Thursday, May 17, 2007

โครงสร้างภาษีเดียวของกลุ่มสหภาพยุโรป*

ในโลกใบเล็กของเรา มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งออกมาในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ข่าวเล็กๆ ที่แทบจะไม่มีใครให้ความสนใจในประเทศไทย แต่ข่าวนี้หากเป็นจริงเมื่อใด ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงวิธีชีวิตของคนหลายร้อยล้านคนบนโลกแห่งนี้กันเลยทีเดียว ข่าวที่ผมกล่าวถึงในที่นี้คือ ข่าวการเริ่มพิจารณาเพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายที่จะใช้โครงสร้างภาษีเดียวกัน (Tax harmonization) ของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union)

หากย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้สร้างความประหลาดใจให้กับโลกใบนี้ ด้วยความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงที่จะใช้เงินสกุลเดียวร่วมกัน ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อของเงินสกุลยูโร เหตุการณ์ในครั้งนั้น ประเทศสมาชิกทั้งหลายจำเป็นต้องยอมเสียสละถึงความมีอิสระทางด้านนโยบายการเงินในแต่ละประเทศ (Monetary policy sovereignty) ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญก้าวใหญ่ ที่จะนำไปสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจหนึ่งเดียวของกลุ่มสหภาพยุโรป มาในวันนี้กลุ่มสหภาพยุโรปกำลังจะสร้างความประหลาดใจให้กับโลกครั้งใหม่ ด้วยการผลักดันข้อตกลงการมีโครงสร้างภาษีนิติบุคคลเดียวกัน ซึ่งในครั้งนี้สิ่งที่ประเทศสมาชิกจะต้องยอมสูญเสียคือ ความมีอิสระของนโยบายภาษี (Tax sovereignty)

แม้การขาดอิสระของการกำหนดนโยบายภาษีจะทำให้รัฐบาลขาดเครื่องมือที่สำคัญไปก็ตาม แต่โครงสร้างภาษีเดียวเองก็มีข้อดีอยู่หลายประการด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่เราสามารถเห็นได้ไม่ยาก คือ โครงสร้างภาษีเดียว ช่วยส่งเสริมให้กลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปรวมกันเป็นเนื้อเดียวกันอย่างเป็นบึกแผ่นและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนในการกรอกภาษี (Tax compliance costs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทข้ามชาติ ที่มีธุรกิจ ธุรกรรมอยู่ในหลายประเทศลง

นอกจากนี้อีกหนึ่งประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งในทางเศรษฐศาสตร์คือ การช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบิดเบือนที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่แตกต่างกันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงาน กล่าวคือ บางประเทศใช้วิธีการกำหนดอัตราภาษีต่ำ เพื่อดึงดูดให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่การไหลเข้ามาของเงินทุนที่เกิดขึ้นเนื่องจากอัตราภาษีที่แตกต่างกันในลักษณะนี้ จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์นั้น เราเรียกว่าความสูญเสียทางประสิทธิภาพ (Efficiency) จากการที่ตลาดถูกบิดเบือนนั่นเอง

แม้ว่าในวันนี้ หลายๆ ประเทศได้ออกมาคัดค้านกับแนวความคิดดังกล่าว เช่น อังกฤษ และไอร์แลนด์ และถึงแม้ว่าหนทางสู่ความสำเร็จที่จะบรรลุข้อตกลงยังอยู่ห่างไกลจากปัจจุบันอยู่มากก็จริง แต่ถ้าหากถามถึงความยากง่ายระหว่าง การบรรลุข้อตกลงการใช้เงินสกุลเดียวกัน กับ การบรรลุข้อตกลงการใช้โครงสร้างภาษีเดียวกัน คำตอบค่อนข้างชัดเจนว่า การบรรลุข้อตกลงที่จะใช้เงินสกุลเดียวกันนั้น ค่อนข้างยุ่งยากและมีความซับซ้อนกว่าค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเป็นไปได้ครับ หากเราจะได้เห็นถึงความสำเร็จในการบรรลุถึงข้อตกลงทางด้านนโยบายภาษีที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปในอนาคต

แต่ทั้งนี้เป็นที่น่าเสียดาย หากมองย้อนกลับมายังประเทศในภูมิภาคเราแล้ว หลายๆครั้งในอดีต เช่น ในช่วงที่เราประสบปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินในภูมิภาคเอเชีย เราเคยพูดถึงความร่วมมือที่จะนำไปสู่การรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งในระดับอาเซียน และในระดับเอเชีย เรายังเคยคิดถึงความร่วมมือที่จะปรับใช้ค่าเงินสกุลเดียวร่วมกันในภูมิภาค หรือ แม้แต่การใช้เงินญี่ปุ่นเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างประเทศภายในภูมิภาค แทนการพึ่งพิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างให้ภูมิภาคเอเชียสามารถเติบโตได้อย่างมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

