Monday, October 11, 2010

วิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรป กับ การเลือกสามประการที่ไม่ควรเกิดขึ้น*

ที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความต่อเนื่องที่ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (International economic integration) ของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่ม Eurozone ที่มีการใช้นโยบายทางการเงินและสกุลเงินร่วมกัน แต่กลับล้มเหลวในการบังคับให้ประเทศสมาชิกดำเนินการรักษาพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงฐานะทางการคลังให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่ตั้งไว้ และได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญของการวิกฤติหนี้ภาคยุโรป

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อปี ค.ศ. 2000 Prof. Dani Rodrik อาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เขียนบทความวิชาการชิ้นหนึ่งที่มีความน่าสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ โดย Prof. Dani Rodrik ได้เขียนถึง Political trilemma of the world economy หรือ การเลือกสามประการที่เป็นไปไม่ได้ (หรือที่นำไปสู่ปัญหา) ซึ่งไม่ใช่ Impossible trinity ที่นักเศรษฐศาสตร์คุ้นเคยเป็นอย่างดีในการอธิบายถึงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย (โดย Impossible trinity ได้กล่าวถึงการเลือกสามประการที่ไม่ควรเกิดพร้อมกัน จาก หนึ่ง การเลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed exchange rates) สอง การยินยอมให้เงินทุนระหว่างประเทศไหลเข้าออกได้อย่างเสรี (Capital mobility) และ สาม การมีนโยบายทางการเงินอย่างเป็นอิสระของตนเอง (Monetary autonomy) ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายทั้งสามประการพร้อมกัน และนำไปสู่การถูกโจมตีค่าเงินบาท สุดท้ายรัฐบาลจึงตัดสินใจที่จะสละการเลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ในขณะที่ยังยินยอมให้เงินทุนไหลเข้าออกได้อย่างเสรีและการมีนโยบายทางการเงินของตนเอง)

การเลือกสามประการที่ Prof. Dani Rodrik ได้เขียนอธิบายซึ่งสามารถเลือกสูงสุดได้เพียง 2 จาก 3 ประการ คือ หนึ่ง การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ (Integrated national economies) เช่น การรวมกลุ่มเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป สอง การมีอำนาจที่เป็นอิสระของตนเอง โดยแต่ละประเทศมีอธิปไตยในการออกนโยบายของตนเองซึ่งอาจมีผลต่อตลาดได้ (Nation state) และ สาม การมีสถาบันหรือระบบการเมืองร่วมกันในระดับสากล (Mass politics) หรือสหพันธรัฐ เช่น การจัดตั้งสหภาพยุโรปที่ไม่ได้จำกัดประเทศที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก และมีความคล่องตัว รวมถึงสามารถตอบสนองต่อกลุ่มต่างๆ ได้ดี แต่ทั้งนี้นโยบายที่ออกมาจะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคหรือต้นทุนทางการค้าและการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างกัน รวมทั้งส่งเสริมให้กลไกต่างๆ ของตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากยุโรปเลือกการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ประเทศสมาชิกจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการยินยอมให้แต่ละประเทศมีอธิปไตยของตนเองในการกำหนดนโยบายได้อย่างเป็นอิสระ แต่เป็นนโยบายที่เอื้อต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หรือ การมีสถาบันหรือระบบการเมืองของสหภาพยุโรปที่เข้ามาดูแลกำหนดนโยบายของประเทศสมาชิก แต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น (แม้ว่าจะเลือกการมีสถาบันหรือระบบการเมืองของสหภาพยุโรปในการกำหนดนโยบาย ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปยังสามารถมีรัฐบาลของตนเองได้ เพียงแต่ไม่สามารถออกนโยบายที่มีผลให้ต่อกลไกตลาดโดยรวมได้) แต่เนื่องจากสหภาพยุโรปไม่ตัดสินใจเลือกเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง และปล่อยให้เงื่อนไขทั้งสามประการดำเนินไปพร้อมกัน ทั้งการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งการยินยอมให้แต่ประเทศมีอำนาจอธิปไตยในการออกนโยบายของตนเอง โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทางการคลังได้อย่างเกือบไม่มีข้อจำกัด และ ทั้งการมีรัฐบาลกลางของสหภาพยุโรป เช่น สภายุโรป คณะรัฐมนตรียุโรป คณะกรรมมาธิการยุโรป และธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปเข้ามาดูแลกำหนดนโยบายทางการเงินของประเทศสมาชิก การเลือกสามประการให้ดำเนินไปพร้อมกัน จึงได้นำพาประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม PIIGS เดินไปสู่ปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐในครั้งนี้

สำหรับอนาคตของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้ คงจะถึงเวลาแล้วที่สหภาพยุโรปจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกให้ชัดเจน โดยหากยังต้องการรักษาไว้ซึ่งการใช้นโยบายการเงิน รวมถึงการใช้สกุลเงินร่วมกัน สหภาพยุโรปจำเป็นต้องจำกัดความมีอธิปไตยของแต่ละประเทศสมาชิกในการกำหนดนโยบายของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางด้านการคลัง หรือหากสหภาพยุโรปต้องการรักษาอธิปไตยในการออกนโยบายของแต่ละประเทศสมาชิกให้คงอยู่ สหภาพยุโรปจำเป็นต้องสละการใช้สกุลเงินและนโยบายทางการเงินร่วมกัน มิฉะนั้นแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปคงจะกลับมาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปที่เกิดขึ้นจึงเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าแก่ผู้กำหนดนโยบายของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในการเรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่เกิดขึ้น เพื่อให้การก้าวเดินไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic community) ของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นไปได้อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต

การเลือกสามประการที่เป็นไปไม่ได้



อ้างอิงจาก
Rodrik, Dani, 2000, “How Far will International Economic Integration Go?” Journal of Economic Perspectives, Vol. 14, pp. 177-186.

*"วิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรป กับ การเลือกสามประการที่ไม่ควรเกิดขึ้น"ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 11 ต.ค. 2553