Monday, December 6, 2010

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาและที่ยังไม่ผ่านพ้น*

ในบทความที่แล้ว(*) ผมได้กล่าวถึง Impossible trinity ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งคือการเลือกสามประการที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งที่ประกอบไปด้วย หนึ่ง การเลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed exchange rates) สอง การยินยอมให้เงินทุนระหว่างประเทศไหลเข้าออกได้อย่างเสรี (Capital mobility) และ สาม การมีนโยบายทางการเงินอย่างเป็นอิสระของตนเอง (Monetary autonomy) (นักศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ อาจลองพิสูจน์ถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้โดยใช้แบบจำลอง Mundell-Fleming)

ประเทศไทยในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ยินยอมให้เงื่อนไขทั้งสามประการเกิดขึ้นพร้อมกัน ทั้งการดำเนินระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ การยินยอมให้เงินทุนไหลเข้า-ออกอย่างเป็นอิสระ และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเป็นอิสระ เนื่องจากเป็นสามเงื่อนไขที่มีความขัดแย้งในตัวเอง หากเมื่อใดที่อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไทยที่ถูกกำหนดโดยนัยได้ยึดกับค่าเงินสกุลดอลลาร์เป็นหลัก มีความแตกต่างอย่างมากจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ควรเป็น ย่อมไม่ใช่เรื่องยากที่นักเก็งกำไรค่าเงินจะเห็นโอกาสและเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท ที่แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามเข้าไปแทรกแซงหรือปกป้องค่าเงินเพียงใด ก็ไม่มีทางที่จะฝืนกลไกของตลาดได้ ในเวลานั้นประเทศไทยได้สูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาทในเวลาต่อมา และการเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งในเวลานั้นได้สนับสนุนแนวทางการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว

ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน กลับเลือกทางเดินที่แตกต่างจากประเทศไทย โดยได้ตัดสินใจหันหลังให้กับ IMF และใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้าย (Capita control) ในการปกป้องการเข้ามาของนักเก็งกำไร ซึ่งในเวลานั้นนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยว่าอาจเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด เพราะการใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายน่าจะส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจมาเลเซียอย่างรุนแรงจากการไม่ไหลกลับของเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่งานวิจัยที่ได้ศึกษาเรื่องนี้ต่อมาในภายหลัง เช่น งานศึกษาของ IMF ในปี ค.ศ. 2006(**) กลับไม่พบว่า การใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายของมาเลเซียในขณะนั้นได้ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพบว่า มีระดับใกล้เคียงกับประเทศที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆ (ซึ่งรวมถึงประเทศไทย) อันเป็นผลพวงมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งของประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้นข้อกังวลที่นักเศรษฐศาสตร์เคยมีถึงผลลบจากการเลือกดำเนินนโยบายควบคุมทุนเคลื่อนย้าย จึงได้เบาบางลงมากในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน โลกในยุคปัจจุบันซึ่งอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกันอย่างมาก เราได้พบเห็นปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจโลก (Global imbalance) ที่เกิดขึ้นในด้านการค้าและการเงินระหว่างประเทศ และความล้มเหลวของการรวมตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกิดในกลุ่มประเทศสมาชิก Eurozone ที่ใช้เงินสกุลเงินร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งเรายังได้เห็นถึงการกลับมาครั้งยิ่งใหญ่ของเคนส์ (Keynesian) จากการดำเนินนโยบายทางการคลังอย่างเต็มที่ของรัฐบาลทั้งในประเทศยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็กต่างๆ โดยเฉพาะการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐเพื่อหวังกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งอาจกลายเป็นภาระหรือปัญหาทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ดังเช่นที่ได้เป็นสาเหตุของวิกฤต (หนี้) เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้วในสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นการใช้นโยบายทางการเงินที่ไม่ใช่ลักษณะปกติ (Unconventional monetary policy) ของประเทศยักษ์ใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายหลักที่ไม่ใช่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ (Inflation targeting) เหมือนปกติ แต่กลับมีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การออกมาตรการผ่อนปรนทางการเงิน (Quantitative easing) ของสหรัฐอเมริกา โดยการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อกดดันให้อัตราดอกเบี้ยทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวต่ำลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น

สำรับการออกมาตรการการผ่อนปรนทางการเงินครั้งที่ 2 ที่กำลังออกมาของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อัตราอัตราดอกเบี้ยของประเทศอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับศูนย์แล้ว หากไม่มีผลต่อการเพิ่มการลงทุนของนักลงทุน (เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว) ก็อาจส่งผลต่อความวิตกกังวลในเรื่องเงินเฟ้อ และอาจทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อไปอีก ผลของนโยบายตรงนี้อาจเป็นความต้องการอีกอย่างหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าที่มีอย่างยืดเยื้อและยาวนานก็เป็นได้

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือไม่ใช่เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนอย่างเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งรวมถึงประเทศญี่ปุ่น ก็กำลังพิจารณาใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนระลอกใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินที่กำลังแข็งค่าขึ้น เพื่อเป็นการตอบโต้ระหว่างกัน และอาจนำไปสู่สงครามต่อสู้ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่าสงครามค่าเงิน (Currency wars) นั่นเอง

หมายเหตุ
สำหรับตอนที่สองของบทความนี้ ผู้อ่านสามารถติดตามได้ในหนังสือพิมพ์ โพสท์ ทู เดย์ ฉบับวันจันทร์ที่ 3 มกราคม 2554

อ้างอิง:
* http://sasatra.blogspot.com/2010/10/blog-post.html
** Simon Johnson, Kalpana Kochhar, Todd Mitton, and Natalia Tamirisa, 2006, “Malaysian Capital Controls: Macroeconomics and Institutions,” IMF Working paper WP/06/51.

