Monday, January 3, 2011

วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ผ่านพ้นและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่อไปของประเทศไทย*

ในบทความที่แล้ว (6 ธ.ค. 2553) ผมได้กล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาและยังไม่จบสิ้น ทั้งวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก และวิกฤติหนี้ยุโรป ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ผมยังได้กล่าวถึงการใช้นโยบายทางการเงินและการคลังอย่างเต็มที่ของประเทศยักษ์ใหญ่ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนอย่างเข้มข้นของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้มีเป้าหมายในการควบคุมภาวะเงินเฟ้ออีกต่อไป แต่กลับมีเป้าหมายอื่นๆ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามค่าเงินในปีนี้ก็เป็นได้

เมื่อลองมองย้อนดูเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ทั้งระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รายได้ภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออก ล้วนมีตัวเลขที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่แรก แม้ว่าจะเป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาทางการเมืองและความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ดีเช่นนี้ อาจทำให้ผู้กำหนดนโยบายของประเทศลดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีต่อประเทศไทยไปบ้าง แต่ในปี พ.ศ. 2554 ที่กำลังจะเริ่มต้นนี้ ผมในฐานะที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งยังมีข้อกังวลกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่อไปของประเทศไทยในหลายเรื่องด้วยกัน อาทิเช่น

เนื่องจากประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินนโยบาย Export led growth (ใช้การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) มาเป็นเวลานาน ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนอย่างรุนแรง รวมถึงค่าเงินของประเทศยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เรากลับเห็นธนาคารแห่งประเทศไทยยังดำเนินนโยบายที่เน้นเป้าหมายในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศได้กลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อไปอีกในช่วงปี พ.ศ. 2554 นี้

การดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผ่านมาค่อนข้างเป็นเอกเทศเป็นอย่างมาก โดยเน้นพิจารณาพื้นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่กำลังใช้นโยบายทางการเงินต่อสู้กันเพื่อชิงความได้เปรียบและทำให้ตัวเองรอดพ้นจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หากลองยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ประเทศไทยอาจเปรียบเสมือนกับเรือลำน้อยที่ร่องลอยอย่างเป็นอิสระอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรที่กำลังเกิดคลื่นมรสุมอย่างรุนแรง โดยผู้บังคับเรือกลับมุ่งแต่บังคับหางเสือเพื่อมุ่งไปให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้แต่เพียงอย่างเดียว หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เราคงได้แต่ภาวนาขอให้คลื่นมรสุมสงบโดยเร็ว ก่อนที่เรือลำนี้จะถูกคลื่นซัดให้จมลงได้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยยังมีทางเลือกของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอยู่ ในบทความที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงการเลือกสามประการที่นำไปสู่ข้อขัดแย้ง ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว เพื่อยินยอมให้เงินทุนระหว่างประเทศไหลเข้าออกได้อย่างเสรี และการมีนโยบายทางการเงินอย่างเป็นอิสระของตนเอง แต่ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ประเทศไทยจะหันมาทบทวนทางเลือกสามประการที่เคยมีกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนอย่างรุนแรงเช่นนี้ การเปลี่ยนมาใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้าย (Capita control) โดยประเทศสามารถใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ อย่างที่ประเทศมาเลเซียและสาธารณรัฐประชาชนจีนใช้ ในเวลานี้อาจมีความเหมาะสมกว่าก็เป็นได้ เพราะสามารถช่วยลดผลกระทบของความผันผวนทางเศรษฐกิจจากภายนอกที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังสามารถรักษาระดับค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นได้ (การที่ประเทศยักษ์ใหญ่ต่างๆ ได้เริ่มใช้นโยบายทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงแทรกแซงค่าเงินของตนนั้น อาจทำให้ค่าเงินบาทที่ถูกกำหนดจากตลาดในเวลานี้ไม่ใช่ระดับที่เหมาะสมกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทย)

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของประเทศไทยจะปรับตัวอย่างไรกับการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของค่าเงินบาทที่เกิดขึ้น และถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ผู้กำหนดนโยบายของประเทศจะหันมาพิจารณาทบทวนการใช้นโยบาย Export led growth ว่ายังเหมาะสมกับประเทศไทยอยู่หรือไม่? บางทีอาจถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะหันกลับมาใช้นโยบายที่เน้นการพึ่งพาตนเองมากขึ้น และ/หรือให้ความสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศภายในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นกว่าเป็นอยู่ เพื่อลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่เกิดขึ้นในเวลานี้

ด้วยพื้นที่ของบทความที่มีจำกัด ผมขออนุญาตนำเสนอข้อกังวลอื่นๆ ในบทความฉบับหน้า และสุดท้ายนี้ ผมในนามตัวแทนของผู้เขียนบทความประจำคอลัมน์ทันเศรษฐกิจของอาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านประสบความสุขสวัสดีตลอดปี พ.ศ. 2554 นี้ด้วยครับ

*"วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ผ่านพ้นและการดำเนินโยบายเศรษฐกิจต่อไปของประเทศไทย" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 ม.ค. 2554