Thursday, December 4, 2008

ปัญหาการเลือกที่ผิด กับอนาคตตลาดการเมืองไทย*

ปัญหาการเลือกที่ผิด หรือ Adverse selection problem เป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญทางเศรษฐศาสตร์ ที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมของข้อมูลข่าวสาร (Asymmetric information) ระหว่างกัน ตัวอย่างที่นิยมถูกนำมาใช้ในการแสดงถึงปัญหาการเลือกที่ผิด ได้แก่ ตลาดซื้อขายรถมือสอง ตลาดประกันภัย เป็นต้น

เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ผมขอยกตัวอย่างปัญหาการเลือกที่ผิดในตลาดซื้อขายรถมือสอง หรือ the market for lemons (ในที่นี้ lemon cars มีความหมายถึงรถที่มีคุณภาพไม่ดี) ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลคือท่าน George A. Akerlof เป็นผู้เขียนวิเคราะห์ไว้ในปี ค.ศ. 1970

ปกติแล้วในตลาดซื้อขายรถมืองสอง จะมีผู้ขายรถที่มีคุณภาพดีและรถที่มีคุณภาพไม่ดีอยู่ด้วยกัน โดยผู้ขายรถจะเป็นผู้ที่มีข้อมูลที่แท้จริงของรถคันนั้นว่า เป็นรถที่มีคุณภาพดีหรือไม่ หากเป็นรถที่มีคุณภาพไม่ดี ผู้ขายก็จะพยายามปกปิดข้อมูลเหล่านี้ไม่ให้ผู้ซื้อรู้ เพื่อที่จะสามารถขายรถได้ในราคาที่สูง ดังนั้นผู้ซื้อไม่สามารถทราบได้เลยจากผู้ขายว่า รถคันนั้นมีคุณภาพอย่างไร กว่าจะรู้ว่ารถดีหรือไม่ดี คงต้องรอจนกว่าจะตัดสินใจซื้อไปแล้ว หากซื้อแล้วได้รถดีก็ดีไป แต่ถ้าซื้อแล้วได้รถไม่ดีก็คงแย่

ผู้ซื้อจึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการซื้อรถที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งความเสี่ยงนี้เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อมีความเสี่ยงที่ผู้ซื้อรถต้องเผชิญเกิดขึ้น ผู้ซื้อรถจึงจำเป็นที่จะต้องให้ราคาซื้อ ภายใต้ความเสี่ยงที่อาจเป็นได้ เช่น หากรถมีคุณภาพดี รถคันนั้นอาจมีมูลค่าถึง 100,000 บาท แต่ถ้าหากเป็นรถที่มีคุณภาพไม่ดี รถอาจมีมูลค่าเหลือเพียง 40,000 บาท แต่เนื่องจากผู้ซื้อรถไม่ทราบว่ารถที่จะซื้อเป็นรถดีหรือไม่ สมมติว่ามีโอกาส 50-50 ว่าจะเป็นรถที่มีคุณภาพดีหรือคุณภาพไม่ดี ผู้ซื้อรถอาจเสนอซื้อรถคันนั้นในราคาเพียง 60,000 บาท (ราคาที่อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างราคารถคุณภาพดีกับรถคุณภาพไม่ดี)

ราคาที่เสนอซื้อเป็นเช่นนี้ ผู้ขายรถที่มีคุณภาพดีก็ย่อมไม่อยากขายในราคาดังกล่าว เพราะเขาทราบดีว่ามูลค่ารถที่แท้จริงควรอยู่สูงกว่าราคาที่เสนอซื้อนั้น แต่ในทางกลับกัน สำหรับผู้ขายรถที่คุณภาพไม่ดี เมื่อราคาที่เสนอซื้อสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ผู้ขายย่อมยินดีที่จะขายรถของตน ดังนั้นจะสังเกตได้ว่า ภายใต้ลักษณะของตลาดที่ข้อมูลข่าวสารมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย สุดท้ายก็จะเหลือแต่รถคุณภาพไม่ดีเท่านั้นที่รอถูกขายอยู่ในตลาด

หากลองนำหลักการข้างต้นของปัญหาการเลือกที่ผิด มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ถึงอนาคตของตลาดการเมืองไทยก็สามารถทำได้ ตลาดการเมืองไทยประกอบไปด้วยผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ขายหรือนักการเมือง (เช่นเดียวกันกับผู้ขายรถมือสองในตัวอย่างข้างต้น) เป็นผู้เสนอตัวเข้ามาทำงานเพื่อประเทศ ซึ่งนักการเมืองก็มีทั้งนักการเมืองน้ำดี (ผู้ขายรถที่มีคุณภาพดี) กับนักการเมืองน้ำไม่ดี (ผู้ขายรถที่มีคุณภาพไม่ดี) อยู่ในตลาด สำหรับผู้ซื้อในตลาดนี้ก็คือ ประชาชน ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งทำหน้าที่ตัดสินเลือกนักการเมืองเข้ามา

สถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่ว่าสุดท้ายจะลงเอยในลักษณะไหน (รัฐประหาร รัฐบาลลาออก ยุบสภา หรืออื่นๆ) เราสามารถคาดการณ์ แบบฟันธง หรือ แบบ confirm ไปเลยว่า ปัญหาการเมืองไทยคงยังไม่จบสิ้น ตราบที่ผู้คนในสังคมไทย ยังแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นนี้ ดังนั้นโอกาสที่รัฐบาลปัจจุบัน หรือรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะมาจากไหน จะสามารถอยู่บริหารประเทศอย่างได้ต่อเนื่องคงไม่ใช่เรื่องง่าย

ภายใต้ความเสี่ยงทางการเมืองที่สูง สังคม (หรือผู้ซื้อรถ) มองนักการเมืองในมุมลบ และให้มูลค่าต่ำ (เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครดี ใครไม่ดี และต่างรู้สึกเบื่อหน่าย หมดหวังกับการเมืองไทย) นักการเมืองน้ำดี ผู้มีต้นทุนทางสังคมสูง ก็คงไม่อยากอยู่ในตลาดการเมืองนี้ และคงทะยอยเดินออกไปจากตลาด ในขณะที่นักการเมืองน้ำดีที่ยังอยู่นอกตลาด ก็ยิ่งไม่อยากเข้ามาแปะเปื้อน

สุดท้ายอนาคตของตลาดการเมืองไทย อาจไม่เหลือนักการเมืองน้ำดี ที่สังคมสามารถฝากความหวังให้เลือกมากนัก จะเหลือเพียงแต่นักการเมืองน้ำไม่ดี ที่คิดแต่ประโยชน์ตนเอง ไม่มีต้นทุนทางสังคม ตกตะกรัน เกาะก้นเป็นตะกอนหนักเท่านั้น

แต่ไม่แน่ครับ หากถึงวันที่ตลาดการเมืองไทยเหลือแต่เพียงนักการเมืองน้ำไม่ดี และบรรดาพวกตะกอนหนักจริงๆ วันนั้นสังคมไทยคงไม่สามารถยอมรับตลาดแบบนี้ได้ วันนั้นอาจมีผู้กล้า ที่จะเข้ามาเทน้ำเน่าเสียและพวกตะกอนหนักที่เหลืออยู่เหล่านี้ทิ้งไป เพื่อประเทศไทยจะได้มีโอกาสตักน้ำใหม่ขึ้นมาก็เป็นได้

* "ปัญหาการเลือกที่ผิด กับอนาคตตลาดการเมืองไทย" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 ธ.ค. 2551