Monday, April 4, 2011

เรียนรู้จากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น*

เมื่อวันที่ 24-25 มีนาคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้จัดการประชุมคณะมนตรียุโรป (European Council) ที่กรุงบรัสเซลส์ โดยมีมติในหลายเรื่อง* เช่น การมีมติในข้อตกลง EURO Plus Pact การประนามและเรียกร้องให้ผู้นำลิเบีย พันเอกกัดดาฟี (Kadhafi) ออกจากอำนาจโดยทันที จากการใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง จนก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชน และที่สำคัญคณะมนตรียุโรปได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจและยืนยันการให้ความช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่นจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในครั้งนี้ ทั้งนี้ได้มีข้อสรุปจากที่ประชุมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น ซึ่งยังไม่สามารถควบคุมสารกัมมันตรังสีที่ยังรั่วไหลออกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในวันนี้ ผมจะขอกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวกับข้อสรุปที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นก่อนเป็นลำดับแรก

คณะมนตรียุโรปได้กล่าวถึงความสำคัญที่สหภาพยุโรปจะต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ปัญหาวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น และได้เสนอให้ทบทวนในเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกโรงที่อยู่ในสหภาพยุโรป โดยเสนอให้มีการประเมินผลในด้านความปลอดภัย โดยการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress tests) จากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งคณะมนตรียุโรปได้มอบหมายให้ European Nuclear Safety Regulatory Group (ENSREG)** และคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เป็นผู้พัฒนาวิธีการและกำหนดขอบเขตของการทดสอบโดยเร็ว ทั้งนี้ได้กำหนดให้มีการจัดทำรายงานผลการทดสอบเบื้องต้นภายในสิ้นปีค.ศ. 2011 นี้ (การทดสอบภาวะวิกฤตที่จะเกิดขึ้นนี้ น่าจะเป็นการทดสอบภายใต้ข้อกำหนดหรือสถานการณ์ที่เข้มกว่าที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency, IAEA) ได้กำหนดไว้ในปัจจุบัน)

สำหรับปัญหาวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นที่ชัดเจนว่า ทุกครั้งปัญหาเกิดขึ้นไม่เฉพาะในประเทศที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบเป็นวงกว้างอีกด้วย โดยคณะมนตรียุโรปได้กล่าวถึงประเด็นนี้อย่างชัดเจน ซึ่งหนึ่งในข้อสรุปที่ได้จากที่ประชุมคือ สหภาพยุโรปจะเรียกร้องและผลักดันให้ประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ของสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ ที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งอยู่หรือมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้น จะต้องทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress tests) ในด้านระบบความปลอดภัย และรายงานให้สาธารณะชนได้รับทราบอย่างเปิดเผย เฉกเช่นเดียวกันกับที่กำลังจะใช้ทดสอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

เหตุผลที่ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเนื่องจาก แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปัจจุบัน หรือแม้แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ (ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในเวลา โอกาสที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นในประเทศไทยคงเป็นไปได้ยาก) แต่เมื่อพิจารณาประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ไม่ไกล อาทิเช่น จีน อินเดีย ที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่แล้ว โดยจีนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว 11 แห่ง อินเดียมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว 20 แห่ง หรือประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่าง เวียดนาม หากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แม้โอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยมากก็ตาม หรือแม้แต่หากเกิดความผิดพลาดของมนุษย์ (Human errors) ที่ควบคุม แล้วสร้างปัญหาวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้น ประเทศไทยที่แม้จะไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งอยู่ ก็คงไม่คลาดแคล้วต้องเผชิญกับปัญหานิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหาวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่อย่างใด

การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงไม่ใช่แค่เพียงกิจการภายใน (Domestic affairs) ของแต่ละประเทศ ที่ต้องเสนอโครงการเพื่อขอรับการอนุมัติจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แต่เพียงเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ที่อยู่โดยรอบ ก็อาจได้รับผลกระทบจากการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยเช่นเดียวกัน ตามนิยามทางเศรษฐศาสตร์แล้ว เราเรียกผลกระทบอันเกิดจากการผลิตหรือการบริโภคของบุคคล (ประเทศ) หนึ่งที่มีต่อบุคคล (ประเทศ) อื่น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงในการผลิตหรือการบริโภคนั้นว่า ผลกระทบภายนอก (Externality) ซึ่งในกรณีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้จะเป็นผลกระทบภายนอกเชิงลบ (Negative externality) นั่นเอง

การแก้ไขปัญหาผลกระทบภายนอกในทางเศรษฐศาสตร์สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเก็บภาษีหรือการเก็บเงินจากประเทศผู้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่ากับต้นทุนส่วนเพิ่มของความเสียหายของผลกระทบภายนอกที่จะเกิดขึ้น (Marginal external cost) ซึ่งแน่นอน แม้โอกาสของการเกิดปัญหาจะมีไม่มากนัก แต่หากเกิดปัญหาขึ้น มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะสูงจนไม่สามารถประมาณค่าได้ ดังนั้นการใช้วิธีการเก็บภาษีหรือการเก็บเงินจากผู้ผลิต จึงไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหานี้ที่ดี

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ในทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจ ได้แก่ การออกสิทธิ (Property right) ให้แต่ละประเทศมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะอยู่ได้โดยปลอดภัยจากกัมมันตภาพรังสี ซึ่งหากประเทศไทยมีสิทธิดังกล่าว จะสามารถห้ามมิให้ประเทศอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กับประเทศไทยสร้างหรือมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ ถ้าหากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นสามารถมีผลกระทบในเชิงลบต่อประเทศไทย ประเทศที่ต้องการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องเจรจาต่อรองจนกว่าประเทศไทย (หรือประเทศผู้รับผลกระทบ) จะมั่นใจถึงความปลอดภัยและอนุญาตให้มีการสร้างหรือมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้

การออกสิทธิแก่ทุกประเทศให้สามารถอยู่ได้โดยปลอดภัยจากกัมมันตภาพรังสี จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่อาจนำมาใช้ควบคู่กับกับการขออนุมัติโครงการจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มกฎเกณฑ์ในเรื่องความปลอดภัยให้เข้มกว่าที่เป็นอยู่ ในลักษณะเดียวกันกับ มติคณะมนตรียุโรปที่ผลักดันให้เกิดการทดสอบภาวะวิกฤตทางด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในครั้งนี้

หมายเหตุ
* มติที่ประชุมคณะมนตรียุโรปที่ผ่านมา สามารถดูได้จาก
http://www.consilium.europa.eu/uedocs/cms_data/docs/pressdata/en/ec/120296.pdf
** European Nuclear Safety Regulatory Group เป็นหน่วยงานอิสระที่ถูกจัดตั้งโดยคณะกรรมาธิการยุโรปในปี ค.ศ. 2007 โดยมีวัตถุประสงค์ในการวางระเบียบและข้อบังคับในด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์และการกำจัดกากกัมมันตภาพรังสีของสหภาพยุโรป

*"เรียนรู้จากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 4 เม.ย. 2554