Monday, December 3, 2012

ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษกิจภายนอกประเทศที่สำคัญในปี พ.ศ. 2556*

ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ปี พ.ศ. 2556 ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เราลองพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมต่อปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ในปีหน้า ทั้งนี้จากรายงานที่ออกมาล่าสุดของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) (*) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund)(**) ได้มองว่า เศรษฐกิจโลกยังมีลักษณะที่อ่อนแอ โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่รวมถึงประเทศไทย ได้แก่

หนึ่ง ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่มาจาก “หน้าผาทางการคลัง” (Fiscal cliff) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านที่อาจจะไม่คุ้นว่า “หน้าผาทางการคลัง” ที่ถูกกล่าวถึงนั้นคืออะไร ผมจะขออธิบายสักเล็กน้อย ดังนี้

หน้าผาทางการคลังที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกามาจากการที่มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่เคยถูกนำมาใช้ในอดีตหลายมาตรการกำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปีนี้ เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ถูกมาใช้ในสมัยประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ในช่วงปี 2001-2003 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ถูกนำใช้ในช่วงปี 2009-2010 นอกจากนี้ กฏหมายควบคุมงบประมาณ (Budget Control Act of 2011) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดการขาดดุลงบประมาณภาครัฐและระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกา ก็กำลังจะถูกนำมาบังคับใช้ในวันที่ 2 มกราคม 2556 ซึ่งจะมีผลที่นำไปสู่การตัดลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐโดยอัตโนมัติ (Sequestration) เป็นต้น

ดังนั้น หน้าผาทางการคลังจะมีผลโดยตรงที่ทำให้อัตราภาษีที่จัดเก็บในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายตัวปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายภาครัฐถูกตัดทอนลง ซึ่งย่อมส่งผลลบต่อเศรษฐกิจที่เปราะปรางและอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา ที่ยังจำเป็นต้องการแรงผลักดันที่มาจากการใช้จ่ายภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย มองว่า หากสภาคอนเกรสของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถหาข้อสรุปที่นำไปสู่การต่ออายุมาตรการต่างๆ ออกไปได้ และจำเป็นต้องเผชิญกับหน้าผาทางการคลังดังกล่าวข้างต้น เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งในไตรมาสแรกของปี 2556 นี้

ในเรื่องนี้ ผมมองว่า สุดท้ายถึงจุดหนึ่ง (ในเร็ววันนี้) การเจรจาระหว่างพรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครต ในเรื่องวิธีการลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ (เพราะต่างก็มีนโยบายทางด้านการคลังที่ใช้ในการลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่แตกต่างกัน) ก็คงสำเร็จและนำไปสู่ข้อตกลงในระยะสั้นที่จะขยายอายุของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกไปก่อนในช่วง 1-2 ปี ซึ่งจะทำให้หน้าผาทางการคลังที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญเลื่อนเวลาออกไปหรือบรรเทาลงไปได้

สอง วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งผมมองว่า ปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปก็คงจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกยาวนาน เพราะต้นตอของปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข (ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความแตกต่างกันอย่างมากของลักษณะพื้นฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวระบบของการรวมกลุ่มประเทศยูโรโซน) แม้ว่าที่ผ่านมาในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2555 โลกจะเริ่มกลับมามีความหวังอยู่บ้าง จากการออกมาแถลงของนาย Mario Draghi ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank, ECB) ว่าจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องเงินยูโร หรือแม้แต่ความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนถาวรในการรักษาเสถียรภาพการเงิน European Stability Mechanism (ESM) ก็ตาม  

สาม การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสาธารณะประชาชนจีน และความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เปราะปรางของประเทศญี่ปุ่นก็ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจสำคัญโดยเฉพาะต่อประเทศไทย ที่มีลักษณะเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงและขึ้นอยู่กับประเทศเหล่านี้เป็นอย่างมาก

เราจึงพอมองเห็นได้ว่า ในปี พ.ศ. 2556 ที่จะมาถึงนี้ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่ค้าและคู่ลงทุนที่สำคัญของประเทศไทยเกือบทั้งหมด จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจไทยในเชิงลบที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น การดำเนินธุรกิจในปีหน้าจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออกของประเทศ ภาครัฐเองก็ควรให้ความสำคัญมากขึ้นในการช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจไทยสามารถปรับตัวและรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้น


อ้างอิง
(*) Asian Development Bank, 2012, Asia Bond Monitor (Philippines; November).

(**) International Monetary Fund, 2012, Global Financial Stability Report, World Economic and Financial Surveys (Washington; October).


