Wednesday, February 4, 2009

นโยบายการคลัง กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?*

ภายในเวลาไม่ถึงเดือนที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ เราได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแล้วถึง 2 ชุดใหญ่ ในวันที่ 13 ม.ค.2552 รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 18 มาตรการ โดยเพิ่มงบประมาณกลางปี 115,000 ล้านบาท และถัดมาเพียง 1 สัปดาห์ ในวันที่ 20 ม.ค.2552 รัฐบาลอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง 7 มาตรการ ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 40,000 ล้านบาท รวมกันแล้วงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้สูงถึงประมาณ 155,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นการใช้นโยบายการคลังของภาครัฐ ที่มีทั้งมาตรการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ และใช้มาตรการภาษี โดยมีจุดมุ่งหมายในการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ หรือที่เรียกว่า Fiscal Stimulus แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ นโยบายการคลังที่ใช้ กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?

แนวคิดหรือทฤษฎีของการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจมีมาตั้งแต่อดีต นายจอห์น เมยนาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ได้เขียนหนังสือ The General Theory of Employment, Interest, and Money ในปี ค.ศ. 1936 ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐเกิดการถดถอยอย่างรุนแรง ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า The Great Depression โดย นายจอห์น เมยนาร์ด เคนส์ ชี้ว่า ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยที่ความต้องการบริโภคสินค้าโดยรวมลดลง ผู้คนลดการบริโภคและเก็บเงินมากขึ้น ผู้ผลิตเองก็จำเป็นต้องลดการลงทุนและการผลิตสินค้าลง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการเพิ่มความต้องการบริโภคสินค้าที่ขาดหายไปในตลาด ซึ่งเคนส์ได้แนะนำให้รัฐบาลใช้วิธีการเพิ่มรายจ่าย หรือแม้กระทั่งการลดภาษี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ทั้งนี้ ทฤษฎีของเคนส์กลับไม่สามารถผ่านด่านทดสอบที่สำคัญไปได้ ในช่วงปี ค.ศ. 1973 สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาวิกฤติการณ์น้ำมันอย่างรุนแรง ในเวลานั้นเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่สภาวะถดถอย พร้อมกับปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่า Stagflation ปรากฏการณ์ที่ไปด้วยกันระหว่างปัญหาเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ไม่สามารถอธิบายได้โดยทฤษฎีของเคนส์ นอกจากนี้การแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะยิ่งเพิ่มปัญหาเงินเฟ้อให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

แนวคิดหรือทฤษฎีของเคนส์จึงถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความล้มเหลว ในขณะเดียวกัน กลุ่มเศรษฐศาสตร์สำนักการเงิน (Monetarist School) ที่นำโดย Milton Friedman และกลุ่มเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกใหม่ (New Classical Economics) ที่นำโดย นาย Robert E. Lucas ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการอธิบายปรากฎการณ์เศรษฐกิจมหภาคที่เกิดขึ้น และเข้ามาแทนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมของเคนส์

เศรษฐศาสตร์จึงไม่ใช่ศาสตร์ที่ตายแล้วหรือหยุดนิ่งอยู่กับที่ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีทฤษฎีใหม่ที่สามารถใช้อธิบายปรากฎการณ์เศรษฐกิจต่างๆ ที่ทฤษฎีเก่าไม่สามารถอธิบายได้เกิดขึ้นเสมอ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มหภาคในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาจนไกลมากจากทฤษฎีดั้งเดิมที่เคนส์ได้นำเสนอ แต่น่าแปลกใจที่ทุกครั้งเมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้น รัฐบาล (ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย) กลับยึดแนวคิดหรือทฤษฎีดั้งเดิมของเคนส์ที่เชื่อว่า มาตรการการคลังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ทั้งๆ ที่ได้มีการพิสูจน์ในเชิงวิชาการมาแล้วถึงความล้มเหลวหลายครั้งหลายคราว ซึ่งท่านนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตท่านเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ คงทราบในเรื่องนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

แม้นว่าการใช้นโยบายการคลัง จะถูกคาดหวังจากรัฐบาลและจากสังคมว่า สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สังคมจำเป็นต้องระลึกเสมอว่า ในเวลาที่การเมืองยังขาดเสถียรภาพ อายุของรัฐบาลอาจไม่ยืนยาวนัก มาตรการต่างๆที่ออกมานั้น รัฐบาลในปัจจุบันคงไม่ทันอยู่รับผิดชอบต่อผลจากมาตรการที่ได้ทำไว้ การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายก็ต้องมีผู้จ่าย ซึ่งคงหนีไม่พ้นบรรดาประชาชน ตาดำๆ ที่ยังมีลมหายใจอยู่ในประเทศนี้

การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลอาจใช้การขายพันธบัตรเพื่อกู้ยืมเงินภายในหรือภายนอกประเทศ เพื่อยืมเงินในอนาคตมาใช้ก่อน แต่สุดท้ายเมื่อถึงเวลาก็ต้องชำระเงินคืนแก่เจ้าหนี้ รัฐบาลไม่ได้มีหนทางมากนักในการหารายได้เพิ่ม ท้ายที่สุดก็อาจกลับมาใช้วิธีการเพิ่มภาษีในอนาคต หรือหากไม่มีแหล่งเงินให้กู้ยืม ก็อาจจำเป็นต้องพิมพ์เงินขึ้นมาชำระหนี้ ซึ่งวิธีหลังจะส่งผลให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง เราคงไม่อยากเห็นประเทศไทยเป็นเหมือนกับประเทศซิมบับเวในเวลานี้ที่อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 231 ล้านเปอร์เซ็นต์

ในวันนี้ ประชาชนบางท่านอาจดีใจที่ได้รับเงินพิเศษหรือเงินให้เปล่า ที่เรียกว่า Helicopter Money หรือ แม้นกระทั่งได้รับบริการต่างๆ จากภาครัฐเพิ่มขึ้น แต่หากในอนาคต ประชาชนจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อมาจ่ายคืนแก่เงินหรืองบประมาณที่รัฐบาลได้ใช้ในครั้งนี้ เราคงต้องกลับมาถามตัวเองว่า เงินที่ได้เพิ่มมาในวันนี้ จะทำให้ท่านใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจนเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่ ตรงนี้คงเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “นโยบายการคลัง กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?”

*"นโยบายการคลัง กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือ?" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 4 ก.พ. 2552