Thursday, September 7, 2006

ใครควรเป็นผู้ลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ?*

เมื่อกล่าวถึงหลักการที่จะทำให้การบริหารโครงการขนาดใหญ่ของรัฐประสบผลสำเร็จและดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ คงจำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายๆด้านไปพร้อมกัน ซึ่งในที่นี้เราคงไม่สามารถที่จะกล่าวคลอบคลุมองค์ประกอบต่างๆได้หมด โดยประเด็นที่อยากกล่าวถึงคือ ลักษณะของแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการไฟแนนซ์โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า วิธีการไฟแนนซ์เงินลงทุนที่แตกต่างกันมีผลต่อการบริหารโครงการที่แตกต่างด้วยเช่นกัน

การไฟแนนซ์เงินทุนที่ใช้ในโครงการต่างๆ ของรัฐ โดยส่วนใหญ่แล้วมีแหล่งเงินทุนที่สำคัญอยู่ 2 แหล่งหลักคือ การลงทุนโดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนโดยตรง และการลงทุนโดยภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน หนึ่งในข้อดีที่สำคัญของการที่ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนคือ สามารถเพิ่มความเชื่อมั่นในด้านผลประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากโครงการ เนื่องจากโครงการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ แต่ทั้งนี้ในหลายๆโครงการพบว่า ภาครัฐมีเงินไม่เพียงพอที่จะสามารถลงทุนได้เองทั้งหมด ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องไปกู้เงินลงทุนมาเองโดยตรงเพื่อใช้ในการไฟแนนซ์โครงการเหล่านั้น การกู้เงินโดยภาครัฐ ซึ่งภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ที่ใช้ในการลงทุน ในมุมมองของผู้ให้กู้ การค้ำประกันดังกล่าวเป็นการลดความเสี่ยงของโครงการที่มีต่อผู้ให้กู้ลง เนื่องจากแม้ว่าโครงการจะไปไม่รอด ภาครัฐก็สามารถหารายได้ส่วนอื่นๆมาใช้ เช่น รายได้จากภาษี มาใช้ในการชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวได้ ดังนั้นความเสี่ยงต่อการปล่อยกู้จึงค่อนข้างต่ำ

แต่ในความเป็นจริง การที่ภาครัฐเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ที่ใช้ในการลงทุน มิได้เป็นการลดความเสี่ยงของโครงการที่จะเกิดขึ้นแต่อย่างใด ในทางกลับกัน กลับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับโครงการ เนื่องจากการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐเป็นการผลักภาระความเสี่ยงที่เกิดขึ้นโดยตรงจากโครงการไปสู่ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะประชาชนเป็นเจ้าของเงินทุนที่แท้จริง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เจ้าของเงินทุนที่แท้จริง หรือประชาชนผู้เสียภาษีมักไม่มีโอกาสในการเข้ามาตรวจสอบถึงการดำเนินงานและความเหมาะสมของโครงการ ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น โครงการที่มีการค้ำประกันเงินกู้จากรัฐ กลับทำให้การตรวจสอบโครงการจากผู้ให้กู้เช่น สถาบันการเงินต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าโครงการที่ไม่มีการค้ำประกันเงินกู้จากภาครัฐ ดังนั้นความเสี่ยงของโครงการที่ภาครัฐค้ำประกันเงินกู้จึงมีโอกาสสูงกว่าโครงการที่ไม่ได้มีการค้ำประกันเงินกู้ไว้ อย่างไม่อาจปฎิเสธได้

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกรณีที่ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐโดยได้มีการนำเอาภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน โดยที่รัฐไม่ต้องค้ำประกันเงินกู้ทั้งหมด แม้จะดูมีความเสี่ยงสูงขึ้นในมุมมองของผู้ให้กู้เงินทุน จากความเสี่ยงที่มากขึ้น มีการตรวจสอบโครงการจากผู้ให้กู้ก็จะมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเมื่อปล่อยกลไกตลาดทำงาน โดยมีการตรวจสอบมากขึ้นจากภาคเอกชน สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้โครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระความเสี่ยงของโครงการที่มีต่อประชาชนผู้เสียภาษีลง นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาของความไม่โปร่งใสของโครงการ เนื่องจากการภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ การลงทุนโดยภาคเอกชน จะเพิ่มความเชื่อมั่นในแง่ของการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการบริหารโครงการ

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว โครงการที่ดีควรเกิดจากการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ภาครัฐควรลดบทบาทในการค้ำประกันเงินกู้ลง โดยเงินกู้ส่วนหนึ่งควรมาจากเงินกู้ของภาคเอกชน ซึ่งไม่ได้รับการค้ำประกันจากภาครัฐ เพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีการตรวจสอบจากภาคเอกชน รวมถึงเป็นการลดความเสี่ยงของโครงการที่มีต่อประชาชนลง โดยที่รัฐยังสามารถทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแล และรักษาผลประโยชน์ของประชาชนไว้ได้ นอกจากนี้ข้อมูลของโครงการควรนำมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ เพราะประชาชนผู้เสียภาษีมักไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการ ซึ่งในบางกรณีการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนจะนำไปสู่ปัญหาการต่อต้านโครงการเหล่านั้นต่อมาในภายหลัง ดังนั้นความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐควรมีตั้งแต่เริ่มพิจารณาโครงการ

* "ใครควรเป็นผู้ลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ?" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 7 ก.ย. 2549