Tuesday, December 6, 2011

“ดุลยพินิจ” ในการบริหารจัดการน้ำ*

ในสัปดาห์ที่แล้ว เราได้เห็นข่าวชาวนาในจังหวัดชัยนาทประท้วงไม่ให้เจ้าหน้าที่ชลประทานเข้ามาปิดประตูระบายน้ำ เพื่อผันน้ำไปช่วยชาวนาในฝั่งจังหวัดสุพรรณบุรีที่กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากขาดน้ำในการทำนา ในขณะเดียวกัน เรายังพบเห็นชาวบ้านอีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังประสบเคราะห์กรรมจากปัญหาน้ำท่วม จนไม่สามารถกลับเข้าบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาดใจว่า ทำไมพื้นที่ที่อยู่ไม่ห่างไกลกันภายในประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทย กลับพบปัญหาที่เกี่ยวกับ “น้ำ” ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนั่นอาจแสดงให้เห็นถึงปัญหาของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ที่ผ่านมา การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยเป็นเรื่อง “ดุลยพินิจ” ของผู้มีอำนาจ ซึ่งนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เองได้กล่าวยอมรับว่า ตนเป็นผู้สั่งชะลอน้ำออกจากเขื่อน เพื่อมีเวลาให้พี่น้องชาวนาได้เกี่ยวข้าว ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า รัฐบาลมีเจตนาที่ชัดเจนในการบริหารเก็บน้ำไว้เพื่อตอบสนองต่อนโยบายด้านการเกษตรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามชี้แจงเป็นอย่างมากของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ว่า การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เป็นไปตามความจำเป็นทางด้านเกษตรกรรม การบรรเทาอุทกภัย และสาธารณูปโภค แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ และได้สร้างความสูญเสียต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างที่ไม่อาจจะประมาณค่าได้

คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือ แล้วประเทศไทยจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพื่อไม่ให้เหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นซ้ำอีกในปีหน้าหรือในปีต่อๆ ไป หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำเช่นนี้อีก คงไม่สำคัญว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ต่อไปได้หรือไม่ แต่ประเทศไทย คนไทย ทั้งประเทศจะใช้ชีวิตอยู่กันต่อไปได้อย่างไร? อีกไม่นานเกินรอ เราคงได้เห็นรัฐบาลออกมาประกาศถึงแผนป้องกันน้ำท่วมของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ควบคู่ไปกับแผนการใช้เงินเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ (ซึ่งหมายถึงการก่อหนี้สาธารณะครั้งใหญ่) เพื่อใช้ในการลงทุนทางด้านการบริหารจัดการน้ำที่ถูกละเลยมานาน แต่ทั้งนี้ ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า โครงการต่างๆ ที่จะถูกนำเสนอออกมานั้น จะมีมั้ยสักโครงการที่เข้าไปแก้ไขต้นเหตุของปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ “ดุลยพินิจ” ในการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด ผมเองค่อนข้างประหลาดใจที่ไม่ค่อยเห็นใครพูดถึงการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้สักเท่าไหร่นัก ในขณะที่โครงการส่วนใหญ่ที่มักถูกกล่าวถึง จะเป็นการแก้ไขปลายเหตุของปัญหาซะมากกว่า อาทิเช่น การก่อสร้างทางระบายน้ำ การสร้างเขื่อน เป็นต้น

ตัวอย่างของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ “ดุลยพินิจ” ในการบริหารจัดการน้ำ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นนโยบายเกษตรกรรม รัฐบาลชุดนี้ได้เปลี่ยน (ยกเลิก) มาตรการประกันรายได้เกษตรกรที่ถูกผลักดันออกมาในรัฐบาลชุดที่แล้ว กลับมาใช้มาตรการรับจำนำข้าว ซึ่งผมขออนุญาตไม่เปรียบเทียบถึงข้อดีหรือข้อเสียของทั้งสองมาตรการดังกล่าว และที่ผ่านมาก็มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น ท่านอาจารย์อัมมาร สยามวาลา ก็ได้แสดงข้อคิดที่เป็นประโยชน์และแสดงความเป็นห่วงในเรื่องนโยบายเกษตรกรรมของรัฐบาลชุดนี้ไปแล้ว แต่ผมอดคิดไม่ได้ว่า สมมติถ้าหากรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เปลี่ยนกลับมาใช้มาตรการรับจำนำข้าว แต่ยังใช้มาตรการประกันรายได้เกษตรกรอยู่เหมือนเดิม ประเทศไทยจะมีโอกาสในการรอดพ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้หรือไม่?

บางที ประเทศไทยอาจมีโอกาสรอดพ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้มากขึ้น หากการใช้ “ดุลยพินิจ” ของผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการน้ำเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่ต้องคอยกังวลว่า การปล่อยน้ำจากเขื่อนในช่วงต้นฤดูจะทำให้ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ทัน หรือไม่ทันการเปิดตัวโครงการรับจำนำข้าวในปีนี้ โดยหากดุลยพินิจของผู้มีอำนาจเปลี่ยนไปเป็นการพิจารณาถึงการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะต่อประเทศไทยอย่างแท้จริงๆ ถ้าจำเป็นต้องปล่อยน้ำเขื่อนในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวก็สามารถทำได้ โดยชาวนา ชาวเกษตรกร ที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำ รัฐบาลสามารถเข้าไปชดเชยได้อย่างเต็มที่จากโครงการประกันรายได้ แต่ทั้งนี้อาจต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบเล็กน้อยในเรื่องของเงินชดเชยให้เต็มจำนวนในกรณีที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำ ซึ่งโดยรวมแล้ว จะใช้งบประมาณที่น้อยกว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ หรือแม้แต่งบประมาณลงทุนที่จะถูกนำเสนอออกมา อย่างไม่อาจเปรียบเทียบกันได้เลย

คงจะดีไม่น้อย หากรัฐบาลชุดนี้จะใจกว้างอีกสักนิด ลดทิฐิลงสักหน่อย แล้วหันกลับมาพิจารณานโยบายต่างๆ ที่ออกมาอีกสักที โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเกษตรกรรม นโยบายอันไหนที่ดีอยู่แล้วก็ดำเนินต่อไป ไม่ต้องสนใจว่าเป็นนโยบายที่ถูกผลักดันมาจากรัฐบาลชุดไหน และไม่ห่วงประชานิยมจนเกินไป ไม่แน่ครับ บางทีประเทศไทยอาจไม่ต้องกลับมาประสบภัยน้ำท่วมซ้ำแบบนี้อีกก็เป็นได้

* "“ดุลยพินิจ” ในการบริหารจัดการน้ำ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 5 ธ.ค. 2554