Thursday, April 5, 2007

การปฎิรูประบบการประกันสุขภาพของผู้ว่าการรัฐกล้ามโต*

มีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียวเกิดขึ้นในต่างแดน คือ เรื่องการปฎิรูประบบการประกันสุขภาพที่กำลังถูกจุดประกายเกิดขึ้นในบางมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาและอาจมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างขึ้นทั่วสหรัฐ ก่อนอื่น ผมขอกล่าวถึงระบบการประกันสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาแบบคร่าวๆก่อน
 
ระบบการประกันสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกามีด้วยกันหลายรูปแบบ มีทั้งระบบภาครัฐและระบบภาคเอกชน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระบบหลักคือ 1) การประกันสุขภาพภาคเอกชนผ่านการจ้างงาน 2) การประกันสุขภาพภาคเอกชนส่วนบุคคล 3) การประกันสุขภาพภาครัฐแก่ผู้สูงอายุ (Medicare) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง และ 4) การประกันสุขภาพภาครัฐแก่ผู้มีรายได้น้อย (Medicaid) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
 
ถึงแม้ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีระบบประกันสุขภาพอยู่หลายระบบก็ตาม แต่ในปัจจุบัน ยังมีประชาชนสหรัฐอเมริกา กว่า 47 ล้านคนที่ยังไม่มีประกันทางสุขภาพ คิดเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในหกของประชากรทั้งหมด แต่ทั้งนี้ตามกฎหมายของสหรัฐแล้ว โรงพยาบาลต่างๆจะต้องดูแลรักษา ผู้ป่วยที่มาใช้บริการจากห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน แม้ผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่มีหลักประกันทางสุขภาพใดๆเลยก็ตาม
 
แน่นอนครับ ของฟรีมักจะมีปัญหาติดตามมาด้วยเสมอ ปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้แก่ หนึ่ง ผู้ป่วยที่ไม่มีประกันสุขภาพที่มารักษาฟรี มักไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีนัก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีประกันสุขภาพ ซึ่งผมว่าปัญหานี้คงเป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกันในหลายประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) และอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อมีการให้บริการรักษาฟรีแก่ผู้ที่ไม่มีประกันสุขภาพแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่เกิดขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ในหลายๆ ประเทศที่ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health-care Insurance) ภาครัฐจะเข้าไปให้เงินอุดหนุนแก่โรงพยาบาลที่ให้บริการ ซึ่งแน่นอนครับ เงินอุดหนุนเหล่านั้น คงมาจากที่อื่นๆไม่ได้นอกไปเสียจากเงินภาษีของประชาชน
 
ในกรณีของระบบประกันสุขภาพของสหรัฐที่ไม่ได้ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนประเทศอื่นๆ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเหล่านั้นส่วนหนึ่ง โรงพยาบาลจะผลักภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปยังผู้ป่วยที่มีประกันสุขภาพ จึงไม่น่าแปลกใจครับ ที่ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในสหรัฐจึงมีราคาแพงมาก ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ ค่าประกันสุขภาพจึงมีราคาสูง สุดท้ายผู้ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านั้นจริงๆ ก็หนีไม่พ้นประชาชนที่ซื้อประกันสุขภาพในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง
 
สำหรับการปฎิรูประบบประกันสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้นในบางมลรัฐของสหรัฐ ที่ผมกล่าวถึงตอนต้นคือ การบังคับให้ประชาชนทุกคนที่อยู่ในรัฐนั้นมีการประกันสุขภาพ โดยจุดเริ่มต้นของแนวนโยบายดังกล่าวเริ่มต้นที่มลรัฐ Massachusetts ซึ่งมีคุณ Mitt Romney เป็นผู้ว่าการรัฐ ซึ่งเขาได้กำหนดให้นับแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ประชาชนทุกคน จะต้องมีการประกันสุขภาพ หากใครที่ไม่มีการประกันสุขภาพจะถูกปรับ

