Monday, February 7, 2011

กระแสมาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้าย*

แม้ปีพ.ศ. 2554 จะเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่ก็เพียงพอที่ทำให้เห็นถึงความรุนแรงของกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยได้หลุดระดับ 1000 จุดได้อย่างง่ายดาย จากความวิตกกังวลของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในหลายๆ ประเทศ และจากข่าวการปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินของธนาคารกลางจีน เพื่อป้องกันภาวะฟองสบู่ที่กำลังเกิดขึ้น ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 31 บาท ที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางการไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ ที่มาจากปัจจัยที่เกิดขึ้นภายนอกประเทศไทย และได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความผันผวนทางการเงินและความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งผมเองได้เขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

ในบทความที่แล้ว (3 ม.ค. 54) ผมได้กล่าวถึง การใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้าย (Capita control) ของประเทศไทย ซึ่งอาจมีความเหมาะสมภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนอย่างรุนแรงดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จริงๆ แล้ว กระทรวงการคลังเพิ่งได้ยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% สำหรับเงินได้จากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายพันธบัตรที่ถือโดยนักลงทุนต่างประเทศในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหวังว่าจะสามารถช่วยลดความผันผวนของค่าเงิน แต่จากการเคลื่อนย้ายทุนออกจากประเทศอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปีนี้ อาจแสดงให้เห็นว่า มาตรการที่ออกมาแล้วดังกล่าว คงไม่เพียงพอที่จะสกัดความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้

การใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายได้รับการยอมรับและสนับสนุนในปัจจุบัน จากนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกและจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำประเทศกลุ่ม G-20(ในเดือนพฤษจิกายน 2553 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้) ว่าเป็นมาตรการหรือเครื่องมือที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ที่จะช่วยบริหารหรือควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนซึ่งมีความผันผวนแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค และยังช่วยลดปัญหาภาวะฟองสบู่ในภาคสินทรัพย์ (Asset price bubble) รวมถึงช่วยป้องกันหรือบรรเทาวิกฤตทางการเงินได้

เมื่อวันจันทร์ที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์กว่า 250 ท่าน ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและนอกประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึง ศาสตราจารย์ Joseph Stiglitz แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้รับรางวัลโนเบิลในสาขาเศรษฐศาสตร์ (ปี ค.ศ. 2001) ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึก(*) ถึงนางฮิลลารี คลินตัน (Hillary R. Clinton) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายทิมโมธี เกทเนอร์ (Timothy F. Geithner) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งสหรัฐอเมริกา และนายรอน เคิร์ค (Ronald “Ron” Kirk) ผู้แทนการค้าแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ยกเลิกข้อกำหนดที่เคยกำหนดไว้ในข้อตกลงทางด้านการค้าเสรีและในข้อตกลงทางด้านการลงทุนที่เคยจำกัดไม่ให้ประเทศคู่ความตกลง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ความตกลงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา) ใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายได้ มิเช่นนั้นแล้ว นักลงทุนต่างชาติ (นักลงทุนสหรัฐ) ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้าย จะสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้

กระแสการสนับสนุนและเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกายอมรับการใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายของประเทศกำลังพัฒนาในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่นประเทศไทย จำเป็นจะต้องมีทางเลือกของเครื่องมือหรือมาตรการที่ใช้ในการบริหารเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้ การเลือกใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายจำเป็นต้องถูกพิจารณาอย่างรอบคอบถึงประโยชน์ และผลเสียที่จะเกิดขึ้น มิเช่นนั้นแล้ว การใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายโดยไม่จำเป็น อาจเป็นอันตรายต่อประสิทธิของการจัดสรรทรัพยากรทุน และสร้างปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงขึ้น หากประเทศต่างๆ หันมาใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายระหว่างกัน หรือหากการใช้มาตรการทุนเคลื่อนย้ายมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ค่าเงินของประเทศอ่อนกว่าที่ควรเป็น ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงเงื่อนไขที่จำเป็นของการใช้มาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้ายในโอกาสถัดไป

อ้างอิง:
* http://www.ase.tufts.edu/gdae/policy_research/CapCtrlsLetter.pdf

* "กระแสมาตรการควบคุมทุนเคลื่อนย้าย"ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 7 ก.พ. 2554