*"ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษกิจภายนอกประเทศที่สำคัญในปี พ.ศ. 2556" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 ธ.ค. 2555

Monday, November 5, 2012

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2012*

ข่าวใหญ่และสำคัญที่สุดในช่วงสัปดาห์นี้ที่ทั่วโลกจับตามองคงหนีไม่พ้นเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (6 พฤษจิกายน ตามเวลาของประเทศสหรัฐอเมริกา) และการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 8 พฤษจิกายน ซึ่งจะมีการเลือกนาย สี จิ้นผิง (Xi Jinping) (รองประธานาธิบดีจีนในปัจจุบัน) เป็นผู้นำคนใหม่ของจีนต่อจากนาย หู จิ่นเทา (Hu Jintao) ในเดือนมีนาคมของปีหน้า

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ เป็นการขับเคี่ยวระหว่างนาย บารัค โอบามา (Barack Obama) ตัวแทนพรรคเดโมแครต กับนาย มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) ตัวแทนพรรครีพับริกัน มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง แต่เรื่องเล็กๆ ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยและผมอยากพูดถึงในวันนี้คือ การขึ้นมาเป็นผู้แข่งขันชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจากพรรครีพับริกันของ นาย พอล ไรอัน (Paul Ryan)

นาย พอล ไรอัน ถือได้ว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่น่าสนใจด้วยวัยเพียง 42 ปีในปัจจุบัน เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาคองเกรสที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้นด้วยวัย 28 ปี แต่บทบาทสำคัญที่ทำให้นาย พอล ไรอัน เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนนำไปสู่การได้รับเลือกเป็นตัวแทนของพรรครีพับริกันในครั้งนี้คือ การเป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณแผ่นดินของสภาคอนเกรส ซึ่งในปีที่แล้ว เขาได้นำเสนอแผนการปรับลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล โดยเน้นการปรับลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ

ตัวอย่างของแผนการลดงบประมาณรายจ่ายที่เขานำเสนอ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนระบบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล Medicare ที่เป็นระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลกลางซึ่งเน้นให้แก่ผู้สูงอายุที่มีลักษณะเป็นแบบปลายเปิด ที่ไม่มีการกำหนดเพดานวงเงินสูงสุดที่สามารถเบิกจ่ายจากรัฐได้ (สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ในลักษณะเดียวกันกับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการของประเทศไทย) ซึ่งนาย พอล ไรอัน มองว่าระบบ Medicare มีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ไม่ยั่งยืน และมีโอกาสที่จะล้มละลายได้ในอนาคต เขาได้เสนอให้เปลี่ยนมาเป็นการให้คูปอง (Voucher) ที่สามารถใช้ในการอุดหนุนการซื้อประกันสุขภาพส่วนบุคคลแทน เป็นต้น

แน่นอนที่สุด แนวทางในการปรับเปลี่ยนระบบประกันสังคมต่างๆ ที่นาย พอล ไรอัน ได้นำเสนอออกมานั้น ถูกโจมตีอย่างรุนแรงในหลายด้าน และเป็นที่เกลียดชังของผู้ที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพในปัจจุบัน (หรือแม้แต่ผู้ที่กำลังจะเข้ามาอยู่ในระบบ Medicare) แต่อย่างน้อยสิ่งดีที่เห็นได้จากตัว นาย พอล ไรอัน คือ ความกล้าที่จะนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่ยาวนาน รวมถึงภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นของประเทศ ที่มีรายละเอียดและเป็นรูปธรรม เขาได้ตอกย้ำให้คนสหรัฐอเมริกาได้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่สามารถแก้ไขด้วยการอยู่เฉย (โดยไม่ทำอะไร แล้วบอกแต่ว่า เดี่ยวเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นเมื่อไหร่ ภาระหนี้หรือการขาดดุลงบประมาณที่มีก็จะลดลงเหมือนในบางประเทศ) แต่ต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการปรับลดงบประมาณรายจ่ายบางประเภทลง

เป็นที่น่าเสียดายว่า จนถึงวันนี้บทบาทของนาย พอล ไรอัน ที่มีในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาค่อนข้างถูกจำกัดเป็นอย่างมาก พรรครีพับริกันเองสุดท้ายก็ไม่กล้าที่จะนำเสนอนโยบายลดรายจ่ายที่มีรายละเอียดมากนัก เพราะส่วนหนึ่งก็เกรงจะเสียฐานคะแนนเสียงจากชนชั้นกลางที่ยังต้องพึ่งระบบสวัสดิการรักษาพยายาลของรัฐในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าอย่างไรตาม การขึ้นมาอย่างรวดเร็วถึงจุดนี้ของนาย พอล ไรอัน ก็เป็นปรากฎการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนสหรัฐอเมริกาได้ตอบรับและให้ความสำคัญ รวมถึงต้องการเห็นการนำเสนอนโยบายต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม มีรายละเอียด สามารถทำได้จริง รวมถึงการรักษาวินัยทางการคลังของประเทศ

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แม้ในปัจจุบัน ฐานะทางการคลังของประเทศยังคงแข็งแกร่ง แต่หากมองไปข้างหน้า ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ (จากรายจ่ายในโครงการประชานิยมต่างๆ รวมถึงแผนการลงทุนสร้างอนาคต 2 ล้านล้านบาท ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกไม่ดีเช่นนี้) คงจะดีไม่น้อย หากเราได้เห็นนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ของประเทศไทย (อย่างเช่น นาย พอล ไรอัน ของประเทศสหรัฐอเมริกา) กล้าที่จะออกมานำเสนอนโยบายหรือแนวทางในการหาแหล่งรายได้รัฐเพิ่มเพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการที่ถูกนำเสนอออกมาอย่างเป็นรูปธรรม หรือแม้แต่การนำเสนอการลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบางอย่างที่ไม่จำเป็นหรือไม่มีประสิทธิภาพลง มิใช่มีเพียงแต่การนำเสนอนโยบายใช้จ่ายดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้