แต่ในวันนี้ 10 ปีผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่าง ยังเป็นเช่นเดิม ไม่มีสัญญานใดๆที่บ่งบอกถึงการพัฒนาหรือความคืบหน้าใดๆที่เป็นรูปธรรม ในการสร้างความร่วมมือกันภายในภูมิภาค ในทางกลับกัน กลับมีแต่สิ่งที่แสดงถึงการแตกแยกและการแข่งขันกันเองภายในภูมิภาค เช่นการแข่งขัน แย่งเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีชนิดทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าต่างๆ (Bilateral Free Trade Agreement)

น่าผิดหวังครับ ทั้งๆที่ ทุกคนต่างทราบกันดีอยู่ว่า การแข่งกันเองในลักษณะนี้ จะเป็นการลดอำนาจต่อรองของตนเองในการเจรจากับประเทศคู่ภาคียักษ์ใหญ่ต่างๆ ลง อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลเสียต่างๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากความอ่อนแอและความไม่จริงใจที่จะร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆภายในภูมิภาคนี้นั่นเอง วันนี้หรือวันต่อๆไป เราคงทำได้แต่ยืนมอง ดูการพัฒนาของความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ภายนอกภูมิภาคแห่งนี้ ผมขอเอาใจช่วยครับ

* "โครงสร้างภาษีเดียวของกลุ่มสหภาพยุโรป" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 17 พ.ค. 2550

Thursday, May 3, 2007

“มึงมีกู ไม่มีจน” *

ในช่วงนี้ คงต้องยอมรับกันอย่างแท้จริงว่า เป็นยุคทองของจตุคาม รามเทพ ฟีเวอร์ ที่เป็นที่สนอก สนใจกันไปทั่ว กระแสความต้องการหยุดเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังเลยไปถึงประเทศเพื่อนบ้านของเรา หากใครที่ยังไม่รู้จักหรือเคยได้ยินเรื่องราวขององค์จตุคาม รามเทพ อาจกล่าวได้ว่า เป็นคนที่ตกยุค พศ. 2550 นี้ไปเลยทีเดียว

ความร้อนแรงของกระแสจตุคาม รามเทพ ทำให้วงการตลาดพระเครื่องเกือบทุกที่ ได้ปรับเปลี่ยนจากการวางแผงเช่าพระเครื่อง มาเป็นการวางแผนขายวัตถุมงคงจตุคาม รามเทพ จนทำให้ตลาดพระเครื่องเดิมกลับเงียบลงไปถนัดตา ไม่เพียงเท่านั้น ราคาของวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ จากเดิมระดับราคาไม่กี่สิบบาทได้ถูกไล่ขึ้นมาพุ่งพรวดอย่างน่ากลัว ในวันนี้ราคาของวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ ในหลายๆรุ่นได้ถูกดันมาเป็นหลักหมื่น หลักแสน แถมบางรุ่นยังเลยไปยังหลักล้านแล้วก็มี เช่น รุ่นพระเนื้อผง สุริยัน จันทรา ที่สร้างขึ้นในปี 2530 ราคาปัจจุบันทะลุหลักล้านไปแล้ว นอกจากนั้น ความร้อนแรงของกระแสความต้องการ บวกทั้งราคาที่ถูกถีบจนสูงลิ่วของวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ทำให้ในปัจจุบันมีของปลอม หรือของลอกเลียนแบบเกิดขึ้นอย่างมากมาย จนทำให้ผู้ซื้อที่ไม่มีความรู้ ตกเป็นเหยื่อ ต้องสูญเสียเงินไปอย่างมากมาย สิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีถึงกระแสจตุคาม รามเทพ ฟีเวอร์ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้

