Monday, June 7, 2010

การตัดสินใจสลายม๊อบ ผลลัพธ์ของความสูญเสียตามทฤษฏีเกมส์*

การตัดสินใจสลายม๊อบโดยใช้กำลังทหารกดดันเข้ายึดพื้นที่ย่านราชประสงค์คืน แม้สุดท้ายรัฐบาลจะสามารถได้พื้นที่กลับคืนมาได้ แต่ไม่สามารถควบคุมไม่ให้ความสูญเสียเกิดขึ้น สถานที่ต่างๆ ที่สำคัญของรัฐหรือเอกชน ถูกเผาด้วยความโกรธแค้นจากฝ่ายผู้ชุมนุม และรัฐบาลจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวต่อเนื่องในกรุงเทพกับจังหวัดอื่นๆ 23 จังหวัด ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์เลวร้าย ที่ได้กลายเป็นบาดแผลของคนไทยทั้งประเทศ

แม้ก่อนหน้านี้จะมีการเจรจาเกิดขึ้นมาบ้าง แต่การตัดสินใจที่ไม่ใช้กระบวนการเจรจาอย่างถึงที่สุดในช่วงวันที่ 19 พฤษภาคม ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ของความสูญเสียเกิดขึ้น ที่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่เชื่อใจระหว่างกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งสามารถอธิบายได้โดยทฤษฎีเกมส์ (Game theory) ในเหตุการณ์นี้ สมมติว่ามีสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ชุมนุม ต่างมีเป้าประสงค์หรือความต้องการที่แตกต่างกัน ทั้งสองฝ่ายต่างมีทางเลือกที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจา หรือไม่เข้าสู่กระบวนการเจรจา โดยผลลัพธ์ของการตัดสินใจที่จะเกิดขึ้น ไม่เพียงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เป็นไปได้มีด้วยกัน 4 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 หากทั้งสองฝ่ายมีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจาอย่างสันติวิธี ทั้งสองฝ่ายต่างก็จะได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเกิดจากการประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่าย ผลประโยชน์ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับในกรณีนี้ (สมมติมีค่าเท่ากับ ***) จะน้อยกว่าความต้องการที่แต่ละฝ่ายต้องการตั้งแต่แรก (สมมติมีค่าเท่ากับ ****) เช่น ต้องการให้รัฐบาลประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งในทันที เป็นต้น

กรณีที่ 2 และ 3 หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการเจรจา แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับไม่ต้องการเจรจาด้วย ฝ่ายที่ต้องการเจรจาจะเสียเปรียบ (สมมติประโยชน์ที่ได้มีค่าเท่ากับ *) เนื่องจากสังคมอาจมองฝ่ายรัฐบาลว่าอ่อนแอและไม่สามารถดูแลรักษากฎหมายของประเทศได้ หรือในทางกลับกันฝ่ายผู้ชุมนุมอาจสูญเสียมวลชนสนับสนุน ซึ่งในกรณีนี้ฝ่ายที่เลือกไม่เจรจาด้วยจะมีความได้เปรียบ และมีโอกาสที่จะบรรลุความตั้งใจที่วางไว้แต่แรก (สมมติมีค่าเท่ากับ ****)

กรณีที่ 4 หากทั้งสองฝ่ายต่างไม่ต้องการเจรจา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นความสูญเสียต่อทั้งสองฝ่าย (สมมติมีค่าเท่ากับ **) แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะน้อยกว่าในกรณีที่หากตกเป็นฝ่ายที่ต้องการเจรจาแต่ฝ่ายเดียว ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ต้องการเจรจา (กรณีที่ 2 และ 3)

ดังนั้นในเกมส์นี้ สามารถแสดงในรูปของตารางผลลัพธ์ได้ดังนี้


จากตารางผลลัพธ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า ถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมเลือกที่ใช้การเจรจา ฝ่ายรัฐบาลจะได้รับประโยชน์มากกว่าหากเลือกตัดสินใจไม่เจรจาด้วย (เช่น ยกเหตุผลของการทำหน้าที่รักษากฎหมาย) หรือ ถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมเลือกที่ไม่เจรจา การที่ฝ่ายรัฐบาลเลือกที่จะไม่เจรจาด้วย จะได้รับประโยชน์มากกว่าการเลือกที่จะเจรจากับฝ่ายผู้ชุมนุม ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายผู้ชุมนุมเลือกที่จะเจรจาหรือไม่ก็ตาม สำหรับฝ่ายรัฐบาลแล้ว การเลือกที่ไม่เจรจาย่อมให้ประโยชน์สูงกว่าการเลือกที่จะเจรจา ในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะเลือกที่ใช้การเจรจาหรือไม่ก็ตาม สำหรับฝ่ายผู้ชุมนุมแล้ว การเลือกที่ไม่เจรจาจะให้ประโยชน์มากกว่าการเลือกเจรจา

หากเราปล่อยกลไกการตัดสินใจให้ดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ การเลือกที่จะไม่เจรจาจากทั้งสองฝ่าย จะเป็นกลยุทธ์เด่น (Dominant strategy) (ซึ่งหมายถึงกลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละฝ่าย ไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะเลือกตัดสินใจแบบใดก็แล้วแต่) ที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนผลลัพธ์ที่ได้ในกรณี (มีค่าเท่ากับ **) จะแย่กว่าหากทั้งสองฝ่ายร่วมมือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจา (มีค่าเท่ากับ ***)

การที่ทั้งสองฝ่ายเลือกที่จะไม่เจรจาและได้ผลลัพธ์ที่แย่นั้น จึงเป็นผลลัพธ์ของความสูญเสียที่เป็นไปตามทฤษฎีของเกมส์ ที่เกิดขึ้นจากความไม่เชื่อใจที่มีต่อกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้มีความจริงใจที่จะใช้การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการเจรจาอย่างสันติวิธี ต่างฝ่ายจึงเลือกใช้วิธีการที่อาจไม่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา เพราะต่างฝ่ายอาจเลือกใช้กลยุทธเด่นที่ดีต่อตนเท่านั้น โดยไม่ได้พิจารณาทางเลือกที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือประเทศไทยโดยรวม

*"การตัดสินใจสลายม๊อบ ผลลัพธ์ของความสูญเสียตามทฤษฏีเกมส์" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 7 มิ.ย. 2553