Tuesday, July 5, 2011

รัฐบาลใหม่กับระดับหนี้สาธารณะของประเทศ*

ตามที่ผมได้กล่าวในบทความที่แล้ว หากรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาผลักดันนโยบายหาเสียงที่ได้ประกาศออกมา ทั้งนโยบายลดรายได้ (ภาษี) ภาครัฐ นโยบายเพิ่มรายจ่ายภาครัฐในโครงการอภิมหาโปรเจคและโครงการอภิมหาประชานิยมต่างๆ และเมื่อไหร่ก็ตามที่รายได้ภาครัฐจัดเก็บมีน้อยกว่ารายจ่ายที่จัดขึ้น สุดท้ายรัฐบาลก็หนีไม่พ้นการจัดทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินในอนาคตมาใช้ และเป็นการเพิ่มระดับหนี้สาธารณะของประเทศ และแน่นอนว่า ระดับหนี้สาธารณะของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ย่อมมีผลเสียบางอย่างเกิดขึ้นติดตามมา และเพิ่มความเสี่ยงของประเทศในการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตหนี้)

นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องนี้อย่างเช่น ศาสตราจารย์ Guillermo A. Calvo แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอแบบจำลองที่แสดงให้เห็นว่า ระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอาจพังลงได้ (Growth collapse) จากการหยุดชะงักทันทีของเงินทุนไหลเข้า (Sudden stop of capital inflows) ที่อาจเกิดขึ้นจากระดับหนี้สาธารณะของประเทศเข้าสู่ระดับวิกฤต (Critical level) หรือระดับที่นักลงทุนเริ่มขาดความมั่นใจว่า ประเทศจะสามารถชำระหนี้ที่ก่อขึ้นมาได้และอาจหยุดการชำระหนี้ การหยุดชะงักของเงินทุนไหลเข้าจะสร้างปัญหาการขาดสภาพคล่องและปัญหาในการหาแหล่งเงินทุนของประเทศ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญให้เศรษฐกิจชะลอตัวหรือพังลงได้

ในกรณีของประเทศไทย ระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 43 ต่อ GDP ซึ่งรัฐบาลมักกล่าวอ้างว่า เป็นระดับที่อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ ที่กำหนดให้สัดส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศนั้นได้รักษากรอบวินัยทางด้านการคลังของประเทศเป็นอย่างดีแล้ว แต่ทั้งนี้การอ้างอิงระดับหนี้สาธารณะของประเทศกับระดับหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังเช่นนี้ ผมกลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องอันตรายต่อประเทศเป็นอย่างมาก เพราะในอีกมุมหนึ่งอาจหมายความว่า รัฐบาลยังสามารถจัดทำงบประมาณขาดดุลได้อีกมาก (หากต้องการ) โดยที่ถือว่ายังรักษาวินัยทางการคลังของประเทศ ตราบเท่าที่ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศ ยังอยู่ในระดับที่ไม่เกินร้อยละ 60

คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วเราแน่ใจหรือว่า ระดับสัดส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ที่กำหนดไว้ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังในปัจจุบัน เป็นระดับที่เหมาะสมอย่างแท้จริง โดยเป็นระดับที่ปลอดภัยต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และไม่เป็นระดับวิกฤตที่ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของเงินทุนไหลเข้า ดังเช่นที่ ศาสตราจารย์ Guillermo A. Calvo กล่าวถึง ที่ผ่านมาเราได้เห็น ประเทศสเปน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในช่วงเวลานี้ มีระดับหนี้สาธารณะเพียงร้อยละ 53 ต่อ GDP ในปี ค.ศ. 2009 และร้อยละ 60 ต่อ GDP ในปี ค.ศ. 2010 ก็ยังเกิดวิกฤติหนี้ขึ้นจนได้ ดังนั้นจากเหตุการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า สัดส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ที่กำหนดไว้ที่ระดับไม่เกินร้อยละ 60 แต่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้เลยว่า จะเป็นระดับหนี้ที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ

จริงๆ แล้ว ผมเองก็มีงานศึกษาวิจัยในเรื่องนี้และพบว่าระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เหมาะสมและปลอดภัยของประเทศไทยนั้น อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับหนี้สาธารณะที่ถูกกำหนดไว้ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ผลการศึกษาที่พบ ทำให้ผมรู้สึกเป็นห่วงและรู้สึกไม่ไว้วางใจกับข้อกำหนดที่ระบุไว้ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ถูกใช้ในปัจจุบัน

ในวันนี้เราคงได้ทราบกันแล้วว่า ผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร พรรคการเมืองใดจะเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล และพรรคการเมืองใดจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในสภา ผมเองก็ได้แต่หวังลึกๆ ไว้ว่า รัฐบาลใหม่ที่เข้ามานั้น จะเป็นรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อฐานะทางการคลังของประเทศในระยะยาว โดยจะไม่ดำเนินนโยบายที่ก่อให้เกิดการสร้างหนี้สาธารณะมากกว่าที่เป็นอยู่โดยไม่จำเป็น เพราะสุดท้ายผู้ที่ต้องแบกรับภาระหนี้สาธารณะที่รัฐบาลได้ก่อขึ้น กลับไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นประชาชนชาวไทยทุกคนที่ได้ฝากประเทศให้ท่านได้ดูแลในวันนี้

ที่มา
ศาสตรา สุดสวาสดิ์ และประสพโชค มั่งสวัสดิ์ (2554) “วิกฤติหนี้กับกรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศไทย” งานวิจัยภายใต้โครงการการศึกษานโยบายเพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)

Calvo, Guillermo A. (2003) “Explaining Sudden Stops, Growth Collapse and BOP Crises: the Case of Distortionary Output Taxes,” NBER Working Paper no. 9864

*"รัฐบาลใหม่กับระดับหนี้สาธารณะของประเทศ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 4 ก.ค. 2554