาย (Legal Institution) ที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยทางด้านความมีเสถียรภาพทางด้านการเมือง (Political Stability) ความคุ้มครองสิทธิทางด้านทรัพย์สิน (Secure Private Property Rights) รวมถึงระบบกฎหมายที่ดี (Legal Systems) ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว และความเป็นอยู่ของประชาชน

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น ผมขอยกตัวอย่างประกอบ สมมติว่า เราอยู่ในประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน ท่านผู้อ่านคงไม่อยากที่จะซื้อรถแพงๆ มาขับ หรือซื้อของแพงๆมาใช้ เพราะเกรงว่า วันหนึ่งอาจมีขโมยเข้ามาขโมยของรักของท่าน เช่นเดียวกัน บริษัท และธุรกิจต่างๆ ก็คงไม่อยากทำธุรกรรมในประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองการทำสัญญาหรือข้อตกลงที่เกิดจากการทำธุรกรรมเหล่านั้น หรือในสถานการณ์ปัจจุบันที่การเมืองมีความไม่สงบ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐต่างๆ (Megaprojects) ที่วาดหวังไว้คงต้องหยุดหรือชะลอจนกว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัยทางด้านการเมืองและสถาบันต่างๆที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตของประเทศ

นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกอย่าง Prof. William Easterly และ Ross Levine** ได้ทำการศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่รวมถึงปัจจัยทางด้านการเมืองและสถาบันอื่นๆ ที่มีผลต่อการเติบโตของประเทศทั่วโลกกว่า 70 ประเทศ ตัวอย่างเช่น เหตุใดทั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกมีพรมแดนอยู่ติดกัน แต่ทำไมรายได้ต่อหัวประชากรในเม็กซิโกจึงต่ำกว่ารายได้ต่อหัวประชากรในอเมริกาถึงกว่า 4 เท่าตัว การหาคำตอบของประเด็นคำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ

ผลที่ได้จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ระดับรายได้แตกต่างกันเช่นนี้ มิใช่เกิดจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีทรัพยากรที่มากกว่าหรือแตกต่างจากประเทศเม็กซิโก แต่กลับเกิดจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีสถาบันทางด้านการเมือง และสถาบันกฎหมายที่เข้มแข็งกว่า ซึ่ง Prof. Easterly และ Levine สรุปว่า หากประเทศเม็กซิโกสามารถพัฒนาสถาบันการเมือง และสถาบันกฎหมายให้เข้มแข็งในระดับเดียวกันกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้ รายได้ต่อหัวประชากรของทั้งสองประเทศจะเท่ากันนั้นเอง

ผลที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ ผู้อ่านอย่าเข้าใจผิดว่า การมีสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งหมายถึงการมีรัฐบาลอยู่ชุดเดียว ที่ไม่ว่าจะเลือกตั้งกี่ครั้งก็ได้นายกกลับมาเป็นคนเดิม หรือการผูกขาดทางการเมืองจะเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ จริงๆแล้วความหมายของการมีสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งคือ การที่มีระบบสถาบันที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้มาก รวมถึงมีระบบที่สามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากปราศจากสิ่งเหล่านี้การเมืองที่เข้มแข็งอาจไม่ใช่สิ่งที่ดี ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศซิมบับเว (Zimbabwe)

ประเทศซิมบับเวเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวย หรือมีฐานะดีกว่าประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา ภายหลังการได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในช่วงปี คศ. 1980 ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โรเบิรต์ มูกาเบ้ (Robert Mugabe) ที่มีอำนาจผูกขาดทางการเมือง กลับทำลายระบบสถาบันต่างๆ ที่อังกฤษได้สร้างไว้ในช่วงปกครอง ระบบสถาบันต่างๆเหล่านั้น ทั้งสถาบันการเมือง สถาบันสังคม สถาบันกฎหมาย ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศซิมบับเวร่ำรวยขึ้นมาในช่วงเวลาที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ผลที่ตามมาคือ ในช่วงเวลาเพียงกว่า 20 ปีให้หลัง ประเทศซิมบับเวกลับมายากจน และมีความแตกแยกอย่างรุนแรงจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นสำหรับประเทศไทย การมีรัฐบาลที่เข้มแข็งเกินไปคงไม่ใช่สิ่งที่ดี หากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง หรือขาดซึ่งระบบสถาบันที่สามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ คงต้องยอมรับกันว่า ประเทศไทยยังมีปัญหานี้ค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นการเดินถอยหลังไปหนึ่งก้าว เพื่อปรับกฎเกณฑ์ของสถาบันให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ให้มีความโปร่งใส ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น และมีระบบของสถาบันที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้มากขึ้น การปรับกฎเกณฑ์เหล่านี้จะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และประเทศไทยคงจะไม่เดินซ้ำรอยของประเทศซิมบับเว จากการที่มีผู้นำที่มีอำนาจผูกขาดมากเกินไป โดยขาดระบบสถาบันที่เข้มแข็งพอที่จะเข้าไปตรวจสอบได้นั่นเอง

* "สถาบันการเมืองกับการพัฒนาประเทศ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 9 มี.ค. 2549
** Easterly, William and Ross Levine, 2002, “Tropics, Germs, and Crops: How Endowments Influence Economic Development,” NBER Working Paper no. 9106.