Wednesday, January 7, 2009

ฤาสหรัฐอเมริกากำลังติดกับดักสภาพคล่อง? (Liquidity trap in the U.S.?)*

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศปรับลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Fed funds rate) ลงจากเดิมที่ 1.00 % เหลือ 0.25 % และปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount rate) ลงจากเดิมที่ 1.25 % เหลือ 0.50 % การปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ลงจนเกือบเป็น 0% ในครั้งนี้ ได้มีนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์หลายท่านได้นำไปเปรียบเทียบกับวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1990 ถึง ค.ศ. 2005 โดยครั้งนั้นธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% เพื่อมุ่งหวังที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถดถอยที่ยืดเยื้อและยาวนาน แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่ง รวมถึง นายพอล ครุกแมน (Paul Krugman) นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐฯ ผู้ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีที่ผ่านมา ได้วิเคราะห์ปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นว่า เป็นปัญหากับดักสภาพคล่อง (Liquidity trap)

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้พูดถึงปัญหากับดักสภาพคล่องเป็นท่านแรกๆ ได้แก่ นาย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ซึ่งได้กล่าวถึงปัญหานี้ไว้ว่า เกิดจากการมีเงินออมส่วนเกิน (Excess saving) เกิดขึ้นในระบบ โดยในภาวะปกติ เงินออมที่เก็บสะสมไว้ ธนาคารจะนำมาปล่อยกู้ หรือที่เรียกว่า เงินลงทุน โดยทำงานผ่านกลไกของอัตราดอกเบี้ยในการปรับเข้าหาจุดสมดุล หรือจุดดุลยภาพ ซึ่ง ณ จุดนั้น ปริมาณเงินออมจะเท่ากับปริมาณเงินลงทุน ตัวอย่างเช่น ในภาวะที่มีเงินออมส่วนเกินเกิดขึ้น อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการกู้ยืมเงินไปลงทุนมากขึ้น ในที่สุดปริมาณเงินออมก็จะกลับมาเท่ากับปริมาณเงินลงทุน

สาเหตุที่อาจทำให้ความต้องการเงินลงทุนมีน้อยกว่าปริมาณเงินออมในระบบ ได้แก่ ความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของนักลงทุน ที่ทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนในโครงการต่างๆ แม้นว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำเป็นศูนย์แล้วก็ตาม เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนอาจติดลบก็เป็นได้ และที่สำคัญเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเกือบเป็นศูนย์แล้ว การปรับเข้าสู่จุดดุลยภาพผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงทำให้เกิดเงินออมส่วนเกิน หรือสภาพคล่องคงเหลือเกิดขึ้น และถูกเรียกว่ากับดักสภาพคล่อง

นาย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้อธิบายว่า หากแม้นว่ากลไกอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่จุดดุลยภาพยังเกิดขึ้นได้ผ่านภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซี่งทำให้รายได้ของคนในประเทศลดลง และส่งผลให้เงินออมในระบบลดลงด้วย สุดท้ายเงินออมก็จะกลับมาเท่ากับเงินลงทุนอีกครั้ง

แต่การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยลงจนเกือบเป็น 0% แล้วในครั้งนี้ มิได้หมายความว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ทิ้งไพ่ตายใบสุดท้ายออกไปแล้ว หรือใช้นโยบายทางการเงินอย่างถึงที่สุด ตามที่หลายท่านเข้าใจ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาจนเกือบเป็น 0% เป็นเพียงอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงิน (Nominal interest rate) เท่านั้น แต่ไม่ใช้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) เพราะอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงิน จะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อ (หรือ Nominal interest rate = Real interest rate + Inflation) หากมีการคาดการณ์ถึงการถดถอยลดลงของราคาสินทรัพย์ และทำให้เกิดการคาดการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ แม้นว่าอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงินจะเป็นศูนย์ แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังมีค่าเป็นบวกได้

นายพอล ครุกแมน ได้กล่าวหลายครั้งหลายคราว ถึงปัญหากับดักสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น (รวมทั้งที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ) ว่าเกิดจากการใช้นโยบายการเงินที่ไม่พอเพียง แม้นว่าอัตราดอกเบี้ยจะเป็นศูนย์แล้วก็ตาม สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหา นายพอล ครุกแมนได้แนะนำว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นควรกำหนดนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนที่มีความต่อเนื่องในระยะยาว ที่สำคัญต้องทำให้นักลงทุนเชื่อว่าภาวะเงินเฟ้อกำลังจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงนั้นมีค่าติดลบ และจูงใจให้เกิดการลงทุนขึ้นได้

ข้อคิดเห็นดังกล่าวของนายพอล ครุกแมน สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของนายโรเบิรต์ อี ลูคัส จูเนียร์ (Robert E. Lucas, Jr.) นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐอีกท่านหนึ่ง ที่ได้รับรางวัลโนเบิลทางเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 1995 ซึ่งกล่าวแสดงความชื่นชมต่อการใช้นโยบายทางการเงินที่ผ่านมาของนายเบน เบอร์นันเก (Ben Bernanke) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผ่านทางหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ในวันที่ 23 ธันวาคม 2551 และยังแสดงข้อคิดเห็นว่า แม้นว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยจะเกือบเป็นศูนย์แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังสามารถใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินได้ โดยการเข้าไปซื้อ-ขายตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้นกู้จากภาคเอกชนโดยตรง เป็นต้น

การทำงานที่ผ่านมาของนายเบน เบอร์นันเก ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า นโยบายทางการเงินเป็นเครื่องมือหลักของสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้ เราคงคาดหวังได้ที่จะเห็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ผู้นี้ ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนที่มีความเข้มข้นต่อไป ผ่านเครื่องมือทางการเงิน หรือนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ อย่างแน่นอน

*"ฤาอเมริกากำลังติดกับดักสภาพคล่อง?" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 7 ม.ค. 2552