*"วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาและที่ยังไม่ผ่านพ้น" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 6 ธ.ค. 2553

Monday, October 11, 2010

วิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรป กับ การเลือกสามประการที่ไม่ควรเกิดขึ้น*

ที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความต่อเนื่องที่ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (International economic integration) ของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่ม Eurozone ที่มีการใช้นโยบายทางการเงินและสกุลเงินร่วมกัน แต่กลับล้มเหลวในการบังคับให้ประเทศสมาชิกดำเนินการรักษาพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงฐานะทางการคลังให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่ตั้งไว้ และได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญของการวิกฤติหนี้ภาคยุโรป

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อปี ค.ศ. 2000 Prof. Dani Rodrik อาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เขียนบทความวิชาการชิ้นหนึ่งที่มีความน่าสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ โดย Prof. Dani Rodrik ได้เขียนถึง Political trilemma of the world economy หรือ การเลือกสามประการที่เป็นไปไม่ได้ (หรือที่นำไปสู่ปัญหา) ซึ่งไม่ใช่ Impossible trinity ที่นักเศรษฐศาสตร์คุ้นเคยเป็นอย่างดีในการอธิบายถึงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย (โดย Impossible trinity ได้กล่าวถึงการเลือกสามประการที่ไม่ควรเกิดพร้อมกัน จาก หนึ่ง การเลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed exchange rates) สอง การยินยอมให้เงินทุนระหว่างประเทศไหลเข้าออกได้อย่างเสรี (Capital mobility) และ สาม การมีนโยบายทางการเงินอย่างเป็นอิสระของตนเอง (Monetary autonomy) ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายทั้งสามประการพร้อมกัน และนำไปสู่การถูกโจมตีค่าเงินบาท สุดท้ายรัฐบาลจึงตัดสินใจที่จะสละการเลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ในขณะที่ยังยินยอมให้เงินทุนไหลเข้าออกได้อย่างเสรีและการมีนโยบายทางการเงินของตนเอง)

การเลือกสามประการที่ Prof. Dani Rodrik ได้เขียนอธิบายซึ่งสามารถเลือกสูงสุดได้เพียง 2 จาก 3 ประการ คือ หนึ่ง การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ (Integrated national economies) เช่น การรวมกลุ่มเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป สอง การมีอำนาจที่เป็นอิสระของตนเอง โดยแต่ละประเทศมีอธิปไตยในการออกนโยบายของตนเองซึ่งอาจมีผลต่อตลาดได้ (Nation state) และ สาม การมีสถาบันหรือระบบการเมืองร่วมกันในระดับสากล (Mass politics) หรือสหพันธรัฐ เช่น การจัดตั้งสหภาพยุโรปที่ไม่ได้จำกัดประเทศที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก และมีความคล่องตัว รวมถึงสามารถตอบสนองต่อกลุ่มต่างๆ ได้ดี แต่ทั้งนี้นโยบายที่ออกมาจะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคหรือต้นทุนทางการค้าและการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างกัน รวมทั้งส่งเสริมให้กลไกต่างๆ ของตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากยุโรปเลือกการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ประเทศสมาชิกจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการยินยอมให้แต่ละประเทศมีอธิปไตยของตนเองในการกำหนดนโยบายได้อย่างเป็นอิสระ แต่เป็นนโยบายที่เอื้อต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หรือ การมีสถาบันหรือระบบการเมืองของสหภาพยุโรปที่เข้ามาดูแลกำหนดนโยบายของประเทศสมาชิก แต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น (แม้ว่าจะเลือกการมีสถาบันหรือระบบการเมืองของสหภาพยุโรปในการกำหนดนโยบาย ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปยังสามารถมีรัฐบาลของตนเองได้ เพียงแต่ไม่สามารถออกนโยบายที่มีผลให้ต่อกลไกตลาดโดยรวมได้) แต่เนื่องจากสหภาพยุโรปไม่ตัดสินใจเลือกเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง และปล่อยให้เงื่อนไขทั้งสามประการดำเนินไปพร้อมกัน ทั้งการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งการยินยอมให้แต่ประเทศมีอำนาจอธิปไตยในการออกนโยบายของตนเอง โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทางการคลังได้อย่างเกือบไม่มีข้อจำกัด และ ทั้งการมีรัฐบาลกลางของสหภาพยุโรป เช่น สภายุโรป คณะรัฐมนตรียุโรป คณะกรรมมาธิการยุโรป และธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปเข้ามาดูแลกำหนดนโยบายทางการเงินของประเทศสมาชิก การเลือกสามประการให้ดำเนินไปพร้อมกัน จึงได้นำพาประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม PIIGS เดินไปสู่ปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐในครั้งนี้

สำหรับอนาคตของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้ คงจะถึงเวลาแล้วที่สหภาพยุโรปจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกให้ชัดเจน โดยหากยังต้องการรักษาไว้ซึ่งการใช้นโยบายการเงิน รวมถึงการใช้สกุลเงินร่วมกัน สหภาพยุโรปจำเป็นต้องจำกัดความมีอธิปไตยของแต่ละประเทศสมาชิกในการกำหนดนโยบายของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางด้านการคลัง หรือหากสหภาพยุโรปต้องการรักษาอธิปไตยในการออกนโยบายของแต่ละประเทศสมาชิกให้คงอยู่ สหภาพยุโรปจำเป็นต้องสละการใช้สกุลเงินและนโยบายทางการเงินร่วมกัน มิฉะนั้นแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปคงจะกลับมาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปที่เกิดขึ้นจึงเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าแก่ผู้กำหนดนโยบายของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในการเรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่เกิดขึ้น เพื่อให้การก้าวเดินไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic community) ของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นไปได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต

การเลือกสามประการที่เป็นไปไม่ได้



อ้างอิงจาก
Rodrik, Dani, 2000, “How Far will International Economic Integration Go?” Journal of Economic Perspectives, Vol. 14, pp. 177-186.

*"วิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรป กับ การเลือกสามประการที่ไม่ควรเกิดขึ้น"ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 11 ต.ค. 2553

Monday, August 2, 2010

วิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรป สู่การอ่อนค่าของเงินสกุลยูโร*

ในบทความที่แล้ว (วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม (1)) เราได้เห็นถึงสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งของวิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรปในครั้งนี้ที่มาจากการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐอย่างรุนแรง รวมถึงความล้มเหลวของสหภาพยุโรปในการควบคุมให้แต่ละประเทศสมาชิกในกลุ่ม Eurozone รักษาฐานะทางการคลังตามที่กำหนดใน Maastricht convergence criteria ไว้ได้ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุสำคัญที่มาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศอย่างรุนแรง ซึ่งผู้เขียนจะขอกล่าวต่อไปในบทความนี้

ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current account) หมายถึง ผลรวมสุทธิของดุลการค้า ดุลบริการ ดุลรายได้และเงินโอน หากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากกว่ามูลค่าการส่งออกที่ได้ ประเทศก็จะขาดดุลการค้าและทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ซึ่งจะมีผลให้เกิดการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ ในกรณีของประเทศกรีซและโปรตุเกสระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP สูงถึงร้อยละ 11.2 และ 10.3 ตามลำดับ แต่ทั้งนี้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดดุลการค้า) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแต่เพียงอย่างเดียว จึงไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่เพียงพอจะทำให้ประเทศเกิดวิฤตเศรษฐกิจขึ้นมาได้

เงื่อนไขประกอบที่สำคัญในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ได้แก่ การที่ประเทศในกลุ่มที่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ หรือกลุ่ม PIIGS ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศโปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน สูญเสียความเป็นอิสระของอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากได้เปลี่ยนไปใช้สกุลเงินอียูร่วมกัน ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรุนแรง จึงไม่สามารถแก้ไขโดยการลดค่าเงินของแต่ละประเทศลง เพื่อกระตุ้นให้การส่งออกสินค้าดีขึ้นและนำเข้าสินค้าน้อยลง ซึ่งจะช่วยแก้ไขหรือลดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศให้น้อยลงได้

เมื่อประเทศเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ประเทศจำเป็นต้องรักษาสมดุลทางบัญชีของประเทศด้วยการเกินดุลบัญชีทุน (Capital account) (การเกินดุลบัญชีทุนหมายถึง เงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศเพื่อการลงทุนหรือกู้ยืมมีมากกว่าที่ไหลออกจากประเทศ) เพื่อชดเชยการขาดดุลบัญเดินสะพัดที่เกิดขึ้น หากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมีมากกว่าการเกินดุลบัญชีทุน ก็จะนำไปสู่การขาดดุลการชำระเงิน (Balance of payment) ซึ่งจะต้องใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ในการชดเชยการขาดดุลการชำระเงินที่เกิดขึ้น

ในกรณีของประเทศกรีซ การไหลออกของเงินตราต่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ถูกชดเชยด้วยการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศที่มาจากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังที่ได้กล่าวแล้วในบทความที่ผ่านมา การเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ Eurozone ได้เพิ่มความเชื่อถือให้กับประเทศสมาชิก ประเทศกรีซสามารถกู้ยืมเงินจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมากและด้วยอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรเป็นโดยปกติ ซึ่งไม่สะท้อนความเสี่ยงของการกู้ยืมเงินที่เกิดขึ้นหรือความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศได้อย่างเหมาะสม

อีกทั้งการที่ประเทศกรีซหรือประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม PIIGS ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน การแก้ไขปัญหาด้วยมือที่มองไม่เห็น (Invisible hand) ผ่านกลไกการทำงานของอัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่สามารถเป็นไปได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากค่าเงินสกุลยูโรไม่เพียงถูกกำหนดจากปัจจัยของประเทศในกลุ่ม PIIGS แต่ยังถูกกำหนดจากประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก อย่างเช่น เยอรมันนี และฝรั่งเศษ ซึ่งมีพื้นฐานหรือความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจแตกต่างกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ของกลุ่ม Eurozone เป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า มือที่มองไม่เห็นจะไม่ทำงาน ในทางกลับกัน มือที่มองไม่เห็นกำลังทำงานอย่างเต็มที่ในการผลักให้ค่าเงินสกุลยูโรอ่อนค่าลง โดยค่าเงินสกุลยูโรได้อ่อนค่าลงมาจากประมาณ 1.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งยูโร หรือประมาณ 50 บาทต่อหนึ่งยูโร เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา จนมาเหลือไม่ถึง 1.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งยูโร หรือประมาณ 42 บาทต่อหนึ่งยูโรในปัจจุบัน

นักวิชาการหลายท่านได้คาดการณ์ว่า ค่าเงินสกุลยูโรมีแนวโน้มจะกลับไปสู่ระดับที่ประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งยูโร หากเป็นเช่นนั้นจริงย่อมแสดงว่า ค่าเงินสกุลยูโรยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอีกมากกว่าร้อยละ 20 เลยทีเดียว ดังนั้นหากถามว่าผลกระทบจากวิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรปที่มีต่อประเทศไทยนั้นจะมากน้อยเพียงใด แม้ดูเหมือนว่าผลกระทบโดยตรงของวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปที่มีต่อประเทศไทยจะไม่มากนัก เพราะประเทศไทยมีความสัมพันธทางเศรษฐกิจที่ห่างกับประเทศในกลุ่ม PIIGS อยู่มาก แต่ถ้าพิจารณาถึงค่าเงินสกุลยูโรที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกมาก ประเทศในกลุ่ม Eurozone หรือในสหภาพยุโรป มีปริมาณการค้ารวมกับประเทศไทยอยู่ค่อนข้างมาก (สหภาพยุโรปนับเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของประเทศไทย เมื่อพิจารณามูลค่าการค้ารวมของประเทศ) ตรงจุดนี้เองที่น่าเป็นห่วงว่า ผลกระทบของวิกฤตหนี้ยุโรปที่มีต่อภาคเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะต่อภาคการส่งออกของประเทศ อาจรุนแรงกว่าที่นักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายท่านเคยได้ออกมาคาดการณ์ไว้

อ้างอิงได้จาก
(1) http://sasatra.blogspot.com/2010/07/blog-post.html

*"วิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรป สู่การอ่อนค่าของเงินสกุลยูโร" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 2 ส.ค. 2553

Monday, July 5, 2010

วิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรป*

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999 ทั่วโลกต่างตื่นเต้นและจับจ้องกับการที่ 11 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้รวมกลุ่ม (Integration) ทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า Eurozone (ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มเป็น 16 ประเทศ) โดยมีการใช้นโยบายทางการเงินและสกุลเงินร่วมกัน นั่นคือ สกุลเงินยูโร ในตอนนั้นนักวิชาการหลายท่านต่างสงสัยว่าการรวมกลุ่ม Eurozone อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเนื่องจากแต่ละประเทศมีความแตกต่างอย่างมากในพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่ม Eurozone ซึ่งหมายถึง การสูญเสียความเป็นอิสระของนโยบายทางการเงิน โดยธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (European Central Bank) จะเป็นผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยของทั้งกลุ่มประเทศ Eurozone

