Monday, December 6, 2010

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาและที่ยังไม่ผ่านพ้น*

ในบทความที่แล้ว(*) ผมได้กล่าวถึง Impossible trinity ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งคือการเลือกสามประการที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งที่ประกอบไปด้วย หนึ่ง การเลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed exchange rates) สอง การยินยอมให้เงินทุนระหว่างประเทศไหลเข้าออกได้อย่างเสรี (Capital mobility) และ สาม การมีนโยบายทางการเงินอย่างเป็นอิสระของตนเอง (Monetary autonomy) (นักศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ อาจลองพิสูจน์ถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้โดยใช้แบบจำลอง Mundell-Fleming)

ประเทศไทยในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ยินยอมให้เงื่อนไขทั้งสามประการเกิดขึ้นพร้อมกัน ทั้งการดำเนินระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ การยินยอมให้เงินทุนไหลเข้า-ออกอย่างเป็นอิสระ และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเป็นอิสระ เนื่องจากเป็นสามเงื่อนไขที่มีความขัดแย้งในตัวเอง หากเมื่อใดที่อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศไทยที่ถูกกำหนดโดยนัยได้ยึดกับค่าเงินสกุลดอลลาร์เป็นหลัก มีความแตกต่างอย่างมากจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ควรเป็น ย่อมไม่ใช่เรื่องยากที่นักเก็งกำไรค่าเงินจะเห็นโอกาสและเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท ที่แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามเข้าไปแทรกแซงหรือปกป้องค่าเงินเพียงใด ก็ไม่มีทางที่จะฝืนกลไกของตลาดได้ ในเวลานั้นประเทศไทยได้สูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาทในเวลาต่อมา และการเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งในเวลานั้นได้สนับสนุนแนวทางการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว

ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน กลับเลือกทางเดินที่แตกต่างจากประเทศไทย โดยได้ตัดสินใจหันหลังให้กับ IMF และใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้าย (Capita control) ในการปกป้องการเข้ามาของนักเก็งกำไร ซึ่งในเวลานั้นนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยว่าอาจเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด เพราะการใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายน่าจะส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจมาเลเซียอย่างรุนแรงจากการไม่ไหลกลับของเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่งานวิจัยที่ได้ศึกษาเรื่องนี้ต่อมาในภายหลัง เช่น งานศึกษาของ IMF ในปี ค.ศ. 2006(**) กลับไม่พบว่า การใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายของมาเลเซียในขณะนั้นได้ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นพบว่า มีระดับใกล้เคียงกับประเทศที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆ (ซึ่งรวมถึงประเทศไทย) อันเป็นผลพวงมาจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งของประเทศเป็นสำคัญ ดังนั้นข้อกังวลที่นักเศรษฐศาสตร์เคยมีถึงผลลบจากการเลือกดำเนินนโยบายควบคุมทุนเคลื่อนย้าย จึงได้เบาบางลงมากในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน โลกในยุคปัจจุบันซึ่งอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกันอย่างมาก เราได้พบเห็นปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจโลก (Global imbalance) ที่เกิดขึ้นในด้านการค้าและการเงินระหว่างประเทศ และความล้มเหลวของการรวมตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกิดในกลุ่มประเทศสมาชิก Eurozone ที่ใช้เงินสกุลเงินร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งเรายังได้เห็นถึงการกลับมาครั้งยิ่งใหญ่ของเคนส์ (Keynesian) จากการดำเนินนโยบายทางการคลังอย่างเต็มที่ของรัฐบาลทั้งในประเทศยักษ์ใหญ่และยักษ์เล็กต่างๆ โดยเฉพาะการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐเพื่อหวังกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งอาจกลายเป็นภาระหรือปัญหาทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ดังเช่นที่ได้เป็นสาเหตุของวิกฤต (หนี้) เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้วในสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นการใช้นโยบายทางการเงินที่ไม่ใช่ลักษณะปกติ (Unconventional monetary policy) ของประเทศยักษ์ใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายหลักที่ไม่ใช่การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ (Inflation targeting) เหมือนปกติ แต่กลับมีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การออกมาตรการผ่อนปรนทางการเงิน (Quantitative easing) ของสหรัฐอเมริกา โดยการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ เพื่อกดดันให้อัตราดอกเบี้ยทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวต่ำลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น

สำรับการออกมาตรการการผ่อนปรนทางการเงินครั้งที่ 2 ที่กำลังออกมาของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อัตราอัตราดอกเบี้ยของประเทศอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับศูนย์แล้ว หากไม่มีผลต่อการเพิ่มการลงทุนของนักลงทุน (เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว) ก็อาจส่งผลต่อความวิตกกังวลในเรื่องเงินเฟ้อ และอาจทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อไปอีก ผลของนโยบายตรงนี้อาจเป็นความต้องการอีกอย่างหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าที่มีอย่างยืดเยื้อและยาวนานก็เป็นได้

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือไม่ใช่เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนอย่างเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งรวมถึงประเทศญี่ปุ่น ก็กำลังพิจารณาใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนระลอกใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินที่กำลังแข็งค่าขึ้น เพื่อเป็นการตอบโต้ระหว่างกัน และอาจนำไปสู่สงครามต่อสู้ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่าสงครามค่าเงิน (Currency wars) นั่นเอง

หมายเหตุ
สำหรับตอนที่สองของบทความนี้ ผู้อ่านสามารถติดตามได้ในหนังสือพิมพ์ โพสท์ ทู เดย์ ฉบับวันจันทร์ที่ 3 มกราคม 2554

อ้างอิง:
* http://sasatra.blogspot.com/2010/10/blog-post.html
** Simon Johnson, Kalpana Kochhar, Todd Mitton, and Natalia Tamirisa, 2006, “Malaysian Capital Controls: Macroeconomics and Institutions,” IMF Working paper WP/06/51.

*"วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาและที่ยังไม่ผ่านพ้น" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 6 ธ.ค. 2553