Tuesday, March 8, 2011

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)*

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมในงานสัมมนาพิเศษที่คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ร่วมกับศูนย์ East-West center ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดงานสัมมนาที่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากหลายๆ ประเทศ เข้าร่วมนำเสนอผลงานภายใต้หัวข้อ “New Approaches to Asian Economic Cooperation and Development” หนึ่งในนั้นมีงานศึกษาที่นำเสนอโดย ศาสตราจารย์ Peter A. Petri จากมหาวิทยาลัย Brandeis University ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบของความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific partnership หรือที่เรียกว่า TPP) ที่จะเกิดขึ้น ผมคิดว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกมีความน่าสนใจในหลายเรื่องและจึงขอหยิบยกมาเล่าให้ท่านผู้อ่านในวันนี้

เดิมที TPP เป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่าง 4 ประเทศในภาคพื้นแปซิฟิก ประกอบด้วย ประเทศบรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 3 มิถุนาย 2548 และมีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 28 พฤษภาคม 2549 ต่อมาได้มีประเทศสมาชิกอื่นๆ อีก 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้ให้ความสนใจ ประกอบด้วย ประเทศออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจา โดยได้ตั้งเป้าบรรลุผลการเจรจาและจะนำเสนอถึงความสำเร็จในที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกในเดือนธันวาคม 2554 ที่จะจัดขึ้นในมลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสนใจจะเข้าร่วมเจรจา เช่น ประเทศแคนาดา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน เม็กซิโก เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ประเทศที่สนใจเข้าร่วม TPP ในภายหลัง จะไม่มีสิทธิในการปรับเปลี่ยนความตกลงเดิมที่กำลังจัดทำในปัจจุบัน

ความน่าสนใจของ TPP มีหลายเรื่อง ซึ่งผมขอกล่าวถึงในบางประเด็น ดังนี้

หนึ่ง ประเทศผู้ผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกที่สำคัญในครั้งนี้คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่อยู่ในกลุ่มการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออก (East Asian Economic Integration) ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ASEAN+3 (อาเซียน บวก จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือ EAFTA) หรือแม้แต่ ASEAN+6 (อาเซียน บวก จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย หรือ CEPEA) การผลักดันให้เกิด TPP ในครั้งนี้ จะสามารถรักษาบทบาทผู้นำทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไว้ได้ อีกทั้งยังช่วยลดอำนาจและบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่มีในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางในการขยายตลาดทางการค้าและการลงทุนของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งช่วยลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งไม่มีสหรัฐอเมริการ่วมอยู่ด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราได้เห็น ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลักดันสำคัญให้ TPP เกิดขึ้น

สอง การเกิดขึ้นของ TPP จะส่งผลต่อเส้นทางของการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ASEAN+3 หรือ ASEAN+6) หรือไม่? และอย่างไร? เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้เสนอตัวหรือแสดงความสนใจเข้าร่วมใน TPP (ยกเว้น ประเทศไทยที่ยังสงวนท่าที? อยู่ในปัจจุบัน) หากความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ประโยชน์ที่ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเคยจะได้รับจากข้อตกลงการค้าเสรี ASEAN+3 หรือ ASEAN+6 (ที่เป็นไปอย่างล่าช้า) ลดลง และทำให้เสน่ห์ของการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่อาเซียนเป็นผู้ผลักดันลดลงด้วย งานศึกษาของศาสตราจารย์ Peter A. Petri ชี้ว่า ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน จะได้รับประโยชน์มากกว่าจาก TPP เมื่อเปรียบเทียบกับข้อตกลงการค้าเสรี ASEAN+3 หรือ ASEAN+6 ดังนั้น การเกิดขึ้นของ TPP อาจมีผลต่อความสำเร็จของความตกลงการค้าเสรี ASEAN+3 หรือ ASEAN+6 ที่จะเกิดขึ้นได้

แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น TPP ที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลักดัน หรือ ASEAN+3 (หรือ ASEAN+6) ที่มีอาเซียนเป็นผู้ผลักดัน สุดท้ายต่างมีเป้าหมายตรงกันที่เขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific, FTAAP) โดยเนื้อหาของความตกลงอาจมีความแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับประเทศใดที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำความตกลงนั้น

สาม การที่ประเทศไทยไม่ได้เสนอตัวเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิกใน TPP ได้ทำให้ประเทศไทยพลาดโอกาสในการเจรจาต่อรองในเรื่องที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น หากประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วมใน TPP ภายหลัง ประเทศไทยจะไม่ได้รับสิทธิในการปรับเปลี่ยนความตกลงที่ได้จัดทำไว้ก่อนหน้านี้ได้ ดังนั้น ความล่าช้าที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมใน TPP ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียประโยชน์ที่ควรได้รับจากการเจรจาต่อรองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ครั้งนี้ก็คงเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เราได้เห็นถึงความล่าช้าของนโยบายต่างประเทศของประเทศไทย (อย่างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและเวียดนามที่ได้เข้าร่วมเจรจาใน TPP) ซึ่งอาจแสดงให้เห็นหรือตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาที่มีของประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านนโยบายต่างประเทศ

* "ความร่วมมือทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 7 มี.ค. 2554