Wednesday, May 6, 2009

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ กับระดับหนี้สาธารณะของประเทศ*

ปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐบาลโดยเฉพาะของประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แสดงถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งการใช้นโยบายทางการเงินและนโยบายการคลังอย่างเต็มที่ เพื่อมิให้กลับไปซ้ำรอยกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1930 (หรือที่ถูกเรียกว่า The Great Depression) ซึ่งเป็นไปอย่างยืดเยื้อและยาวนาน

สำหรับนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้ใช้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนเหลือเพียงร้อยละ 0.5 หรือต่ำกว่า ซึ่งแทบไม่เหลือให้ปรับลดได้อีกในอนาคต จึงนับว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับในช่วง The Great Depression ที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาในช่วงสองปีแรกที่เกิดวิกฤตการณ์ ยังอยู่ในระดับสูงที่ประมาณร้อยละ 4 ถึง 6 ซึ่งยังสามารถปรับลดลงได้อีกมาก

เมื่อเครื่องมือทางการเงินที่เหลืออยู่ในปัจจุบันถูกจำกัดลง รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงหันมาใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะในส่วนของการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย จากการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ออกมาจาก IMF เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในรายงานมุมมองเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ที่มีเนื้อหาหลักในเรื่องวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และการฟื้นตัว (Crisis and Recovery) ในส่วนของการคาดการณ์สถานะดุลการคลังของประเทศต่างๆ พบว่า ดุลงบประมาณของรัฐบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉลี่ย กำลังขาดดุลถึงประมาณร้อยละ 9 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีดุลงบประมาณขาดดุลเพียงประมาณร้อยละ 4 ของ GDP

เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่ระดับประมาณร้อยละ 75 ของ GDP ในปีที่ผ่านมา จะพุ่งสูงขึ้นจนเกือบถึงร้อยละ 110 ของ GDP ในปี 2014 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา สัดส่วนหนี้สาธารณะยังสามารถรักษาระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ไว้ได้

การคาดการณ์ของ IMF ในรายงานฉบับนี้ เป็นการคาดการณ์ภายใต้สมมติฐานแบบปกติ ที่ไม่นับรวมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น หากปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในครั้งนี้ เป็นไปอย่างยืดเยื้ออย่างยาวนาน หรือ หากอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น เป็นต้น โดยในรายงานของ IMF ที่ออกมาก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม ได้นำปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มารวมในการวิเคราะห์ ผลที่ได้พบว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่ม G20 อาจสูงถึงร้อยละ 140 ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูง และควรถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด

หากนำสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 มาเปรียบเทียบกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต พบว่า ในช่วง the Great Depression สัดส่วนหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19 ในปี ค.ศ. 1929 จนถึงประมาณร้อยละ 40 ในช่วงระหว่างปี 1933-38 นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกายังเคยขึ้นสูงถึงร้อยละ 121 ในปี ค.ศ. 1946 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 พึ่งสิ้นสุดลง ผลที่พบชี้ให้เห็นว่า

1. สหรัฐอเมริกา ได้เริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในครั้งนี้ โดยใช้นโยบายการคลัง (และนโยบายการเงิน) มากขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับที่เคยใช้ในช่วง the Great Depression

2. สหรัฐอเมริกายังมีโอกาสในการใช้นโยบายการคลังได้อีกมาก เมื่อพิจารณาระหว่างสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับระดับสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิลในปีที่ผ่านมาอย่าง นายพอล ครุกแมน (Paul Krugman) ได้กล่าวตอกย้ำถึงประเด็นนี้ในการบรรยายพิเศษที่มหาวิทยาลัย Princeton เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา

แต่ทั้งนี้ เมื่อประเทศต่างๆ มีขีดความสามารถในการชำระหนี้ (ทั้งหนี้สาธารณะและหนี้เอกชน) ที่แตกต่างกัน ประเทศไทยก็ไม่สามารถยึดแนวทาง (ระดับหนี้สาธารณะ) เดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาได้ หากประเทศมีระดับหนี้สาธารณะมากจนเกินไป ก็อาจนำไปสู่ปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหม่ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับหลายๆ ประเทศ สำหรับบทความถัดไป ผู้เขียนจะนำเสนอบทเรียนในอดีตที่เคยเกิดขึ้น และประเด็นต่างๆ ทางเศรษฐศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศ

แผนภาพ: สถานะการคลังและหนี้สาธารณะและการคาดการณ์
(หน่วย: ร้อยละของ GDP)



ที่มา: IMF World Economic Outlook, April-2009

*"วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ กับระดับหนี้สาธารณะของประเทศ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 6 พ.ค. 2552