เพื่อให้พื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความใกล้เคียงกัน สหภาพยุโรปจึงได้ออกข้อกำหนดเพื่อให้แต่ประเทศที่สนใจจะเข้ามาเป็นสมาชิกของ Eurozone ได้ปรับให้มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคใกล้เคียงกันก่อน โดยข้อกำหนดดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Maastricht convergence criteria ซึ่งมีข้อกำหนดทั้งในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ สถานะทางการคลัง อัตราดอกเบี้ย รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน

ในส่วนของข้อกำหนดทางการคลัง ถึงแม้ว่าประเทศสมาชิก Eurozone จะมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายทางการคลังเป็นของตนเอง แต่สหภาพยุโรปได้กำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิก จะต้องมีระดับการขาดดุลงบประมาณ ไม่เกินร้อยละ 3 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ หรือ GDP และระดับหนี้ของประเทศจะต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และเพื่อให้การบังคับใช้ข้อกำหนด Maastricht เป็นไปได้อย่างจริงจัง ในปี ค.ศ. 1997 สหภาพยุโรปได้ออกข้อตกลง Stability and Growth Pact (SGP) เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับ โดยกำหนดบทลงโทษหากประเทศสมาชิกไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อตกลงที่ตั้งไว้ ซึ่งอาจถูกปรับได้สูงถึง 0.5% ของ GDP

ข้อกำหนดทางการคลังที่ถูกกำหนดไว้ดังกล่าวได้ถูกวิพากย์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม บ้างว่าเป็นข้อกำหนดที่ไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ และมีความหละหลวมในการบังคับใช้ ซึ่งประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ใน Eurozone ถูกพบว่า ไม่ได้ดำเนินการรักษาสถานะทางการคลังให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ตั้งไว้ เช่น ในปีที่แล้ว ประเทศในกลุ่มที่เกิดวิกฤติหนี้ภาครัฐ หรือที่เรียกว่า PIIGS ซึ่งประกอบไปด้วย โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน มีการขาดดุลงบประมาณสูงถึงร้อยละ 7.7, 14.7, 4.5, 14.5, และ7.2 ของ GDP ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าข้อกำหนดที่ตั้งไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 3 ของ GDP ที่แย่ไปกว่านั้น ประเทศกรีซ ถูกพบว่ามีการตกแต่งดุลบัญชีของประเทศเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปได้กำหนดไว้ ก่อนที่จะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกประเทศ Eurozone ได้ในปี ค.ศ. 2001

เมื่อการบังคับใช้ข้อกำหนดของ Eurozone เป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ หลายๆ ประเทศจึงไม่ได้มีการรักษาวินัยทางการคลังอย่างที่ควรจะเป็น ตัวอย่างเช่น การขาดดุลงบประมาณเป็นอย่างมากของประเทศกรีซ เกิดจากการใช้จ่ายอย่างเกินตัวของภาครัฐ รายจ่ายภาครัฐของประเทศกรีซคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 50 ของ GDP ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก โดยส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยและไม่มีประสิทธิภาพ ที่มาจากโครงการประชานิยมที่ออกมาอย่างมากมาย ระบบประกันสังคมที่เป็นไปอย่างเกินตัว นอกจากนี้ รายได้ของรัฐที่จัดเก็บได้จริงต่ำกว่าที่ตั้งไว้ในตอนจัดทำงบประมาณเป็นอย่างมาก ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้ประเทศกรีซเกิดการขาดดุลงบประมาณอย่างมาก และได้กลายเป็นคำถามต่อไปในอนาคตว่า การรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยยินยอมให้รัฐบาลของแต่ประเทศจัดทำงบประมาณได้ด้วยตนเอง งบประมาณที่จัดทำขึ้นมานั้นจะมีความน่าเชื่อถือเพียงใดและจะสร้างปัญหาต่อไปหรือไม่? เพราะรัฐบาลอาจมีแรงจูงใจในการจัดทำงบประมาณที่มีการประมาณการรายรับให้สูงกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อสามารถเพิ่มงบประมาณรายจ่ายภาครัฐให้สูงขึ้นก็เป็นได้

เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายรับที่ภาครัฐจัดเก็บได้ ปัญหาหนี้ภาครัฐจึงเกิดขึ้น ในกลุ่มประเทศ PIIGS หนี้ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ (กว่า 80%) เป็นประเทศในสหภาพยุโรป ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศษ และ เยอรมันนี การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศอย่างมากมายนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้นโยบายทางการเงินร่วมกันของประเทศในกลุ่ม Eurozone ด้วยความเชื่อมั่นในพื้นฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Eurozone อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดโดยธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (ECB) จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่หากประเทศในกลุ่ม PIIGS มีนโยบายทางการเงินที่เป็นอิสระและเป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยด้วยตนเอง

เมื่อกลไกการทำงานผ่านทางอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ถูกทำงานอย่างเหมาะสม ในการแสดงถึงความเสี่ยงในการกู้ยืมเงินหรือความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละประเทศได้ ประเทศในกลุ่ม PIIGS จึงสามารถกู้ยืมเงินจากต่างประเทศได้อย่างเกินตัว และได้กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ระดับหนี้ภาครัฐของประเทศในกลุ่ม PIIGS สูงจนอยู่ในระดับที่อาจมีปัญหาในการชำระหนี้ได้ ในกรณีของประเทศกรีซ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศจาก AA- ในปี ค.ศ. 2008 เหลือเพียง BB+ ในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ S&P ประเมินว่าเจ้าหนี้อาจจะได้รับการชำระหนี้เพียง 30-50% ของเงินต้น

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ความล้มเหลวในการควบคุมให้แต่ละประเทศสมาชิกในกลุ่ม Eurozone รักษาฐานะทางการคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิดวิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรปในครั้งนี้ บทความถัดไปของผู้เขียน (ในวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม) จะเป็นการนำเสนอสาเหตุสำคัญอื่นๆ รวมถึงผลกระทบจากวิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรปที่จะมีต่อประเทศไทย

*"วิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรป" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 5 ก.ค. 2553

Monday, June 7, 2010

การตัดสินใจสลายม๊อบ ผลลัพธ์ของความสูญเสียตามทฤษฏีเกมส์*

การตัดสินใจสลายม๊อบโดยใช้กำลังทหารกดดันเข้ายึดพื้นที่ย่านราชประสงค์คืน แม้สุดท้ายรัฐบาลจะสามารถได้พื้นที่กลับคืนมาได้ แต่ไม่สามารถควบคุมไม่ให้ความสูญเสียเกิดขึ้น สถานที่ต่างๆ ที่สำคัญของรัฐหรือเอกชน ถูกเผาด้วยความโกรธแค้นจากฝ่ายผู้ชุมนุม และรัฐบาลจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวต่อเนื่องในกรุงเทพกับจังหวัดอื่นๆ 23 จังหวัด ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์เลวร้าย ที่ได้กลายเป็นบาดแผลของคนไทยทั้งประเทศ