* "การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2012" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 5 พ.ย. 2555

Thursday, October 4, 2012

Tuesday, October 2, 2012

“SPLOST”... ตัวอย่างกฎหมายรายจ่ายลงทุนที่ประเทศไทยควรมี*

การนำเสนอโครงการรายจ่ายลงทุนที่นำไปสู่การเพิ่มภาระใหม่ให้แก่ประชาชนของประเทศที่พัฒนาแล้วในหลายๆ ที่พบว่า มีการพัฒนาไปค่อนข้างไกลมากและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่า โครงการเหล่านั้นเป็นโครงการที่คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่? ตัวอย่างที่ผมจะขอนำเสนอในวันนี้ ได้แก่ โปรแกรม SPLOST ที่ถูกนำมาใช้แล้วในรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย SPLOST เป็นคำย่อมาจาก a Special Purpose Local Option Sales Tax ซึ่งคือ การเก็บภาษีขายพิเศษ (เพิ่มเติมจากที่จัดเก็บเดิม) ที่มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินภาษีที่ได้ไปใช้ในการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่เนื่องจากเป็นการจัดเก็บภาษีพิเศษกับประชาชน โปรแกรม SPLOST จึงมีลักษณะเด่นที่สำคัญคือ โครงการลงทุนที่ถูกนำเสนอมานั้นจะต้องได้รับการเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ผ่านการออกเสียงประชามติ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องนำเสนอถึงระยะเวลาในการจัดเก็บภาษีขายพิเศษที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี (ถ้าเกินกว่านี้ ก็จะต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชนในการขยายเวลาของโครงการอีกครั้งหนึ่ง) และรายละเอียดของโครงการลงทุนต่างๆ ที่นำเงินไปใช้ เพื่อให้ประชาชนสามารถพิจารณาถึงประโยชน์และต้นทุนของโครงการลงทุนที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง

โปรแกรม SPLOST ถูกผ่านมาออกเป็นกฎหมายในปี ค.ศ. 1985 และถูกนำมาใช้แล้วหลายครั้งด้วยกัน(*) ซึ่งล่าสุดที่พึ่งผ่านการออกเสียงประชามติ ณ วันที่ 31 กรกฏาคมที่ผ่านมา ได้แก่ กฎหมายการลงทุนในระบบขนส่งของรัฐจอร์เจียที่ถูกนำเสนอออกมาในปี ค.ศ. 2010 (the 2010 Transportation Investment Act หรือ T-SPLOST) ทั้งนี้เนื่องจาก มูลค่ารายจ่ายทางด้านระบบขนส่งต่อหัวประชากรของรัฐจอร์เจียอยู่ในระดับที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา (ยกเว้นรัฐเทนเนซซี) ซึ่งทำให้ระบบขนส่งของรัฐจอร์เจียค่อนข้างล่าช้าและตามหลังรัฐอื่นๆ เป็นอย่างมาก รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐจอร์เจียจึงได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนทางด้านระบบขนส่ง ที่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนใหม่เป็นจำนวนมาก รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐจอร์เจียจึงได้เสนอให้มีการเก็บภาษีขายพิเศษเพิ่มขึ้นจากเดิมในอัตราร้อยละ 1% เพื่อใช้ในการไฟแนนซ์โครงการลงทุนเหล่านั้น โดยมีระยะเวลาของการดำเนินโปรแกรมไม่เกิน 10 ปี ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 20,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 6 แสนล้านบาท) ในช่วงระยะเวลา 10 ปีดังกล่าว

แม้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นของรัฐจอร์เจียจะมองเห็นถึงความสำคัญจากการลงทุนเพียงใด ผลของการออกเสียงประชามติที่เกิดขึ้นกลับปรากฎว่า ใน 9 จาก 12 เขตพื้นที่ของรัฐจอร์เจีย ประชาชนส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงไม่รับกฎหมายการลงทุนในระบบขนส่งฉบับนี้ แต่ที่น่าแปลกใจคือ ในพื้นที่เมือง Atlanta (เมืองหลวงของรัฐจอร์เจีย) ซึ่งน่าจะเป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุน ประชาชนในพื้นที่กว่า 63% ของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงกลับลงคะแนนเสียงคัดค้านกฎหมายการลงทุนในระบบขนส่งฉบับนี้ เพราะส่วนหนึ่งมองว่าการลงทุนในระบบขนส่งหลายโครงการที่นำเสนอมีมูลค่าที่สูงเกินไป และไม่คุ้มค่าเงินภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม

ทั้งนี้ไม่ว่าผลของการออกเสียงประชามติจะเป็นเช่นใด สิ่งที่ดีที่สุดที่เห็นจากโปรแกรม SPLOST คือ ประชาชนได้เป็นผู้ตัดสินใจเองในโครงการลงทุนที่จำเป็นต้องใช้เงินนอกเหนือไปจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล ซึ่งประชาชนจะต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์และต้นทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการลงทุนที่ถูกนำเสนออย่างรอบคอบ หากประโยชน์ที่ได้รับมีมากกว่ารายจ่ายภาษีขายที่เพิ่มขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะลงมติสนับสนุนโครงการ แต่ถ้าไม่ ผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่ปรากฎให้เห็นในครั้งนี้ รัฐบาลท้องถิ่นของจอร์เจียจะต้องนำข้อเสนอกลับไปทบทวนหรือพิจารณาใหม่ แล้วค่อยนำกลับไปเสนอให้แก่ประชาชนตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งในอนาคต

