Monday, August 2, 2010

วิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรป สู่การอ่อนค่าของเงินสกุลยูโร*

ในบทความที่แล้ว (วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม (1)) เราได้เห็นถึงสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งของวิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรปในครั้งนี้ที่มาจากการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐอย่างรุนแรง รวมถึงความล้มเหลวของสหภาพยุโรปในการควบคุมให้แต่ละประเทศสมาชิกในกลุ่ม Eurozone รักษาฐานะทางการคลังตามที่กำหนดใน Maastricht convergence criteria ไว้ได้ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุสำคัญที่มาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศอย่างรุนแรง ซึ่งผู้เขียนจะขอกล่าวต่อไปในบทความนี้

ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current account) หมายถึง ผลรวมสุทธิของดุลการค้า ดุลบริการ ดุลรายได้และเงินโอน หากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากกว่ามูลค่าการส่งออกที่ได้ ประเทศก็จะขาดดุลการค้าและทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ซึ่งจะมีผลให้เกิดการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ ในกรณีของประเทศกรีซและโปรตุเกสระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP สูงถึงร้อยละ 11.2 และ 10.3 ตามลำดับ แต่ทั้งนี้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดดุลการค้า) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแต่เพียงอย่างเดียว จึงไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่เพียงพอจะทำให้ประเทศเกิดวิฤตเศรษฐกิจขึ้นมาได้

เงื่อนไขประกอบที่สำคัญในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ได้แก่ การที่ประเทศในกลุ่มที่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ หรือกลุ่ม PIIGS ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศโปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน สูญเสียความเป็นอิสระของอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากได้เปลี่ยนไปใช้สกุลเงินอียูร่วมกัน ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรุนแรง จึงไม่สามารถแก้ไขโดยการลดค่าเงินของแต่ละประเทศลง เพื่อกระตุ้นให้การส่งออกสินค้าดีขึ้นและนำเข้าสินค้าน้อยลง ซึ่งจะช่วยแก้ไขหรือลดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศให้น้อยลงได้

เมื่อประเทศเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ประเทศจำเป็นต้องรักษาสมดุลทางบัญชีของประเทศด้วยการเกินดุลบัญชีทุน (Capital account) (การเกินดุลบัญชีทุนหมายถึง เงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศเพื่อการลงทุนหรือกู้ยืมมีมากกว่าที่ไหลออกจากประเทศ) เพื่อชดเชยการขาดดุลบัญเดินสะพัดที่เกิดขึ้น หากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมีมากกว่าการเกินดุลบัญชีทุน ก็จะนำไปสู่การขาดดุลการชำระเงิน (Balance of payment) ซึ่งจะต้องใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ในการชดเชยการขาดดุลการชำระเงินที่เกิดขึ้น

ในกรณีของประเทศกรีซ การไหลออกของเงินตราต่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ถูกชดเชยด้วยการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศที่มาจากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังที่ได้กล่าวแล้วในบทความที่ผ่านมา การเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ Eurozone ได้เพิ่มความเชื่อถือให้กับประเทศสมาชิก ประเทศกรีซสามารถกู้ยืมเงินจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมากและด้วยอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรเป็นโดยปกติ ซึ่งไม่สะท้อนความเสี่ยงของการกู้ยืมเงินที่เกิดขึ้นหรือความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศได้อย่างเหมาะสม

อีกทั้งการที่ประเทศกรีซหรือประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม PIIGS ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน การแก้ไขปัญหาด้วยมือที่มองไม่เห็น (Invisible hand) ผ่านกลไกการทำงานของอัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่สามารถเป็นไปได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากค่าเงินสกุลยูโรไม่เพียงถูกกำหนดจากปัจจัยของประเทศในกลุ่ม PIIGS แต่ยังถูกกำหนดจากประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก อย่างเช่น เยอรมันนี และฝรั่งเศษ ซึ่งมีพื้นฐานหรือความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจแตกต่างกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ของกลุ่ม Eurozone เป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า มือที่มองไม่เห็นจะไม่ทำงาน ในทางกลับกัน มือที่มองไม่เห็นกำลังทำงานอย่างเต็มที่ในการผลักให้ค่าเงินสกุลยูโรอ่อนค่าลง โดยค่าเงินสกุลยูโรได้อ่อนค่าลงมาจากประมาณ 1.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งยูโร หรือประมาณ 50 บาทต่อหนึ่งยูโร เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา จนมาเหลือไม่ถึง 1.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งยูโร หรือประมาณ 42 บาทต่อหนึ่งยูโรในปัจจุบัน

นักวิชาการหลายท่านได้คาดการณ์ว่า ค่าเงินสกุลยูโรมีแนวโน้มจะกลับไปสู่ระดับที่ประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งยูโร หากเป็นเช่นนั้นจริงย่อมแสดงว่า ค่าเงินสกุลยูโรยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอีกมากกว่าร้อยละ 20 เลยทีเดียว ดังนั้นหากถามว่าผลกระทบจากวิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรปที่มีต่อประเทศไทยนั้นจะมากน้อยเพียงใด แม้ดูเหมือนว่าผลกระทบโดยตรงของวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปที่มีต่อประเทศไทยจะไม่มากนัก เพราะประเทศไทยมีความสัมพันธทางเศรษฐกิจที่ห่างกับประเทศในกลุ่ม PIIGS อยู่มาก แต่ถ้าพิจารณาถึงค่าเงินสกุลยูโรที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกมาก ประเทศในกลุ่ม Eurozone หรือในสหภาพยุโรป มีปริมาณการค้ารวมกับประเทศไทยอยู่ค่อนข้างมาก (สหภาพยุโรปนับเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของประเทศไทย เมื่อพิจารณามูลค่าการค้ารวมของประเทศ) ตรงจุดนี้เองที่น่าเป็นห่วงว่า ผลกระทบของวิกฤตหนี้ยุโรปที่มีต่อภาคเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะต่อภาคการส่งออกของประเทศ อาจรุนแรงกว่าที่นักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายท่านเคยได้ออกมาคาดการณ์ไว้

อ้างอิงได้จาก
(1) http://sasatra.blogspot.com/2010/07/blog-post.html

*"วิกฤติหนี้ภาครัฐยุโรป สู่การอ่อนค่าของเงินสกุลยูโร" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 2 ส.ค. 2553