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการเจรจาเกิดขึ้นมาบ้าง แต่การตัดสินใจที่ไม่ใช้กระบวนการเจรจาอย่างถึงที่สุดในช่วงวันที่ 19 พฤษภาคม ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ของความสูญเสียเกิดขึ้น ที่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่เชื่อใจระหว่างกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งสามารถอธิบายได้โดยทฤษฎีเกมส์ (Game theory) ในเหตุการณ์นี้ สมมติว่ามีสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ชุมนุม ต่างมีเป้าประสงค์หรือความต้องการที่แตกต่างกัน ทั้งสองฝ่ายต่างมีทางเลือกที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจา หรือไม่เข้าสู่กระบวนการเจรจา โดยผลลัพธ์ของการตัดสินใจที่จะเกิดขึ้น ไม่เพียงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เป็นไปได้มีด้วยกัน 4 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 หากทั้งสองฝ่ายมีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจาอย่างสันติวิธี ทั้งสองฝ่ายต่างก็จะได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเกิดจากการประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่าย ผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับในกรณีนี้ (สมมติมีค่าเท่ากับ ***) จะน้อยกว่าความต้องการที่แต่ละฝ่ายต้องการตั้งแต่แรก (สมมติมีค่าเท่ากับ ****) เช่น ต้องการให้รัฐบาลประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งในทันที เป็นต้น

กรณีที่ 2 และ 3 หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการเจรจา แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับไม่ต้องการเจรจาด้วย ฝ่ายที่ต้องการเจรจาจะเสียเปรียบ (สมมติประโยชน์ที่ได้มีค่าเท่ากับ *) เนื่องจากสังคมอาจมองฝ่ายรัฐบาลว่าอ่อนแอและไม่สามารถดูแลรักษากฎหมายของประเทศได้ หรือในทางกลับกันฝ่ายผู้ชุมนุมอาจสูญเสียมวลชนสนับสนุน ซึ่งในกรณีนี้ฝ่ายที่เลือกไม่เจรจาด้วยจะมีความได้เปรียบ และมีโอกาสที่จะบรรลุความตั้งใจที่วางไว้แต่แรก (สมมติมีค่าเท่ากับ ****)

กรณีที่ 4 หากทั้งสองฝ่ายต่างไม่ต้องการเจรจา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นความสูญเสียต่อทั้งสองฝ่าย (สมมติมีค่าเท่ากับ **) แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะน้อยกว่าในกรณีที่หากตกเป็นฝ่ายที่ต้องการเจรจาแต่ฝ่ายเดียว ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ต้องการเจรจา (กรณีที่ 2 และ 3)

ดังนั้นในเกมส์นี้ สามารถแสดงในรูปของตารางผลลัพธ์ได้ดังนี้


จากตารางผลลัพธ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า ถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมเลือกที่ใช้การเจรจา ฝ่ายรัฐบาลจะได้รับประโยชน์มากกว่าหากเลือกตัดสินใจไม่เจรจาด้วย (เช่น ยกเหตุผลของการทำหน้าที่รักษากฎหมาย) หรือ ถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมเลือกที่ไม่เจรจา การที่ฝ่ายรัฐบาลเลือกที่จะไม่เจรจาด้วย จะได้รับประโยชน์มากกว่าการเลือกที่จะเจรจากับฝ่ายผู้ชุมนุม ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายผู้ชุมนุมเลือกที่จะเจรจาหรือไม่ก็ตาม สำหรับฝ่ายรัฐบาลแล้ว การเลือกที่ไม่เจรจาย่อมให้ประโยชน์สูงกว่าการเลือกที่จะเจรจา ในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะเลือกที่ใช้การเจรจาหรือไม่ก็ตาม สำหรับฝ่ายผู้ชุมนุมแล้ว การเลือกที่ไม่เจรจาจะให้ประโยชน์มากกว่าการเลือกเจรจา

หากเราปล่อยกลไกการตัดสินใจให้ดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ การเลือกที่จะไม่เจรจาจากทั้งสองฝ่าย จะเป็นกลยุทธ์เด่น (Dominant strategy) (ซึ่งหมายถึงกลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะเลือกตัดสินใจแบบใดก็แล้วแต่) ที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนผลลัพธ์ที่ได้ในกรณี (มีค่าเท่ากับ **) จะแย่กว่าหากทั้งสองฝ่ายร่วมมือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจา (มีค่าเท่ากับ ***)

การที่ทั้งสองฝ่ายเลือกที่จะไม่เจรจาและได้ผลลัพธ์ที่แย่นั้น จึงเป็นผลลัพธ์ของความสูญเสียที่เป็นไปตามทฤษฎีของเกมส์ ที่เกิดขึ้นจากความไม่เชื่อใจที่มีต่อกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้มีความจริงใจที่จะใช้การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการเจรจาอย่างสันติวิธี ต่างฝ่ายจึงเลือกใช้วิธีการที่อาจไม่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา เพราะต่างฝ่ายอาจเลือกใช้กลยุทธเด่นที่ดีต่อตนเท่านั้น โดยไม่ได้พิจารณาทางเลือกที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือประเทศไทยโดยรวม

*"การตัดสินใจสลายม๊อบ ผลลัพธ์ของความสูญเสียตามทฤษฏีเกมส์" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 7 มิ.ย. 2553

Tuesday, May 11, 2010

บทเรียนจากโครงการ Empire Zones ของรัฐ นิว ยอร์ก*

ในปี ค.ศ. 1986 รัฐนิว ยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำโครงการพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Development Zone Program) ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ให้เกิดการจ้างงานใหม่ และรักษาการจ้างงานเดิมไว้ได้ โดยหน่วยธุรกิจทั้งเก่าและใหม่ที่ต้องการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย หากได้รับอนุมัติโครงการจากคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ จะได้รับการส่งเสริมและอุดหนุนจากภาครัฐในรูปแบบของมาตรการส่งเสริมทางด้านภาษี (Tax incentives) เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนหรือจ้างงานใหม่เกิดขึ้น

โครงการนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนต่อมาหลายครั้ง และถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการ “Empire Zones (EZs)” ในปี ค.ศ. 2000 โดยวัตถุประสงค์ของโครงการถูกปรับเปลี่ยนและขยายจากเดิม ที่การสนับสนุนให้เฉพาะโครงการภายในพื้นที่เป้าหมาย หรือ “Empire Zones” มาเป็นครอบคลุมโครงการทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ “Empire Zones” ที่หากได้รับการพิจารณาและอนุมัติว่า มีผลต่อการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในรูปของมูลค่าเม็ดเงินลงทุน หรือจำนวนการจ้างงานใหม่ที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างของมาตรการส่งเสริมทางด้านภาษีที่สำคัญของโครงการ Empire zones ได้แก่
• การให้เครดิตภาษีการลงทุน (Investment tax credit) ที่เกิดขึ้น ร้อยละ 10 ของมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (มีอายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป) สำหรับนิติบุคคล และ ร้อยละ 8 สำหรับบุคคลธรรมดา
• การให้เครดิตภาษีทุนในเขตพื้นที่ (Empire zone capital tax credit) คือการให้เครดิตภาษีคืนร้อยละ 25 ของภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการลงทุนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ
• การให้เครดิตหรือคืนภาษีการขาย (Sales tax credit/refund) สำหรับค่าใช้จ่ายทางด้านวัสดุก่อสร้างที่ถูกใช้ในการปรับปรุง ขยายโรงงาน และพื้นที่พาณิชย์

นอกจากนี้ หน่วยธุรกิจที่ผ่านคุณสมบัติ ยังสามารถขอสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอื่นๆ ได้แก่
• การคืนภาษีการขายบางส่วน สำหรับค่าใช้จ่ายทางด้านสินค้าและบริการทั้งหมด
• การให้เครดิตภาษีทรัพย์สิน (Property tax credit)

คงไม่ใช่เรื่องที่เหนือการคาดการณ์ หากมาตรการส่งเสริมการลงทุนทั้งการให้เครดิตภาษี หรือการคืนภาษีจากภาครัฐของโครงการ “Empire Zones” ที่เปิดกว้างให้แก่นักลงทุนทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ Empire zones สามารถขอรับการส่งเสริมจากภาครัฐ ซึ่งได้ก่อให้เกิดช่องโหว่ทางด้านภาษี (Tax loopholes) เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ได้ส่งผลให้ รัฐนิว ยอร์กต้องสูญเสียรายได้ภาษีของภาครัฐอย่างมหาศาลในแต่ละปี มากถึงกว่าปีละ 600 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลอย่างรุนแรงต่อทั้งสถานะและเสถียรภาพทางการคลังของรัฐนิว ยอร์ก

โครงการนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดถึงความคุ้มค่าของโครงการ ในแง่ของรายได้ภาษีที่ภาครัฐต้องสูญเสียไป เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงินลงทุนใหม่ หรือการจ้างงานใหม่ที่เกิดขึ้น ต่อมาโครงการนี้ได้ถูกประเมินว่าเป็นโครงการที่ล้มเหลว และดำเนินไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่คุ้มกับเงินภาษีที่ภาครัฐต้องสูญเสีย ซึ่งปัญหาของโครงการ Empire zones ที่สำคัญได้แก่(1)
1. เป้าหมายของโครงการถูกปรับเปลี่ยนและบิดเบือนไปจากเดิม จากที่มุ่งเฉพาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้ถูกขยายให้รวมไปถึงพื้นที่ที่อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
2. เป้าหมายของโครงการที่ได้รับการอนุมัติไม่ถูกวัดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงปัญหาความโปร่งใส และปัญหาการตรวจสอบดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ
3. หน่วยธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุน ไม่สามารถก่อให้เกิดการสร้างงานใหม่ หรือการลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามที่ได้ยื่นขออนุมัติไว้

การแก้ไขปัญหาของโครงการ รวมถึงช่องโหว่ทางด้านภาษีที่เกิดขึ้น เป็นไปอย่างล่าช้า สุดท้ายในปีที่ผ่านมา รัฐนิว ยอร์ก ได้ออกกำหนดเวลาในการยุติโครงการ ซึ่งจะเริ่มยุติในวันที่ 30 มิถุนายนของปีนี้ โดยเริ่มจากการหยุดรับหน่วยธุรกิจหรือนักลงทุนรายใหม่ที่ต้องการสมัครเข้าสู่โครงการ แต่สำหรับหน่วยธุรกิจหรือนักลงที่ได้รับอนุมัติก่อนหน้านี้ ยังสามารถได้รับสิทธิพิเศษต่อไปจนถึงวันสิ้นสุดโครงการตามที่ได้รับอนุมัติไว้

โครงการ Empire zones ในช่วงเริ่มแรก ที่มีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานในพื้นที่เป้าหมายที่ค่อนข้างแคบสามารถดำเนินการและควบคุมไปได้ด้วยดี แต่เมื่อวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ถูกปรับเปลี่ยนในภายหลัง (โดยปัจจัยทางการเมือง) ที่ให้การอุดหนุนเปิดกว้างกับนักลงทุนทั่วไป ทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งได้สร้างช่องโหว่ทางด้านภาษีเกิดขึ้น ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ล้มเหลว โครงการ Empire Zones จึงเป็นตัวอย่างและบทเรียนของผู้กำหนดนโยบายทั้งภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง และประเทศอื่นๆ (รวมถึงประเทศไทย) ในการจัดทำโครงการส่งเสริม/ช่วยเหลือการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ากับรายได้ภาษีที่ภาครัฐต้องสูญเสีย

อ้างอิงจาก
(1) Citizens Budget Commission, 2008, “It’s Time to End New York State’s Empire Zone Program” available at http://www.cbcny.org/Ending_Empire_Zones.pdf

*"บทเรียนจากโครงการ Empire Zones ของรัฐ นิว ยอร์ก" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 10 พ.ค. 2553