หากมองกลับมาที่ประเทศไทยก็จะพบกับความเหมือนและความแตกต่างกันบางอย่างกับตัวอย่างของรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐจอร์เจียข้างต้น รัฐบาลไทยเองก็เช่นเดียวกันได้มองเห็นถึงความสำคัญในการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและกำลังเร่งผลักดันแผนการลงทุนในโครงการสร้างอนาคตประเทศด้วยวงเงินกว่า 2.27 ล้านล้านบาท ที่อาจนำไปสู่การก่อหนี้สาธารณะครั้งใหม่ของประเทศที่อาจสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท แต่สิ่งที่แตกต่างคือ รัฐบาลไทยไม่ได้นำเสนอถึงวิธีการและระยะเวลาในการชำระหนี้สาธารณะที่ก่อขึ้นจากการลงทุนในครั้งนี้ การนำเสนอโครงการลงทุนที่เกิดขึ้นจึงเป็นการนำเสนอด้านเดียวคือ ในด้านผลประโยชน์ของโครงการ แต่ในด้านต้นทุนของโครงการที่เกิดขึ้นอาจสามารถกล่าวได้ว่าถูกละเลยไปอย่างสิ้นเชิง

ด้วยลักษณะของการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เช่นนี้ อาจทำให้ประชาชนไม่ได้ตระหนักถึงต้นทุนที่แท้จริงของโครงการที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การลงทุนของภาครัฐที่มากจนเกินไป ไม่คุ้มค่า และไม่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศ รัฐบาลเองก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อหนี้ใหม่ที่ได้ก่อขึ้น เพราะสามารถใช้วิธีการผลักภาระไปให้กับคนรุ่นหลังต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นในช่วงเวลานี้ จึงอาจมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่ประเทศไทยควรต้องมีกฎหมายที่คล้ายๆ กับกฎหมาย SPLOST ที่บังคับให้ภาครัฐนำเสนอข้อมูลอย่างครบถ้วนสำหรับโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนที่นอกเหนือไปจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยปกติให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งอาจรวมไปถึงการให้อำนาจแก่ประชาชนด้วยการออกเสียงประชามติในการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนที่ต้องเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายหรือพรบ. กู้เงินพิเศษ อาทิเช่น “ท่านจะลงมติสนับสนุนโครงการลงทุนสร้างอนาคตประเทศไทย 2.27 ล้านล้านบาท ที่ใช้วิธีการไฟแนนซ์ด้วยการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมที่จัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 มาเป็นอัตราร้อยละ 10 เป็นระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ไปหรือไม่?”


หมายเหตุ
(*) รายละเอียดเพิ่มเติมของโปรแกรม SPLOST สามารถอ่านได้จาก
 http://www.accg.org/library/SPLOST_guidebook.pdf

 * "“SPLOST”... ตัวอย่างกฎหมายรายจ่ายลงทุนที่ประเทศไทยควรมี" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 1 ต.ค. 2555

Monday, September 10, 2012

Monday, August 6, 2012

โครงการสร้างอนาคตประเทศ 2.27 ล้านล้านบาท??*

แผนการลงทุนในโครงการสร้างอนาคตประเทศด้วยวงเงินกว่า 2.27 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลกำลังผลักดันออกมานั้น เกี่ยวข้องกับการก่อหนี้สาธารณะครั้งใหม่ของประเทศที่อาจสูงถึง 1.6-2.0 ล้านล้านบาทกันเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้ มีหลายประเด็นที่สมควรถูกกล่าวถึง แต่ในวันนี้ ผมขอยกเพียงสองประเด็นที่สำคัญก่อน คือ

หนึ่ง โครงการลงทุนส่วนใหญ่ที่ถูกนำเสนอออกมานั้น เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ อาทิเช่น การลงทุนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง หรือการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการที่ดีต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว คงไม่มีนักวิชาการท่านไหนออกมาแย้งรัฐบาลว่า โครงการเหล่านี้ไม่สมควรจะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ประเด็นที่รัฐบาลควรจะพิจารณามากกว่านี้ คือ การจัดลำดับความสำคัญของโครงการ กล่าวคือ แม้ทุกโครงการที่ถูกนำเสนอจะเป็นโครงการที่ดี แต่ก็ไม่จำเป็นที่ทุกโครงการจะต้องถูกผลักดันออกมาให้ได้ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยโครงการไหนที่มีลำดับความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศน้อยก็อาจต้องรอไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดภาระทางการคลังที่มากจนเกินไปกับประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะพิจารณาต่อไปว่า ยังมีวิธีการอื่นอีกหรือไม่? ที่โครงการลงทุนเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีการก่อหนี้ใหม่ อาทิเช่น นโยบายประชานิยมที่ถูกผลักดันออกมาอย่างมากมายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในช่วงที่ผ่านมา หลายโครงการออกมาโดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเป็นหลัก แต่กลับทำลายระบบการทำงานของกลไกตลาด รวมถึงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย อาทิเช่น นโยบายการรับจำนำสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในแต่ละปีหลายแสนล้านบาท หากสามารถยกเลิกโครงการที่สร้างความเสียหายต่อระบบตลาด หรือหากรัฐบาลสามารถลดรายจ่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพลงได้บ้าง ก็จะสามารถประหยัดงบประมาณในแต่ละปีได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งงบประมาณที่ประหยัดได้เหล่านี้ก็สามารถนำมาใช้ลงทุนในโครงการสร้างอนาคตประเทศไทย โดยไม่ต้องใช้วิธีการก่อหนี้ใหม่เพิ่ม

