Wednesday, March 12, 2008

จากประเทศแอฟริกาใต้ สู่การเมืองไทย*

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ร่วมกับคณะเดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้เพื่อไปสัมภาษณ์หน่วยงานราชการ รวมถึงภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อหาช่องทางการขยายตลาดของผู้ประกอบการ SME ไทย จากการพบปะพูดคุยกับคนแอฟริกาใต้หลายท่าน ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆที่น่าสนใจมากมาย โดยมีหลายเรื่องที่ทำให้ผมอดสะท้อนคิดถึงเมืองไทยไม่ได้ ทั้งนี้ผมขออนุญาตเล่าพอเป็นสังเขปดังนี้

ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่อยู่ตอนใต้สุดของทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ทางธรรมชาติที่มีมูลค่ามาก เช่น ทอง เพชร แพลตินัม อยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจัยทางธรรมชาติเหล่านี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศแอฟริกาใต้มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น การที่ประเทศแอฟริกาใต้เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ซึ่งในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมนั้น การบริหารประเทศตกอยู่ในน้ำมือของคนผิวขาว ซึ่งต้องยอมรับว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่แข็งแกร่งหลายอย่างที่ยังมีในปัจจุบัน เกิดจากการวางรากฐานที่ดีโดยคนผิวขาวที่เข้ามาปกครองในอดีต

การปกครองประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำจากคนผิวขาวที่เป็นคนกลุ่มน้อย ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงและยาวนานจากคนท้องถิ่น หรือเจ้าของประเทศเดิมที่เป็นคนผิวดำ การต่อสู้เรียกร้องเอกราชเป็นไปอย่างยาวนาน จนท้ายที่สุดประเทศก็ได้รับเอกราช นอกจากนี้ผู้นำในการเรียกร้องเอกราชชาวแอฟริกาใต้ ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาสันติภาพ มากถึง 4 ท่านด้วยกัน นับตั้งแต่อาจารย์ Albert Lutuli ในปี ค.ศ. 1960 จนถึง อดีตประธานาธิบดี Nelson Mandela ในปี ค.ศ. 1993

ปี ค.ศ. 1994 นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศ ได้มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกที่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองของคนผิวดำเข้ามาแข่งขัน ผลการเลือกตั้งที่ออกมา พรรค African National Congress (ANC) ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี Nelson Mandela ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของคนผิวดำชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ทั้งนี้เป็นเพราะสัดส่วนของประชากรผิวขาวกับผิวดำมีความแตกต่างกันมาก โดยมีเพียงประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดที่เป็นคนผิวขาว ดังนั้นโอกาสต่อไปในอนาคตที่พรรคการเมืองของคนผิวขาวจะสามารถกลับมาบริหารประเทศไทยได้อีกครั้ง เรียกได้ว่าแทบจะเป็นศูนย์เลยทีเดียว

การเข้ามาบริหารประเทศของคนผิวดำ ดำเนินนโยบายชัดเจนที่จะสนับสนุนและผลักดันให้คนผิวดำเข้ามามีอำนาจในหน่วยงานต่างๆของภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งระดับสูงของประเทศ เช่น ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งในระดับสูงของหน่วยงานราชการต่างๆ

ตัวผมเอง จากการที่เข้าไปติดต่อพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงานของแอฟริกาใต้พบว่า ปัจจุบันผู้บริหารในหน่วยงานต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นคนผิวดำ โดยอาจมีคนผิวขาวอยู่บ้าง แต่เป็นจำนวนน้อยมากและส่วนใหญ่เป็นระดับอาวุโสที่ใกล้จะเกษียณอายุกันหมดแล้ว ซึ่งภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้บริหารประเทศเกือบทั้งหมดคงจะมีแต่เพียงคนผิวสีดำเท่านั้น

ปัญหาสำคัญที่ประเทศแอฟริกาใต้กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ (นอกเหนือจากปัญหาโรคเอดส์) คือความแตกต่างทางด้านการศึกษาระหว่างกลุ่มคนผิวขาวและคนผิวดำ ปัญหานี้ถูกสะสมมานานมานับตั้งแต่อดีต โดยในช่วงที่คนผิวขาวปกครองประเทศที่มีการแบ่งแยกสีผิวอย่างชัดเจน คนผิวดำส่วนใหญ่ไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาที่ดี เฉกเช่นเดียวกับคนผิวขาว ดังนั้นเมื่อวันที่พรรคการเมืองของคนผิวดำชนะการเลือกตั้งเข้ามา ทรัพยากรบุคคลในส่วนของคนผิวดำที่มีความรู้และความสามารถที่ดีเพื่อเข้ามาบริหารประเทศจึงมีค่อนข้างจำกัด

