Monday, October 3, 2011

เรียนรู้เพื่อก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง*

ในบทความที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างกับดักรายได้ปานกลางที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่กับระดับการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังติดหล่มของการพัฒนาจนไม่สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับที่อุตสาหกรรมการผลิตสามารถพึ่งพิงทักษะ องค์ความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีจากภายในประเทศ (ลดการพึ่งพิงทักษะ องค์ความรู้ เทคโนโลยีที่มาจากต่างประเทศ) คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วประเทศไทยจะทำอย่างไร เพื่อให้สามารถก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลางและการติดหล่มของการพัฒนาอุตสาหกรรมไปได้ การหาคำตอบของคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำได้โดยง่าย เราอาจใช้การเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ที่ประสบผลสำเร็จในการก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลางและเลื่อนขั้นของการพัฒนาทางอุตสาหกรรมขึ้นมาได้ นอกจากนี้ เราอาจใช้การเรียนรู้จากนโยบายการพัฒนาของประเทศอื่นๆ ที่ยังติดหล่มของการพัฒนาทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของประเทศมาเลเซียซึ่งได้ประกาศไว้ว่า ประเทศมาเลเซียจะเลื่อนขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High income countries) ภายในปี ค.ศ. 2020 โดยมีนโยบายการพัฒนาทางอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและแตกต่างจากนโยบายของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ในวันนี้ เราจะเริ่มต้นจากการเรียนรู้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศที่ประสบผลสำเร็จ อย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ หรือประเทศไต้หวัน ที่เริ่มต้นยุคการพัฒนาทางอุตสาหกรรมมาพร้อมๆ กับประเทศไทยและมาเลเซียในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 แต่ในปัจจุบันกลับมีระดับการพัฒนาทางอุตสาหกรรมอยู่ในขั้นที่สูงกว่าประเทศไทยและมาเลเซีย โดยทั้งสองประเทศต่างมีผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ HTC ACER และ ASUS จากประเทศไต้หวัน หรือแบรนด์ HYUNDAI SAMSUNG และ LG จากประเทศเกาหลีใต้ เป็นที่สังเกตว่า ประเทศไต้หวันจะเน้นการพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้กลับมีสินค้าหลากหลายในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ต่างก็เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีในระดับสูงและสินค้าที่ผลิตก็มีมูลค่าที่สูง หากลองเปรียบเทียบกับประเทศไทยจะพบความแตกต่างที่สำคัญคือ ประเทศไทยยังไม่มีแบรนด์สินค้าไทยที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตในระดับสูงและเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดโลก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคหรือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเลื่อนขั้นของการพัฒนาทางอุตสาหกรรมขึ้นมาได้

ระดับการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีของทั้งประเทศเกาหลีใต้และประเทศไต้หวันต่างเริ่มต้นมาจาก หนึ่ง การเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการรับจ้างผลิตที่ต้องพึ่งพิงเงินลงทุนและเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศ ระดับการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีที่ได้ยังมีไม่มากนัก สอง อุตสาหกรรมในประเทศเหล่านี้มีระดับการเรียนรู้จากการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีที่ได้รับโดยตรงในกระบวนการผลิตมากขึ้นกว่าเดิม จนสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตจากเดิมได้บ้าง สาม อุตสาหกรรมพัฒนาระดับการเรียนรู้โดยการเลียนแบบเทคโนโลยีของต่างประเทศ และ สี่ เมื่อสามารถผลิตสินค้าของตนเองขึ้นได้แล้ว อุตสาหกรรมเหล่านั้นก็พัฒนาการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์สินค้าให้ดีขึ้นจากเดิม จนก้าวไปสู่การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปัจจุบันประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงก้าวข้ามจากขั้นที่สามไปสู่ขั้นที่สี่ นั่นคือ เริ่มต้นจากการรับจ้างผลิตสินค้า ไปสู่การผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองโดยใช้การเลียนแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของต่างประเทศ จนไปถึงการผลิตสินค้าโดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเอง ซึ่งความรู้ส่วนหนึ่งได้รับมาจากการเข้าซื้อกิจการจากต่างประเทศโดยตรง (เช่น การเข้าซื้อบริษัท IBM) ในขณะที่ประเทศไทยยังวนเวียนอยู่ในขั้นที่สอง ที่การเรียนรู้ส่วนใหญ่มาจากการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีที่ได้รับโดยตรงในกระบวนการผลิต ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีลักษณะของการรับจ้างผลิต และยังต้องพึ่งพิงเงินทุน รวมถึงเทคโนโลยีระดับสูงจากต่างประเทศค่อนข้างมาก จนทำให้การเรียนรู้ทางเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างนวัตกรรมของตนเองจึงมีค่อนข้างจำกัดมาก

สำหรับการเรียนรู้จากนโยบายการพัฒนาของประเทศอื่นๆ ที่ยังติดหล่มของการพัฒนาทางอุตสาหกรรม รวมถึงนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่ผ่านมาและที่ควรจะดำเนินต่อไป ผมจะขออนุญาตกล่าวถึงเรื่องนี้ต่อในโอกาสถัดไปครับ


*"เรียนรู้เพื่อก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 ต.ค. 2554