Wednesday, October 15, 2008

ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลก กับการใช้นโยบายทางการเงินที่ถูกต้อง*

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนทิ้งท้ายว่า ด้วยแนวคิดของนาย เบน เบอร์นันเก ที่ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการใช้นโยบายการเงินในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลก เราคงไม่แปลกใจที่จะเห็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผู้นี้ จะใช้นโยบายทางการเงินอย่างรวดเร็ว ในการเข้าไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ลุกลามและขยายตัวรุนแรงจนเกิด The Great Depression ครั้งที่ 2

ในวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% จาก 2% มาเป็น 1.5% ซึ่งยืนยันให้เห็นถึงการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน (โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบสถาบันการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนครับ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงของธนาคารกลางสหรัฐฯในสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราจะเห็นในปีนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่า หากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถคลี่คลายไปได้ในเร็ววัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจตัดสินใจดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก จนมาเหลือ 0% ก็เป็นได้

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังได้ตัดสินใจเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยภาคเอกชนในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิด The Great Depression ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เข้าแทรกแซงในตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชนโดยตรง เพื่อเร่งอัดฉีดสภาพคล่องและเพิ่มความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหภาพยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่างแสดงอย่างชัดเจนที่ใช้นโยบายทางการเงิน ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ที่ได้ลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งย่อมแสดงให้เราเห็นถึงสภาพความร้ายแรงของปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลกที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน

แม้นว่านโยบายทางการเงินจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่จะช่วยโลกให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์ครั้งนี้ไปได้ แต่การใช้นโยบายทางการเงินให้ถูกต้องและเหมาะสมนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งไปกว่านั้น ผลของมาตรการทางการเงิน ที่ผ่านกลไกของอัตราดอกเบี้ยนั้น อาจมีความล่าช้าและต้องใช้เวลานานนับปีกว่าที่จะเห็นผลได้

บ่อยครั้ง การใช้นโยบายทางการเงินอย่างรุนแรงจนเกินไป กลับส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจและนำพาประเทศไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน (ปรับลดอัตราดอกเบี้ย) ที่มากเกินความจำเป็น โดยมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงในระยะยาว ดังที่เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1968 หรือ แม้นแต่การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด (ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย) เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ อาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ดังที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1974

คงไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ที่ผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน หรือ ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ จะสามารถใช้นโยบายทางการเงินได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งแม้นแต่ Milton Friedman ผู้นำกลุ่มเศรษฐศาสตร์สำนักการเงิน ยังเคยเสนอให้ยกเลิกอำนาจในการตัดสินใจกำหนดนโยบายทางการเงิน โดยผู้มีอำนาจในธนาคารกลางสหรัฐฯ และเสนอให้นำระบบกลไกควบคุมอัตโนมัติ (Automatic Stabilizer) โดยผ่านกลไกของอัตราดอกเบี้ย มาใช้ในการกำหนดปริมาณในระบบที่เหมาะสม เพื่อมิให้ผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจผิดพลาด และใช้นโยบายที่รุนแรงจน หรือ ผิดช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ ความคิดดังกล่าวของ Milton Friedman ยังคงไม่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน นโยบายทางการเงินทั่วโลกส่วนใหญ่ ยังถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจในธนาคารกลางของประเทศต่างๆ

ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลก พยายามดิ้นรน ต่อสู้ทุกหนทางด้วยมาตรการต่างๆ ที่รุนแรง (ซึ่งอาจนำโลกไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อได้ในระยะยาว) การเตรียมประเทศให้พร้อม รวมถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างถูกต้องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้ไปได้ เพราะประเทศไทยเปรียบเสมือนดั่งลำคลองเล็กๆ สายหนึ่ง ที่แม้นจะเคยได้รับการขุดลอกมาเป็นอย่างดี (ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง) แต่เมื่อลำคลองสายนี้ยังคงต้องเชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลัก (เศรษฐกิจโลก) อยู่ หากแม่น้ำสายหลักเกิดปัญหาน้ำหลากจนท่วมล้นอย่างรุนแรง ลำคลองสายเล็กๆ อย่างประเทศไทยจะสามารถรอดพ้นไปได้อย่างไร หากปราศจากการเตรียมพร้อมที่เหมาะสมและถูกต้อง

* "ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินโลก กับการใช้นโยบายทางการเงินที่ถูกต้อง" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 15 ต.ค. 2551

Wednesday, October 8, 2008

The Great Depression ในมุมมองของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ*

เหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้มีการนำไปเปรียบเทียบกับวิกฤติการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1929-1939 ที่เริ่มต้นจากประเทศสหรัฐฯ และลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก วิกฤติการณ์ในครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “The Great Depression”

เพื่อให้เห็นภาพถึงความรุนแรงของ The Great Depression ที่เกิดขึ้นนั้น ในช่วงแรกระหว่างปี ค.ศ. 1929-1933 นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายเป็นอย่างมาก ภาคการผลิตของสหรัฐฯ หดตัวกว่าหนึ่งในสาม และอัตราการว่างานเพิ่มขึ้นจากอัตราร้อยละ 3 มาเป็นอัตราร้อยละ 25 (เมื่อเปรียบเทียบกับในปัจจุบัน อยู่ที่อัตราร้อยละ 6) นอกจากนี้สำหรับผู้ที่มีงานทำ ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงงานชั่วคราวที่ได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เมื่อดูภาพยนต์หรือภาพถ่ายของผู้คนในยุคนั้น บ่อยครั้งเราจะคุ้นตากันดีกับภาพที่ผู้คนชาวสหรัฐฯ สวมชุดสูท ยืนต่อแถวยาวเหยียดเพียงเพื่อรอรับแจกเศษขนมปังและซุป