Monday, April 5, 2010

ปัญหาแม่น้ำโขงแห้งขอด กับแนวทางแก้ไขปัญหาในต่างแดน*

แม้ว่าฤดูร้อนจะพึ่งเริ่มต้นไปไม่นาน แต่ปัญหาภัยแล้งที่ปรากฎให้เห็นในปีนี้กลับรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาพลุ่มแม่น้ำโขงที่แห้งขอดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ที่มีการพึ่งพิงและผูกพันกับแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน สาเหตุของการที่แม่น้ำโขงแห้งขอดในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากปรากฎการณ์เอลนิโญ (El Nino) ที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติ อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าเกิดจากการที่ประเทศจีนได้สร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าและอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งเกิดขึ้น ซึ่งทางจีนได้ออกมาปฎิเสธอย่างทันควันกับข้อกล่าวหาดังกล่าวและชี้แจงว่าตนไม่ใช่สาเหตุหลักอย่างแน่นอน แต่ไม่ว่าจะเป็นไปเพราะสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ ปัญหาภัยแล้งในครั้งนี้ได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในระดับภูมิภาค ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

การใช้น้ำของประเทศหรือผู้ใช้น้ำที่อยู่บริเวณต้นแหล่งน้ำ ย่อมส่งผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของน้ำที่ไหลผ่านมายังประเทศหรือผู้ใช้น้ำที่อยู่ปลายแหล่งน้ำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยปัญหาน้ำแล้งจะรุนแรงในช่วงฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำที่อยู่ต้นแหล่งน้ำกับผู้ใช้ที่อยู่ปลายแหล่งน้ำ หรือบางคนนิยามว่า “Water war” (สงครามแย่งชิงการใช้แหล่งน้ำ) โดยปัญหาความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับภายในประเทศหรือในระดับภูมิภาค

ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการใช้น้ำไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนยุคคริสต์ศักราชจนถึงปัจจุบัน(1)และบางครั้งได้นำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงอย่างเช่น สงคราม แต่ส่วนใหญ่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยวิธีการเจรจา หรือความร่วมมือที่นำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เช่น การมีข้อตกลงร่วมว่าด้วยการใช้น้ำ (Water treaties) เป็นต้น

ผู้เขียนเองก็เคยมีส่วนร่วมในโครงการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยในช่วงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำตามแม่น้ำสาย Apalachicola-Chattahoochee-Flint ที่เชื่อมต่อในสามมลรัฐ Alabama Florida และ Georgia ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำ ลักษณะของปัญหาจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับปัญหาของการใช้แหล่งน้ำที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ (ซึ่งอาจรวมไปถึงในกรณีแม่น้ำโขง) ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจากต้นน้ำของแม่น้ำ Alapachicola แม่น้ำ Chattaoochee และแม่น้ำ Flint ก่อนไหลออกไปยังอ่าวเม็กซิโก มีปริมาณไม่เพียงพอต่อประชาชน และชาวเกษตรกร ที่อยู่ปลายน้ำที่ต้องการน้ำไปใช้เพื่อการบริโภคและการเกษตรกรรม ซึ่งแน่นอนประชากรที่อยู่ต้นน้ำย่อมไม่ประสบปัญหาเพราะสามารถดึงหรือทดน้ำเข้าไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้โดยง่าย ปัญหานี้ได้เกิดขึ้นมาอย่างยืดเยื้อและยาวนานนับสิบๆ ปี ซึ่งรัฐบาลในมลรัฐต่างๆ รวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลกลาง ได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด

การใช้น้ำของประชาชนและชาวเกษตกรที่อยู่ใกล้ต้นแหล่งน้ำ ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ การแก้ไขปัญหาที่ดีจึงไม่ควรเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชนที่อยู่ใกล้ต้นน้ำ หนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาที่ใช้หลักการและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่มลรัฐ Georgia ภายใต้การนำของผู้ว่าการรัฐ Roy Barnes ในขณะนั้นได้ดำเนินการ โดยในปี ค.ศ. 2000 ได้มีการออกกฎหมายฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า Flint River Drought Protection Act ที่มีสาระสำคัญคือ ณ วันที่ 1 มีนาคม ของทุกปี หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล จะประกาศล่วงหน้าว่าปีนั้นเป็นปีที่ประสบปัญหาภัยแล้งหรือไม่ ถ้าหากเป็นปีที่ประกาศว่าประสบภัยแล้ง ภาครัฐก็จะดำเนินการจัดการซื้อสิทธิการใช้แหล่งน้ำของชาวเกษตรกรในปีนั้น โดยวิธีการประมูลจากประชาชนหรือชาวเกษตรกรที่มีความประสงค์จะขายสิทธิการใช้น้ำ

ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดขนาดพื้นที่การเกษตรที่ต้องการซื้อสิทธิการใช้น้ำจากชาวเกษตรกร รวมถึงเป็นผู้ซื้อและจ่ายเงินแก่ชาวเกษตรกรที่ได้ตกลงขายสิทธิการใช้น้ำ ซึ่งชาวเกษตรกรเหล่านี้จะไม่มีสิทธิในการนำน้ำจากแหล่งน้ำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกในปีนั้น สำหรับการกำหนดราคาขายสิทธิการใช้น้ำนั้น ได้ใช้วิธีการประมูลเพื่อให้ราคาถูกกำหนดโดยระบบกลไกตลาด ซึ่งจะเป็นราคาที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยเกษตรกรจะเป็นผู้เสนอปริมาณพื้นที่ที่ต้องการจะขายและราคาที่ต้องการขายสิทธิการใช้น้ำในปีนั้น ในปี ค.ศ. 2001 มลรัฐ Georgia ได้ใช้งบประมาณในการเข้าไปซื้อสิทธิการใช้น้ำจากชาวเกษตกรรวมเป็นมูลค่า 10 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินที่ใช้ในส่วนนี้ได้มาจากค่าชดเชยแก่ชาวเกษตกรในการใช้แหล่งน้ำที่ได้รับจากอุตสาหกรรมยาสูปที่อยู่ปลายแหล่งน้ำ ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำในการเพาะปลูกเป็นปริมาณมาก

การซื้อสิทธิการใช้น้ำจากชาวเกษตรกร เป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาที่ใช้หลักการและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่มีความน่าสนใจและถูกนำมาใช้จริงในหลายๆ ประเทศ ถึงแม้ว่าการนำวิธีการนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขงแห้งขอดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อาจยังไม่เป็นที่กล่าวถึงหรือเกิดขึ้นได้ยาก แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับวิธีการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่อาจเป็นได้ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม การสร้างเขื่อน (จะเกิดอะไรขึ้น หากทุกประเทศคิดและทำในลักษณะเดียวกัน?) เป็นต้น แนวทางการซื้อสิทธิการใช้น้ำโดยตรงจากชาวเกษตรกร จะมีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำกว่าและสามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างตรงจุด ซึ่งคงเป็นเรื่องดีถ้าหากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission, MRC) จะสนใจศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการนำวิธีการนี้มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งอย่างจริงจังต่อไปในอนาคต

