Thursday, May 25, 2006

หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค*

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ถูกเริ่มใช้ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 คงไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า โครงการ 30 บาทเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบจากประชาชนโดยเฉพาะชาวรากหญ้าเป็นอย่างมาก และคงจะปฎิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่านโยบายดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐที่ช่วยในเรื่องการกระจายรายได้ จากผู้มีรายได้มากไปยังผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมให้ลดลง โดยช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับโอกาสมากขึ้นในการรับบริการทางด้านสุขภาพจากภาครัฐ

จริงๆแล้วระบบประกันสุขภาพไม่ใช่เรื่องใหม่หรือมีแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอื่นๆทั่วโลกต่างก็มีเช่นเดียวกัน ประเทศในเอเชียได้แก่ เกาหลีใต้ สิงค์โปร์ ไต้หวัน จีน ฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม ต่างก็มีระบบประกันสุขภาพให้แก่ประชาชน โดยระบบประกันสุขภาพในแต่ประเทศอาจมีความแตกต่างกันบ้างในแง่ของรายระเอียดในการให้บริการ รวมถึงวิธีการจัดหาเงินทุนมาใช้ในการอุดหนุนโครงการ เช่น เงินที่ใช้ในการอุดหนุนระบบประกันสุขภาพในฮ่องกงมากกว่าครึ่งได้มาจากเงินงบประมาณของรัฐ ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเงินอุดหนุนส่วนใหญ่มากจากกองทุนประกันสังคม (Social Insurance) ที่ถูกตั้งขึ้นมา เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่แล้วเงินที่ใช้ในการอุดหนุนระบบประกันสุขภาพไม่ว่าจะเป็นของประเทศใดก็ตาม มักมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่แท้จริง หากเทียบกับเงินที่ใช้ในกรณีที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพ ซึ่งคิดเงินกับผู้รับบริการตามค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นจริง หรือถ้าจะกล่าวในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว ระบบประกันสุขภาพเป็นระบบที่กลไกตลาดไม่ได้ทำหน้าที่ในการตัดสินราคาของการให้บริการ โดยราคาหรือเงินที่ได้ในการอุดหนุนที่เกิดขึ้นนั้น มีระดับที่ต่ำกว่าในกรณีที่ปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่เป็นตัวตัดสิน หรือเป็นระดับราคาที่ต่ำกว่าจุดดุลยภาพที่เกิดจากเส้นอุปสงค์หรือเส้นความต้องการรับการบริการตัดกับเส้นอุปทานหรือเส้นความต้องการให้บริการที่ควรเป็นนั่นเอง

ซึ่งแน่นอน ณ.จุดดุลยภาพใหม่ที่เกิดขึ้น ความต้องการรับบริการทางด้านสาธาณสุข จะมีมากกว่าความสามารถในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขของรัฐหากยังรักษาคุณภาพของการให้บริการไว้ให้ดีดังเดิม ดังนั้นเพื่อให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการลดคุณภาพของการให้บริการลดเพื่อให้ต้นทุนต่อการรักษาผู้ป่วยลดลง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาในด้านคุณภาพของการให้บริการทางด้านสาธารณสุขที่ประชาชนจะได้รับต่อไปในอนาคต โดยยิ่งปล่อยให้กลไกของตลาดถูกบิดเบือนมากเท่าไหร่ ปัญหาทางด้านคุณภาพของการให้บริการที่จะเกิดขึ้นก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ประสบการณ์ของประเทศอื่นๆที่ใช้ระบบประกันสุขภาพมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของประเทศที่พัฒนาแล้ว ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการการบิดเบือนกลไลตลาดเป็นอย่างดี เช่น ระบบประกันสุขภาพของประเทศอังกฤษและแคนาดา ต่างก็มีปัญหาในเรื่องเงินอุดหนุนที่มีอยู่จำกัดและมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้โรงพยาบาลไม่สามารถจัดซื้อเครื่องไม้ เครื่องมือในการรักษาที่ทันสมัย จำนวนเตียงต่อหัวประชากรลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนที่จะมีระบบประกันสุขภาพเกิดขึ้น เงินที่ใช้ในการจ้างบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาต้องรอจนกว่าจะมีแพทย์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ว่าง ซึ่งในบางกรณีการรอคอยมีระยะเวลาที่นานเกินไป จนทำให้การรักษาไม่ทันท่วงที เป็นต้น

การวิเคราะห์โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นและการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่น ทำให้พอคาดเดาได้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้กับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เราคงไม่อยากเห็นปัญหาในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ต้องมาเกิดซ้ำในประเทศไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาถึงแนวทางต่างๆในการอุดหนุนโครงการให้อยู่รอดได้ รวมถึงการดูแลในเรื่องคุณภาพในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขให้อยู่ในระดับที่ดี มิเช่นนั้นแล้ว ในความเป็นจริงประเทศไทยอาจกำลังเดินออกจากเป้าหมายที่ฝันไว้กับการเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพของเอเชีย (Health Hub of Asia)
ถึงจุดนี้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค คงไม่ใช่แค่เพียงนโยบายที่ใช้เพื่อหาเสียงของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นโครงการที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อความเป็นดีอยู่ดีของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั่นเอง

* "หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 25 พ.ค. 2549