สอง ที่มาของการกำหนดวงเงินลงทุน 2.27 ล้านล้านบาทนั้น มาได้อย่างไร? เป็นที่น่าสังสัยว่า ตัวเลขนี้อาจมาจากการพิจารณาระดับหนี้สาธารณะขั้นสูงสุดที่สามารถก่อใหม่ได้และยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ เพราะหลายหน่วยงานภาครัฐ (อาทิเช่น ท่านรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ได้ออกมากล่าวถึงแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านบาทว่า หากดำเนินการได้ตามแผน หนี้สาธารณะจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 58 ต่อ GDP ซึ่งเป็นระดับที่บังเอิญ (?) จะใกล้เคียงกันกับระดับหนี้สาธารณะขั้นสูงที่กำหนดไว้ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้สัดส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60

ตัวเลขของระดับหนี้สาธารณะที่ใกล้เคียงกันนี้ เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญหรือความตั้งใจของผู้กำหนดนโยบายกันแน่? หากเป็นความบังเอิญที่ตัวเลขใกล้เคียงกัน ก็คงน่ากังวลน้อยกว่าหากเป็นความตั้งใจของผู้กำหนดนโยบาย เพราะอย่างน้อยวงเงินของแต่ละโครงการลงทุนที่ถูกนำเสนอให้พิจารณาในตอนนี้ คงใกล้เคียงกันกับความต้องเงินลงทุนที่ต้องใช้ในโครงการที่แท้จริง แต่ถ้าหากว่า ตัวเลขการก่อหนี้สาธารณะใหม่ที่เกิดขึ้นนี้เป็นความตั้งใจของผู้กำหนดนโยบายที่จงใจเล่นกับตัวเลข โดยมีเป้าหมายให้เงินลงทุนที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงสุด แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบ (หรือกฎ) ทางการคลังที่มี ประเทศไทยคงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ที่มีผู้กำหนดนโยบายที่แสวงหาประโยชน์จากกรอบของกฎหมายที่มีอยู่ในการกำหนดนโยบายรายจ่ายของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการก่อหนี้สาธารณะซึ่งจะกลายเป็นภาระผูกพันกับประเทศในระยะยาว

ผมเองได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งในสื่อต่างๆ และในเวทีสัมมนาวิชาการว่า สัดส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ที่กำหนดไว้ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศที่ไม่เกินร้อยละ 60 แต่เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถรับประกันได้เลยว่า ประเทศไทยจะมีฐานะทางการคลังที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำให้ประเทศไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ บทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ที่ผ่านมา อาทิเช่น ประเทศสเปน ซึ่งมีระดับหนี้สาธารณะเพียงร้อยละ 53 ต่อ GDP ในปี ค.ศ. 2009 แต่ก็ยังเป็นประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในช่วงเวลานี้ หรือแม้แต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ประเทศไทยเองก็มีระดับหนี้สาธารณะเพียงประมาณร้อยละ 15 ต่อ GDP ในปีค.ศ. 1996 และในปีค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ระดับหนี้สาธารณะได้เพิ่มขึ้นเกินหนึ่งเท่าตัวไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 40.2 ต่อ GDP และปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนไปสู่ระดับสูงสุดที่ร้อยละ 57.2 ในปี ค.ศ. 2001

ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นสูงจากเดิมมากในยามที่ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและการเข้าแบกรับภาระหนี้เอกชนของภาครัฐบาล ดังนั้น การพิจารณาถึงระดับหนี้สาธารณะที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับประเทศในยามที่ไม่มีปัญหาเศรษฐกิจ ควรต้องเผื่อความเสี่ยงของระดับหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเข้าไปด้วย ผลจากงานศึกษาที่ผ่านมาพบว่า(*) ระดับหนี้สาธารณะที่เหมาะสมของประเทศที่ควรใช้กำหนดเป็นกรอบทางการคลังภายใต้เงื่อนไขของประเทศในปัจจุบันไม่ควรเกินร้อยละ 40-45 ต่อ GDP ดังนั้นการที่ผู้กำหนดนโยบายมักกล่าวถึงระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบันว่า นโยบายการคลังที่ออกมานั้นได้รักษาวินัยการคลังของประเทศเป็นอย่างดี จริงๆแล้ว ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้เลยว่า ประเทศไทยมีฐานะทางการคลังที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่แผนการลงทุนในโครงการสร้างอนาคตประเทศด้วยวงเงินกว่า 2.27 ล้านล้านบาทที่กำลังถูกผลักดันออกมานั้น รัฐบาลควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงทางเลือกต่างๆ ในการลงทุนที่ก่อให้เกิดภาระกับประเทศน้อยที่สุด นอกจากนี้ สังคมควรต้องติดตามในโครงการนี้อย่างใกล้ชิด เพราะจะเกี่ยวข้องกับเงินลงทุนเป็นจำนวนมากที่มาจากการกู้ยืม หากเกิดผิดพลาดไป แล้วเกินความสามารถของประเทศในการชำระคืนได้ โครงการสร้างอนาคตประเทศก็อาจเปลี่ยนเป็นโครงการทำลายอนาคตประเทศก็เป็นได้
อ้างอิง
(*) ศาสตรา สุดสวาสดิ์ และประสพโชค มั่งสวัสดิ์ (2555) “ระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยกับวิกฤติหนี้” วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 มีนาคม