แม้นว่าต้นเหตุที่แท้จริงของการเกิด The Great Depression ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในกลุ่มของนักเศรษฐศาสตร์ ได้มีการแบ่งแยกคำอธิบายถึงสาเหตุออกเป็นหลายกลุ่มความคิดด้วยกัน โดยหนึ่งในกลุ่มความคิดที่ผมขออนุญาตกล่าวถึงในวันนี้ คือ กลุ่มเศรษฐศาสตร์สำนักการเงิน (Monetarist) ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกอย่าง Milton Friedman (นักเศรษฐศาสตร์ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 1976) เป็นผู้นำ โดยนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มนี้ เชื่อว่าต้นเหตุที่นำไปสู่วิกฤติการณ์เศรษฐกิจในครั้งนั้น เกิดจากความผิดพลาดในการใช้นโยบายการเงิน รวมถึงการใช้ระบบมาตรฐานทองคำในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่างๆ ในช่วงเวลาขณะนั้น

แนวความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มนี้ ได้รับการยอมรับจาก นายเบน เบอร์นันเก (Ben Bernanke) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นอย่างดี แต่ที่สำคัญแนวคิดของนาย นายเบน เบอร์นันเก ที่มีต่อปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในอดีต เป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผู้นี้ เป็นหนึ่งในสองของผู้กุมบังเหียนที่จะชี้ชะตาสหรัฐ ว่าจะสามารถผ่านพ้นปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไปได้หรือไม่ (ผู้กุมบังเหียนอีกท่านหนึ่งคือรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นาย Henry Paulson)

นายเบน เบอร์นันเก ได้กล่าวบรรยายถึงวิกฤติการณ์ The Great Depression หลายครั้งหลายคราว ทั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2002 ที่มหาวิทยาลัย University of Chicago ในรัฐชิคาโก และในวันที่ 2 มีนาคม 2004 ที่มหาลัย Washington and Lee University ในรัฐเวอร์จีเนีย ซึ่งมีใจความสำคัญที่ผมขอคัดมาเฉพาะบางส่วน มากล่าวถึงดังนี้

นายเบน เบอร์นักเก ได้ยอมรับถึงความคิดของ Milton Friedman ที่เขียนร่วมกับ Anna J. Schwartz ในหนังสือ A Monetary History of the United States 1867-1960 ว่าเป็นงานที่มีอิทธิพลต่อเขาเป็นอย่างมาก โดยวิกฤติการณ์ The Great Depression ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและยาวนาน เกิดจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผิดพลาดในอดีต

โดยในช่วงแรกก่อนเกิดวิกฤติการณ์ ระหว่างปี ค.ศ. 1928-1929 ธนาคารกลางสหรัฐ ฯ ได้ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด (นำไปสู่การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย) ในการจัดการกับการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ แต่การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจนเกินไป กลับส่งผลทำให้ราคาสินค้าลดต่ำลงเนื่องจากกำลังซื้อที่หดตัวลง ซึ่งเพิ่มความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อมาไม่นาน ในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 1929 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ตกลงอย่างรุนแรง (เป็นที่รู้จักกันในภายหลังว่า Black Tuesday) ซึ่งถูกอ้างอิงว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ The Great Depression นั่นเอง

เหตุการณ์ต่อมาที่แสดงถึงความผิดพลาดของการใช้นโยบายทางการเงิน เกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ถึงตุลาคม 1931 ภายหลังจากการเข้าไปเก็งกำไรค่าเงินปอนด์ของอังกฤษสำเร็จ (คล้ายๆ กับที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทย) ค่าเงินในยุคสมัยนั้นผูกติดกับระบบมาตรฐานทองคำในการแลกเปลี่ยน นักเก็งกำไรหันเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาแลกเปลี่ยนกับทองคำเป็นจำนวนมาก ซึ่งลดความมั่นคงของธนาคารสหรัฐฯ และส่งผลให้ความเชื่อมั่นที่ผู้คนมีต่อสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ลดต่ำลง

เมื่อขาดความเชื่อมั่น ผู้คนต่างแห่กันไปถอนเงินกันมากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้สถาบันทางการเงินของสหรัฐฯ ต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก ธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะนั้น แทนที่จะรีบเข้าไปควบคุมสถาบันการเงินที่มีปัญหา เพื่อไม่ให้ความตื่นตระหนกขยายตัวออกไปเป็นวงกว้าง แต่กลับใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด เพื่อหวังจะรักษาเงินฝากไว้ซึ่งไม่เป็นผล ในขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็กลับมาทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้แย่ลงไปกว่าเดิม

ในตอนท้ายของการบรรยาย นายเบน เบอร์นันเก ได้กล่าวยอมรับในนามของตัวแทนธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่า สำหรับวิกฤติการณ์ The Great Depression ที่เกิดขึ้นนั้น สิ่งที่ Milton Friedman และ Anna J. Schwartz ได้กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นต้นตอที่ทำให้ปัญหาวิกฤติการณ์ในครั้งนั้นรุนแรงและยาวนาน นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทั้งนี้ ความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นนั้น จะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีก:

“I would like to say to Milton and Anna: Regarding the Great Depression. You're right, we did it. We're very sorry. But thanks to you, we won't do it again.”

ด้วยแนวความคิดดังกล่าวของนายเบน เบอร์นันเก รวมถึงการออกมายอมรับต่อความผิดพลาดทางด้านนโยบายทางการเงินที่เกิดขึ้นในอดีต จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ เราจะเห็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผู้นี้ ใช้นโยบายทางการเงินอย่างรวดเร็ว ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ลุกลามและขยายตัวรุนแรงจนเกิด The Great Depression ครั้งที่ 2

* "The Great Depression ในมุมมองของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 8 ต.ค. 2551