อ้างอิง
(1) ลำดับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำที่มีมานับแต่อดีต สามารถดูได้จาก www.worldwater.org

*"ปัญหาแม่น้ำโขงแห้งขอด กับแนวทางแก้ไขปัญหาในต่างแดน" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 5 เม.ย. 2553

Wednesday, January 6, 2010

ต้อนรับปีใหม่ กับ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2553*

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2553 นี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้แทนที่ พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และ พ.ร.บ. ภาษีบำรุงท้องที่ ถ้าหากผ่านคณะรัฐมนตรีไปได้ ในขั้นตอนถัดไป จะเป็นการนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นประเด็นร้อนประจำปีนี้ เนื่องจากจะมีกลุ่มผู้ที่เสียประโยชน์ (โดยเฉพาะกลุ่มคนรวยที่เคยเสียภาษีในระดับต่ำ) ออกมาคัดค้านอย่างแน่นอน

หนึ่งในวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการปฎิรูประบบภาษีที่ดินในครั้งนี้คือ เพื่อเพิ่มรายได้ในการจัดเก็บภาษีแก่ภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่สนับสนุน ได้แก่ เพื่อแก้ไขปัญหาหรือข้อบกพร่องของภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่มีมา และขัดต่อหลักการของระบบภาษีที่ดี ทั้งนี้หลักการของระบบภาษีที่ดีตามหลักเศรษฐศาสตร์การคลัง ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ระบบภาษีที่ดี ควรส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม (Equity) โดยผู้ที่มีความสามารถในการชำระภาษีที่สูง (ซึ่งอาจวัดจากความมั่งคั่ง หรือจากการถือครองที่ดินและทรัพย์สิน) ควรเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีความสามารถในการชำระภาษีที่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นไปตามหลักการของ Ability to pay principle นอกจากนี้ หากพิจารณาจากการใช้ประโยชน์จากการให้บริการของภาครัฐ เช่น การใช้ถนน การดูแลให้ความปลอดภัย ผู้ที่มีพื้นที่ดินมากย่อมได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ที่มีพื้นที่ดินน้อยกว่า ดังนั้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นไปตามหลักการของการจ่ายตามประโยชน์ที่ได้รับ (Benefit principle) อีกด้วย

2. ระบบภาษีที่ดี ควรมีประสิทธิภาพ (Efficiency) โดยไม่ก่อให้เกิดการบิดเบือนพฤติกรรม (Distortion) หรือเกิดขึ้นในระดับต่ำ นั่นคือ พฤติกรรมของมนุษย์ไม่ควรเปลี่ยนแปลงระหว่างในกรณีที่มีและในกรณีที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีเกิดขึ้น โดยธรรมชาติของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีข้อสนับสนุนให้เกิดการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้เนื่องจาก อุปสงค์และอุปทานของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีลักษณะไม่ยืดหยุ่น (หรือยืดหยุ่นน้อย) ต่อราคา (Inelastic) ดังนั้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนพฤติกรรมมากนัก

ภาษีโรงเรือนและที่ดินในปัจจุบันคิดฐานภาษีจากค่าเช่ารายปีในการประเมินฐานภาษี โดยสำหรับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ ปัจจุบันจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 12.5 ซึ่งการจัดเก็บภาษีจากฐานภาษีที่มาจากค่าเช่ารายปีในลักษณะนี้ ย่อมซ้ำซ้อนกันกับการจัดเก็บภาษีเงินได้โดยปกติ ที่ส่งผลต่อผู้เช่าและผู้ให้เช่าที่จะต้องแบกรับภาระภาษีมากกว่าที่ควรเป็น ซึ่งนับเป็นความบกพร่องของระบบภาษีที่มีในปัจจุบัน

3. ระบบภาษีที่ดี ควรมีลักษณะไม่ซับซ้อนต่อการกำกับดูแลและการเสียภาษี (Administrative ease) ในปัจจุบันโครงสร้างภาษีบำรุงท้องที่ มีอัตราภาษีสูงถึง 34 ชั้น นอกจากนี้การลดหย่อนภาษี ยังพิจารณาจากเนื้อที่ที่ถือครองเป็นสำคัญ (ไม่ได้คิดจากมูลค่าของการถือครอง) เช่น การลดหย่อนพื้นที่ดินที่ใช้สำหรับอยู่อาศัยและทำการเกษตรที่ไม่ต้องนำมาคำนวณภาษี มีขนาดพื้นที่ ตั้งแต่ 50 ตารางวา ถึง 5 ไร่ (แล้วแต่เขตพื้นที่) แต่พื้นที่ที่แตกต่างกันแม้จะอยู่ในเขตพื้นที่เดียวกัน อาจมีมูลค่าของที่ดินที่แตกต่างกันมาก เช่น พื้นที่ดินที่อยู่ติดถนนใหญ่ที่มีราคาแพง ได้รับการลดหย่อนภาษีเท่ากันกับพื้นที่ดินที่อยู่ในซอยลึกที่มีราคาต่ำกว่า ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การลดหย่อนที่มีในปัจจุบันมีลักษณะไม่เป็นธรรมและไม่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม โดยเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มคนรวยมากกว่ากลุ่มคนจน ซึ่งยิ่งทำให้อัตราภาษีที่เกิดขึ้นนั้นมีลักษณะถดถอย (Regressive tax) และไม่เป็นไปตามหลักการของ Ability to pay principle

นอกจากนี้ ระบบภาษีที่ดี ไม่ควรมีช่องโหว่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีได้ ในปัจจุบันเจ้าของที่ดินได้ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในการหลีกเลี่ยงภาษีที่มีโดยการปลูกพืชล้มลุกในพื้นที่ดินของตน ซึ่งสามารถช่วยลดภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องจ่ายลงได้ครึ่งหนึ่ง เป็นต้น

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ใช้อยู่เดิมนั้น มีปัญหาในตัวโครงสร้างของระบบภาษีเอง และยังขัดต่อหลักการของระบบภาษีที่ดีซึ่งสมควรได้รับการแก้ไข การเสนอพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่สมควร และควรได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่งจากทุกฝ่ายในสังคม

*"ต้อนรับปีใหม่ กับ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2553" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 6 ม.ค. 2553