*" โครงการสร้างอนาคตประเทศ 2.27 ล้านล้านบาท??" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 6 ส.ค. 2555

Tuesday, July 3, 2012

วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรป… ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข*

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมได้เขียนบทความต่อเนื่องหลายตอนลงในหนังสือพิมพ์โพสท์ ทูเดย์เรื่องปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรป(1) โดยผมได้ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดของระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในกลุ่ม Eurozone ที่มีการใช้นโยบายทางการเงินและสกุลเงินร่วมกัน แต่ล้มเหลวที่จะบังคับให้ประเทศสมาชิกดำเนินการรักษาพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงฐานะทางการคลังให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่ตั้งไว้ ซึ่งได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการวิกฤติหนี้ภาคยุโรปในครั้งนี้ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยไปหลายปีแล้วก็ตาม วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปก็ยังวนเวียนอยู่ และดูเหมือนว่าจะไม่มีทางจบสิ้นลงได้ ซ้ำร้ายปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้กลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและขยายวงกว้างขึ้นจากประเทศกรีซจนไปถึงประเทศสเปน (และอิตาลี) รัฐบาลไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดทำ Daily report ติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่แล้วท่านรมว. กระทรวงการคลังยังได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนการรับมือวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรป(2) หากเกิดผลกระทบกกับประเทศไทย อาทิเช่น ในกรณีที่เกิดวิกฤติตลาดหุ้นรุนแรง ก็จะมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นเพื่อรองรับ หรือการเตรียมใช้เงินคงคลังที่มี 5.5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับความผันผวนและปัญหาการขาดสภาพคล่อง (หากเกิดขึ้น) เป็นต้น

แต่สิ่งที่ผมยังรู้สึกไม่สบายใจที่สุดในเรื่องปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรป คือ แม้เวลาจะผ่านจากจุดเริ่มต้นไปนานมากแล้ว วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ตรงจุดที่ตรงต้นตอของปัญหา (ที่เกิดจากระบบการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน) นอกจากปัญหาที่เกิดจากระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีข้อผิดพลาด ดังที่ผมได้กล่าวข้างต้นแล้ว สาเหตุของปัญหาอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซนได้ใช้ประโยชน์จากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศเป็นจำนวนมาก และผลักดันให้ราคาสินค้า (รวมถึงเงินเฟ้อ) และค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น จนเกินกว่ารายได้เพิ่มที่เกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัยการผลิตนั้น (Marginal revenue product) ซึ่งทำให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปโดยที่ไม่สามารถใช้กลไกของอัตราแลกเปลี่ยนในการปรับตัวได้ (เนื่องจากใช้สกุลร่วมกันกับประเทศอื่นๆ) สุดท้ายฟองสบู่ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็แตก

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่างนาย พอล ครุกแมน (Paul Krugman) ก็ได้แสดงความคิดเห็นถึง วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซ ในหนังสือพิมพ์ New York Times ในเดือนที่แล้วว่า(3) แม้จะได้รัฐบาลภายใต้การนำของนาย Antonis Samaras ที่สนับสนุนการเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปและพร้อมนำมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังมาใช้ แต่แค่นั้นก็คงไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศกรีซสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้ด้วยตนเอง โดยนาย พอล ครุกแมน มองว่าหนทางในการแก้ไขปัญหานี้ต้องกลับไปแก้ที่พฤติกรรมของธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) และประเทศยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมันนี นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็พึ่งออกรายงานที่เรียกร้องให้ประเทศในกลุ่มยูโรโซนแสดงความมุ่งมั่นต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายการเงินร่วมกันที่สมบูรณ์มากขึ้น ด้วยการจัดทำระบบการธนาคารร่วมกัน (ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและจำเป็นของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และควรเกิดขึ้นโดยทันที) และการจัดทำนโยบายทางการคลังร่วมกัน (Fiscal integration) ที่มีการกำกับดูแลดีขึ้น (Better governance) และมีการแบ่งรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น (More risk sharing) ทั้งนี้การดำเนินโยบายทางการคลังร่วมกัน (แม้อาจใช้เวลานาน แต่ก็ควรมีแผนการดำเนินงาน) อาจเริ่มต้นจากการจัดทำข้อกำหนดต่างๆ ในเรื่องหนี้ของแต่ละประเทศ (อาทิเช่น ข้อจำกัดในการออกตราสารหนี้ระยะสั้น และข้อจำกัดในเรื่องระดับหนี้) หรือแม้แต่การให้อำนาจแก่สหภาพยุโรปในการคัดค้านการจัดทำงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลในแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยลดแนวโน้มการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งที่จะส่งผลลบต่อประเทศสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มยูโรโซนได้