แน่นอนครับสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยและไม่สามารถซื้อประกันด้วยตนเองได้ รัฐจะต้องเข้าไปช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อประกันเหล่านั้น ซึ่งแนวนโยบายดังกล่าวได้รับการขานรับจากมลรัฐอื่นๆ ซึ่งรวมถึงมลรัฐ California ของผู้ว่าการรัฐกล้ามโต Arnold Schawarzenegger
 
ผมเองก็คิดว่านโยบายดังกล่าว มีความน่าสนใจมากทีเดียว และมีข้อดีอยู่หลายข้อด้วยกัน หนึ่งในข้อดีคือ จะสามารถแก้ปัญหา การเลือกโดยได้รับผลตรงข้าม (Adverse Selection) ในธุรกิจประกันสุขภาพให้หมดลงไปได้
 
ผมขออนุญาตอธิบายถึงปัญหา Adverse Selection ให้ผู้อ่านได้รับทราบพอสังเขป ปัญหา Adverse Selection เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดจากความล้มเหลวของกลไลตลาด (Market Failure) โดยหากปล่อยให้ให้ตลาดทำงานด้วยตัวของมันเอง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจสร้างปัญหาต่อสังคมขึ้น เช่น หากปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะซื้อประกันสุขภาพหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ก็จะตัดสินใจไม่ซื้อประกันสุขภาพ เพราะคนกลุ่มนี้มีโอกาสน้อยในขณะนั้นน้อยที่จะได้ใช้บริการทางการแพทย์ แต่ในขณะเดียวกันคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ จะเป็นกลุ่มคนที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์นัก คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสในการใช้บริการสุขภาพมากนั่นเอง ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นตามมาคือ เมื่อคนแข็งแรงไม่ซื้อประกัน มีแต่คนสุขภาพไม่ดีมาซื้อประกัน บริษัทผู้ขายประกันก็จะขายประกันสุขภาพในราคาแพงกว่าที่ควรเป็น ซึ่งจะยิ่งทำให้ผู้ที่มีสุขภาพดี ตัดสินใจไม่ซื้อประกันสุขภาพ หรือไม่ก็ บริษัทผู้ขายประกันอาจไม่ยินดีขายประกันแก่ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะมีความเสี่ยงมาก ตัวเหตุผลดังกล่าว การปล่อยให้ตลาดทำงานด้วยตัวของมันเอง ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นส่งผลดีต่อสังคมนัก
 
นโยบายการปฎิรูประบบประกันสุขภาพที่นำเสนอโดยผู้ว่าการรัฐ Mitt Romney และ Arnold Schawarzenegger จะแก้ปัญหา Adverse Selection ที่มีลงได้ เพราะทั้งกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงและความเสี่ยงต่ำจะต้องซื้อประกันสุขภาพด้วยกันทั้งสิ้น และทีนี้ครับ เราก็สามารถปล่อยให้กลไกตลาดทำงานด้วยตัวของมันเองได้ ผลลัพท์ที่ได้ จะทำให้ประชาชนสามารถซื้อประกันสุขภาพในราคาที่ถูกลงและเกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้นนั่นเอง
 
แน่นอนครับนโยบายการปฎิรูปดังกล่าว ไม่ใช่ว่าจะเป็นนโยบายที่ไร้ปัญหา ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฎิบัติที่สำคัญปัญหาหนึ่งคือ รัฐจะหาแหล่งเงินทุนจากที่ใด มาใช้ในการอุดหนุนช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยให้สามารถมีประสุขภาพได้ ปัญหานี้ค่อนข้างรุนแรงครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของมลรัฐ California ที่มีประชากรกว่า 6.5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน หนึ่งในห้าของประชากรทั้งหมด ที่ปัจจุบันยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ ผู้ว่าการรัฐกล้ามโตจะสามารถแก้ปัญหาที่สำคัญนี้ได้อย่างไร ตรงนี้เราคงต้องติดตามดูกันต่อไปครับ
 
* "การปฎิรูประบบการประกันสุขภาพของผู้ว่าการรัฐกล้ามโต" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 5 เม.ย. 2550