Monday, June 6, 2011

นโยบายหาเสียงที่ไร้ความรับผิดชอบ*

สำหรับนโยบายหาเสียงต่างๆ ที่ประกาศออกมาในช่วงเวลานี้ เราได้เห็นพรรคเพื่อไทยประกาศจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ให้เหลือแค่ 23% ในปีหน้า แล้วจึงลดลงเหลือ 20% ในปี พ.ศ. 2556 พรรคภูมิใจไทยประกาศลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากปัจจุบันที่คิดอยู่ 7% ลงมาเหลือ 5% สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ดูแล้วมีความระมัดระวังในการประกาศนโยบายมากกว่าพรรคอื่น ก็ประกาศแต่เพียงกว้างๆว่า จะปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น โดยไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่าจะทำได้อย่างไร

จริงๆ แล้ว หลายๆ นโยบายหาเสียงที่ถูกประกาศออกมานั้น เป็นนโยบายที่ดีที่รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนก็ตาม ก็สมควรผลักดันให้เกิดขึ้น ดังเช่นที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความอย่างต่อเนื่องถึงความสำคัญและจำเป็นของประเทศที่จะต้องดำเนินการปฎิรูประบบภาษี ตัวอย่างเช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราภาษีที่จัดเก็บค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่นๆ ภายในภูมิภาคโดยเฉลี่ย (เช่น สิงคโปร์มีอัตราภาษีที่ 17%) ซึ่งทำให้เราค่อนข้างมีความเสียเปรียบประเทศอื่นๆ ในฐานะประเทศผู้รับการลงทุน การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะช่วยให้ประเทศไทยไม่เสียเปรียบประเทศอื่นๆ ได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะรีบดำเนินการให้เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลย่อมมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ โดยหากประเมินคร่าวๆ แล้ว การปรับลดอัตราภาษีจนเหลือ 20% อาจส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีได้สูงถึง 1 แสนล้านบาทกันเลยทีเดียว

ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีหลายนโยบายหาเสียงที่ดูแล้ว ไม่น่าจะเป็นนโยบายที่เหมาะสมนัก เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อมที่จัดเก็บจากการบริโภค มีความเป็นธรรมในแง่ที่ใครบริโภคมากก็จ่ายภาษีมาก ใครบริโภคน้อยก็จ่ายภาษีน้อย ผู้บริโภคจะหนีภาษีชนิดนี้ได้ยาก และยังสามารถจัดเก็บง่าย นอกจากนี้ยังมีข้อที่ดีกว่าภาษีทางตรงที่จัดเก็บจากรายได้ในปัจจุบัน ที่มีข้อยกเว้นหรือข้อลดหย่อนทางด้านภาษีมากมาย จนกลายเป็นช่องโหว่ทางด้านภาษี ที่ช่วยให้ผู้มีรายได้มากไม่ต้องจ่ายภาษีมาก (หรือในอัตราที่สูง) อย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นหากว่ากันตามหลักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์การคลังแล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีจากการบริโภค เป็นภาษีที่ดีและควรจัดเก็บภาษีประเภทนี้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของประเทศไทยที่ปัจจุบันจัดเก็บภาษีในอัตราที่ค่อนข้างต่ำกว่าที่จัดเก็บในประเทศอื่นๆ อยู่แล้วโดยเฉลี่ย (เช่น สิงคโปร์มีอัตราภาษีที่ 7% มาเลเซีย 10% ฟิลิปปินส์ 12%)

ยิ่งไปกว่านั้น หลายท่านอาจลืมไปแล้วว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงของประเทศไทย จริงๆ แล้วจะต้องจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้มีการปรับลดเป็นการชั่วคราวในอัตราร้อยละ 7 ตั้งแต่ 1 เมษายน 2542 จนถึง 30 กันยายน 2551 ที่แม้จะหมดเวลาไปแล้ว และแม้ว่าเราจะเดินผ่านวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งไปนานมากแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็ยังต่อเวลาในการลดอัตราภาษีชั่วคราวอยู่ จนดูเหมือนจะเป็นอัตราถาวรไปแล้ว นอกจากนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มนับเป็นแหล่งรายได้ภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บได้มากที่สุด โดยในปี พ.ศ. 2553 รัฐจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 5 แสนล้านบาท จากรายได้ภาษีรวมทั้งหมดประมาณ 1.77 ล้านบาท การปรับลดอัตราภาษีมูลค่าลง ย่อมส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังภาครัฐอย่างรุนแรง ดังที่นายสังธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวไว้ว่า การลดภาษีลงจากเดิม 1% รัฐจะสูญเสียรายได้ภาษี 7.5 หมื่นล้าน หากรัฐลดภาษีลงจากเดิม 2% รัฐจะสูญเสียรายได้ภาษี 1.5 แสนล้านบาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สิ่งสำคัญที่ไม่ถูกกล่าวถึงในการประกาศนโยบายลดภาษีของแต่ละพรรคการเมืองมากนัก คือ แนวทางในการชดเชยภาษีที่สูญเสียไปเพราะนโยบายลดภาษีเหล่านี้เป็นอย่างไร? หากพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายหาเสียงเหล่านี้ ไม่พยายามชี้แจงประเด็นนี้ให้ชัดเจน นโยบายหาเสียงที่ประกาศออกไปในเวลานี้ ก็อาจกลายเป็นนโยบายหาเสียงที่ไร้ความรับผิดชอบและไร้แนวทางในการปฎิบัติจริงได้

สำหรับนโยบายรายจ่ายภาครัฐ เป็นที่แน่นอนอยู่แล้ว พรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่างออกแคมเปญหาเสียงในโครงการประชานิยมต่างๆ มาอย่างมากมายไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมีทั้งนโยบายที่ดูแล้วเข้าท่า และนโยบายดูแล้วไม่เข้าท่าสักเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานโยบายที่ตั้งใจเข้าไปแทรกแซงการทำงานของกลไกตลาด (กลไกราคา) ทั้งหลาย เช่น การประกันราคาสินค้า เป็นต้น

นโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ที่ประกาศหาเสียงออกมานั้น ดูแล้วจะมีคล้ายคลึงกันคือ เป็นนโยบายลดรายได้ (ภาษี) แต่เพิ่มรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งอาจกลายเป็นนโยบายที่ขาดความรับผิดชอบต่อฐานะทางด้านการคลังของประเทศ หากนโยบายหาเสียงเหล่านี้ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริง สุดท้ายเราคงได้เห็น รัฐบาลที่เข้ามานั้น ประกาศ (เหมือนเดิม) ถึงความจำเป็นในการจัดทำงบประมาณขาดดุล โดยอ้างเหตุผลต่างๆ นาๆ ดังเช่นว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รัฐบาลจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการอภิมหาโปรเจคและโครงการอภิมหาประชานิยม ให้เกิดกระตุ้นเศรษฐกิจให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างมั่นคง เป็นต้น

การจัดทำงบประมาณขาดดุล สุดท้ายคงหนีไม่พ้นการกู้ยืมเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อขายภายในหรือภายนอกประเทศ ซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น และแน่นอนระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นนี้ ย่อมมีผลเสียบางอย่างและเพิ่มความเสี่ยงของประเทศโดยไม่สมควร ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงผลเสียและความเสี่ยงต่อประเทศเหล่านี้ในโอกาสถัดไปครับ

*"นโยบายหาเสียงที่ไร้ความรับผิดชอบ"ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 6 มิ.ย. 2554