กระแสความต้องการที่มีมากมายในช่วงเวลานี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคาพุ่งทยานสูงขึ้นกว่าราคาที่ควรจะเป็นอย่างมาก เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่ได้เกิดขึ้นมาซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ตัวอย่างเช่น หากผู้อ่านย้อนกลับไปคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ที่ช่วงเวลาหนึ่งเสื้อสีเหลืองฉลองคลองราชย์ครบ 60 ปีเกิดปัญหาขาดตลาด เนื่องจากปริมาณความต้องการเสื้อเหลืองที่มีอยู่มาก เกินปริมาณที่เสนอขายอยู่ในตลาด ผู้ขายเสื้อเหลือจึงถือโอกาสเพิ่มราคาเสื้อเหลืองจากเดิมตัวละสอง ถึง สามร้อยบาท ไปเป็นราคาขายเป็นตัวละ หกถึงเจ็ดร้อยบาท ในบางพื้นที่ของประเทศ สิ่งที่เราเห็นตามมาคือ ราคาที่สูงอย่างเกินปกติที่ควรจะเป็นนั้น ไม่ได้อยู่นานนัก เพราะเมื่อราคาของเสื้อเหลืองปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตหรือโรงงานทั้งหลายต่างเห็นแนวทางในการหากำไร จึงเพิ่มปริมาณการผลิตเสื้อเหลืองมากขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการ จนสุดท้ายในวันนี้ ราคาเสื้อเหลืองก็ได้กลับมาอยู่ในราคาปกติทั่วไป คือตัวละประมาณ สองถึงสามร้อยบาทเท่านั้นเอง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีของเสื้อเหลือง นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ปกติของการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพในทางเศรษฐศาสตร์นั้นเอง ซึ่งจุดดุลยภาพ (Equilibrium) ที่เกิดขึ้นนั้น จะเป็นจุดที่ไม่มีอุปสงค์รวมส่วนเกิน (Aggregate excess demand) หรืออุปทานรวมส่วนเกิน (Aggregate excess supply) เกิดขึ้น นอกจากนั้น ผู้ผลิตหรือผู้ขายในตลาดที่มีการแข่งขัน ก็จะไม่สามารถทำกำไรได้สูงเกินกว่าปกติ ณ.จุดดุลยภาพที่เกิดขึ้น
 
จากประสบการณ์ในอดีตเหล่านี้ ได้นำไปสู่ประเด็นคำถามคือ เหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ หรือไม่ หรือ ระดับราคาที่ถูกปั่นจนสูงลิ่วของวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ จะคงอยู่ณ.ระดับราคาที่สูงเช่นนี้ไปอีกยาวนานเพียงไร หรืออีกไม่ช้านาน ราคาของวัตถุมงคลจะปรับตัวลดลงมาจนถึงราคาปกติที่ควรจะเป็น

คำตอบของคำถามนี้ คงขึ้นอยู่กับว่า ปัจจัยกระแส จตุคาม รามเทพ ที่มีอยู่ในเวลา จะอยู่ได้อย่างยืนยงหรือไม่ หากกระแสดีไม่มีตก ราคาก็อาจจะไม่ลดลงมา แต่หากกระแส เริ่มแผ่ว ความต้องการที่มีในปัจจุบันก็จะลดลงไป อีกทั้งปัจจัยทางด้านอุปทานที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถสังเกตได้ว่า ปัจจุบันได้มีการออกวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ อย่างมากมาย ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น จนแทบจะจำชื่อกันไม่ได้ เริ่มทำให้จำนวนวัตถุมงคลในท้องตลาดมีมากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีของปลอมหรือลอกเลียนแบบเกิดขึ้นอย่างมาก ล้วนทำลายความมั่นใจและความต้องของผู้ต้องการหาซื้อ สิ่งเหล่านี้จะผลักดันทำให้ราคาของวัตถุมงคล จตุคาม รามเทพ ลดลงมา ตามกลไกของตลาด

ซึ่งหากเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นจริง ผู้เขียนรู้สึกกังวล กับคำกล่าวที่ว่า “มึงมีกู ไม่มีจน” หรือการตั้งชื่อวัตถุมงคล จตุคาม รุ่นต่างๆ เช่น รุ่นเงินไหลมาเทมา รุ่นโคตรเศรษฐี ปีมหามงคล คำกล่าวเหล่านั้นคงจะเป็นจริงแน่นอน สำหรับพ่อค้าและผู้ที่ทำธุรกิจในการปล่อยเช่าวัตถุมงคลเหล่านั้นได้ ที่ในเวลานี้ ไม่รู้ว่ารวยกันไปเท่าไหร่แล้ว แต่สำหรับชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ ถ้าต้องเสียเงินซื้อวัตถุมงคล เป็นหลักหมื่น หลักแสน เลยไปจนถึงหลักล้าน ทั้งๆที่รู้อยู่ว่า ราคาสูงเกินจริงไปมาก อีกทั้งยังต้องมาเสี่ยงกับของจริงหรือของปลอมอีก คงจะจนลงแน่ๆครับ

ภายใต้ยุคเศรษฐกิจพอเพียง ที่ตัวเลขประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจปรับลดลงแทบทุกเดือน แถมราคาน้ำมันกลับเพิ่มขึ้นจนเกือบจะ 30 บาทอยู่แล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะต้องกลับมาคิดทบทวนว่าเพราะเหตุใด สังคมในวันนี้จึงอ่อนแอ และให้ความสำคัญแก่วัตถุมงคลจนมากเกินพอดี การแสวงหาวัตถุมงคล แล้วต้องเสียเงินเป็นจำนวนมาก จะส่งผลดีต่อชีวิตและก่อให้เกิดความสุขที่แท้จริง มันเป็นอย่างนั้นจริงแท้แน่หรือ?

* “มึงมีกู ไม่มีจน” ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 พ.ค. 2550