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความที่ผ่านมา อนาคตของกลุ่มยูโรโซนที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้ส่วนหนึ่งขึ้นกับว่า สหภาพยุโรปจะมีวิธีการอย่างไรในการจำกัดอธิปไตยของแต่ละประเทศสมาชิกในการกำหนดนโยบายของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางด้านการคลัง หากสหภาพยุโรปยังไม่กล้าที่จะพิจารณาในเรื่องนี้ร่วมกันอย่างจริงจังเหมือนเช่นที่ผ่านมา และมัวแต่โต้แย้งถึงข้อกำหนดในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินระยะสั้นแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาเพียงเท่านั้น ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปก็จะไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อเป็นเช่นนั้น ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปก็คงไม่สามารถจบลงได้ และเราคงได้เห็นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปค่อยๆ ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ที่เหลือในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็อาจช้าเกินไปแล้วที่สหภาพยุโรปจะสามารถรักษาสกุลเงินยูโรให้คงอยู่ต่อไปได้


อ้างอิง

(1) ผู้อ่านสามารถติดตามบทความย้อนหลังได้ที่ http://sasatra.blogspot.com

(2) http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20120625/458362/ตั้งกองทุนพยุง-ดึงเงินคงคลัง-สู้วิกฤตหนี้ยุโรป.html

(3) http://www.nytimes.com/2012/06/18/opinion/krugman-greece-as-victim.html?partner=rssnyt&emc=rss

(4) http://www.imf.org/external/pubs/ft/survey/so/2012/CAR062112A.htm


* "วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรป… ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข"ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 2 ก.ค. 2555



Tuesday, June 5, 2012

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556*

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ได้กำหนดงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ในขณะที่มีประมาณการรายได้ที่ 2.1 ล้านล้านบาท ดังนั้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจึงเป็นงบประมาณแบบขาดดุล 3 แสนล้านบาท (ลดลงจากปีงบประมาณที่แล้ว 1 แสนล้านบาท) ถึงแม้ว่าในวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรจะได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ในวาระที่ 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณารายละเอียดโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ถูกแต่งตั้งขึ้น ก่อนที่จะถูกนำเสนอให้แก่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ในวาระที่ 2 ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม แต่ผมก็ยังมีประเด็นที่กังวลเกี่ยวกับการรักษาวินัยทางการคลังของรัฐบาลในหลายเรื่อง ซึ่งวันนี้ ผมจะขอกล่าวถึงเพียงสองประเด็นก่อน คือ

หนึ่ง ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จะเป็นปีที่หนี้รัฐบาลและวิสาหกิจถึงกำหนดครบชำระคืนต้นเงินกู้เป็นจำนวนมาก (ไม่นับรวมหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ) โดยหนี้รัฐบาลที่ครบชำระคืนในปีนี้เป็นต้นเงินสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท แต่งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้เพื่อชำระเงินคืนต้นเงินกู้ในส่วนนี้กลับมีเพียง 2.4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้หากพิจารณาถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐบาลเคยตั้งไว้เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ในแต่ละปีจะพบว่า มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 2 ของงบประมาณรายจ่ายรวมทั้งหมด (ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท) การจัดสรรงบประมาณเพื่อคืนต้นเงินกู้จึงไม่มีความสัมพันธกับมูลค่าหนี้ที่ครบชำระคืนในแต่ละปี ในขณะเดียวกัน รัฐบาลที่เข้ามาส่วนใหญ่มักมีการก่อหนี้ใหม่ในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เช่น ในปีงบประมาณ 2556 วงเงินกู้ (ซึ่งคือหนี้ใหม่) เฉพาะในส่วนที่อยู่ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีสูงถึง 3 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงก่อให้เกิดข้อกังวลหรือความสงสัยว่า การจัดทำงบประมาณเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ที่ไม่สัมพันธกับต้นเงินกู้ที่ครบชำระและมูลค่าหนี้ใหม่ที่ก่อขึ้นในแต่ละปีแบบนี้ ประเทศจะยังสามารถรักษาวินัยทางการคลังและความสามารถของการชำระคืนเงินกู้ในระยะยาวได้จริงหรือ?