ดังนั้นคนผิวดำที่เข้ามาปกครองประเทศในขณะนี้ หลายๆ คน จึงไม่มีความรู้หรือความสามารถในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง บุคคลเหล่านี้ได้รับโอกาสเข้ามาบริหารประเทศที่มีความเจริญมั่นคั่งสะสมมาจากอดีต หากเปรียบเป็นสำนวนไทย คงไม่แคล้วกับสำนวนไทยที่ว่า “สามล้อถูกหวย”

ตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีสาธารณสุขของแอฟริกาใต้ในปัจจุบันคือ ดร. Manto Tshabalala-Msimang ซึ่งนับว่ามีบทบาทสูงในประเทศแอฟริกาใต้ที่มีปัญหาโรคเอดส์อย่างรุนแรง โดนมีประชาชนเกิน 5 ล้านคนมีเชื้อ HIVs อยู่ในปัจจุบัน ดร. Manto เคยออกมาพูดว่า โรคเอดส์สามารถรักษาให้หายได้ โดยการใช้กระเทียม มะนาว และบีทรู้ท (Beetroot) ในการรักษา เช่นเดียวกัน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของแอฟริการใต้คือ Thabo Mbeki ก็เคยถูกโจมตีอย่างหนังในช่วงปี ค.ศ. 2001 ที่ออกมาพูดว่าปัญหาโรคเอดส์ไม่ได้เกิดจากเชื้อ HIVs แต่เกิดจากความยากจน ดังนั้นหากแก้ปัญหาความยากจนได้ ปัญหาโรคเอดส์ก็จะหมดไป
ความคิดเหล่านี้ได้แสดงถึงความรู้ และความใจปัญหาของผู้นำประเทศ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อคนระดับผู้นำประเทศมีความคิดอย่างนี้ได้ คนแอฟริกาใต้จำนวนมากจึงไม่ได้เกรงกลัวหรือตระหนักถึงปัญหาโรคเอดส์ที่เกิดขึ้นเท่าที่ควร ทั้งที่ในปัจจุบันได้คร่าชีวิตคนแอฟริกาใต้เกือบวันละ 1,000 คน

สำหรับในปีหน้าที่จะมาถึง จะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นที่แอฟริกาใต้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ หากผู้นำพรรค African National Congress (ANC) ในปัจจุบันคือ นาย Jacob Zuma จะถูกคาดหมายให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจาก ประธานาธิบดี Thabo Mbeki ที่ใกล้จะครบวาระ แต่ทั้งนี้นาย Jacob Zuma เอง ก็มีปัญหาติดตัวมาหลายเรื่องที่ในปัจจุบันอยู่ในชั้นการฟ้องร้อง ดำเนินคดีในศาล เช่น
นาย Jacob Zuma เคยถูกกล่าวและฟ้องร้องว่า ได้ข่มขืนเพื่อนของครอบครัว (ต่อมาภายหลัง คดีได้ถูกยกฟ้อง) ซึ่งนาย Jacob ได้กล่าวในศาลว่า ตนเคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ที่ติดเชื้อ AIDs แต่ไม่ได้มีการป้องกันแต่อย่างใด โดยเขาเชื่อว่า การอาบน้ำก็สามารถป้องกันโรคเอดส์ได้แล้ว นอกจากนี้ นาย Jacob ก็กำลังโดนฟ้องร้องในเรื่องของการรับสินบน และปัญหาการคอร์รับชั่น ดังนั้นในปีหน้า เมื่อนาย Jacob ได้รับการรับเลือกเป็นประธานาธิบดี ก็จะเป็นประธานาธิบดีผู้ที่มีข้อครหาเรื่องคอร์รับชั่นติดตัวมาด้วย

หากลองเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้และในประเทศไทยในเวลานี้ แม้นว่าทั้งสองประเทศจะอยู่ไกลกันคนละทวีปของโลก แต่กลับมีหลายเรื่องที่คล้ายๆ กันอยู่จนน่าประหลาดใจ เช่น พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น จากกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ยังมีปัญหาความยากจนและปัญหาการศึกษาอยู่ หรือ กลุ่มคนที่เข้ามาบริหารประเทศในปัจจุบัน หลายคนๆ ขาดความรู้ หรือประสบการณ์ในหน้าที่การบริหารงานในเรื่องเหล่านั้นจริง หรือ การมีผู้นำประเทศที่มาพร้อมข้อกล่าวหาติดตัวมาด้วย โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาคอร์รับชั่น

* "จากประเทศแอฟริกาใต้ สู่การเมืองไทย" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 12 มี.ค. 2551