สอง การออก พ.ร.ก. กู้เงินพิเศษไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศไทย พ.ศ. 2555 ที่ออกโดยรัฐบาลชุดนี้ 3.5 แสนล้านบาท หรือแม้แต่ พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ที่ออกโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว 4 แสนล้านบาท โดยไม่ต้องนำมาเกี่ยวข้องผูกผันกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเช่นนี้ อาจเป็นภัยทางการคลัง (Fiscal risks) ที่ส่งผลร้ายแรงต่อประเทศได้ในระยะยาว เพราะการออกพ.ร.ก. กู้เงินพิเศษเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงการอยู่ภายใต้กฎการคลัง (Fiscal rules) ต่างๆ ที่มีอยู่ได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2552 กำหนดให้ รัฐบาลสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และไม่เกินร้อยละ 80 ของงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อชำระคืนเงินต้น ซึ่งในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 รัฐบาลจะสามารถกู้เงินสูงสุดเพื่อชดเชยการขาดดุลได้สูงสุดไม่เกิน 5.19 แสนล้านบาท ดังนั้นหากพิจารณาเฉพาะร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐบาลได้ตั้งวงเงินกู้ไว้ 3 แสนล้านบาท แม้จะดูเหมือนว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากรอบวงเงินกู้สูงสุดภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ แต่หากเรานำเงินกู้พิเศษที่ออกมาในต้นปีนี้ 3.5 แสนล้านบาท (คิดเฉพาะพ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉินฯ ไม่นับรวม พ.ร.ก. กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 อีก 5 หมื่นล้านบาท) มาคิดรวมด้วยก็จะพบว่า วงเงินกู้รวมที่รัฐบาลชุดนี้ได้ก่อขึ้นในช่วงปีนี้สูงกว่าวงเงินกู้สูงสุดที่กำหนดไว้ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลเป็นวงเงินมหาศาลที่เกิดขึ้นนี้ แม้ว่าจะสามารถทำได้ภายใต้กฎหมายในปัจจุบัน แต่ก็คงยากที่จะปฏิเสธได้ว่า มีการใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมาย ซึ่งจะไม่สามารถทำได้หากอยู่ภายใต้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยปกติ และอาจเป็นอันตรายต่อฐานะทางการคลังของประเทศได้ในระยะยาว ดังนั้นช่องโหว่ของกฎหมายเหล่านี้จึงสมควรถูกกำจัดให้หมดไป และกฎการคลังที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนทางการคลังของประเทศในระยะยาวควรถูกแก้ไขให้ครอบคลุมถึงเงินกู้พิเศษต่างๆ ที่สามารถออกมาได้ แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า กฎการคลังที่ควรเป็นนั้นจะไม่มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจของประเทศ การอัดฉีดงบประมาณเพื่อกระตุ้นหรือแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในยามฉุกเฉินยังสามารถทำได้ เพียงแต่การจัดทำงบประมาณพิเศษเหล่านี้ควรต้องอยู่ภายใต้กฎการคลังที่ได้นำปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่างๆ มาใช้ประกอบในการพิจารณา ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงเรื่องนี้ต่อในโอกาสถัดไปครับ


*"ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 4 มิ.ย. 2555

Tuesday, May 8, 2012

ร่างกฎหมาย Paying a Fair Tax Share Act of 2012*

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007 นาย Warren Buffet มหาเศรษฐีของโลกได้กล่าวในงานเลี้ยงเพื่อระดมทุนในการเลือกตั้งเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตว่า ปัจจุบันเขาเสียอัตราภาษีเพียงร้อยละ 17.7 ของรายได้ (อย่างถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งต่ำกว่าอัตราภาษีที่เลขานุการของเขาที่เสียในอัตราร้อยละ 30 สิ่งที่นาย Warren Buffet ได้กล่าวมาในวันนั้น ได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีถึงความไม่เป็นธรรมของระบบภาษีที่ไม่สามารถทำให้ผู้ที่มีรายได้มาก (หรือผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายภาษีสูง) เสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย (หรือผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายภาษีต่ำ) ได้

ความล้มเหลวของระบบภาษีดังกล่าว ดูเหมือนจะถูกตอกย้ำอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในปลายปีนี้จากพรรครีพับลิกัน นาย Mitt Rommey ได้เปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีที่ผ่านมา โดยเขาและภรรยาจ่ายอัตราภาษีที่แท้จริงเพียงร้อยละ 13.9 ของรายได้ในปี ค.ศ. 2010 และร้อยละ 15.4 ในปี ค.ศ. 2011 ทั้งนี้ตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีกำไรส่วนเกินทุน (Capital gains tax) เช่น กำไรที่ได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์สำหรับการลงทุนที่มีระยะเวลาเกิน 1 ปีในอัตราร้อยละ 15 ในขณะที่อัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับมาจากเงินเดือนนั้น ขั้นสูงสุดที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่อัตราร้อยละ 35 (ภายใต้กฎหมายลดอัตราภาษีที่ออกมาโดยประธานาธิบดี George W. Bush ในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งประธานาธิบดี Barack Obama ได้ต่ออายุกฎหมายฉบับนี้ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้) ดังนั้นภายใต้กฎหมายในปัจจุบัน ทั้งนาย Warren Buffet และนาย Mitt Rommey ซึ่งมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการลงทุน จึงเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนเป็นส่วนใหญ่

ปัญหาของระบบภาษีที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดเฉพาะในกรณีของ นาย Warren Buffet และนาย Mitt Rommey แต่เพียงเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกล้วนประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน ประเทศไทยเองก็ยังไม่มีการจัดเก็บภาษีกำไรส่วนเกินทุน (Capital gains tax) ถึงแม้ในปีที่แล้วจะมีความพยายามนำเสนอให้มีการจัดเก็บภาษี Capital gains แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ นักลงทุนที่มีรายได้หรือกำไรอย่างมหาศาลจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ยังคงไม่ต้องเสียภาษี นอกจากนี้ รายได้จากเงินปันผลหรือดอกเบี้ยเงินฝาก นักลงทุนก็สามารถเลือกจ่ายภาษีในอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 และร้อยละ 15 ตามลำดับ ซึ่งอาจเป็นอัตราภาษีที่ต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่นักลงทุนนั้นต้องจ่าย ดังนั้นเราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ระบบภาษีในปัจจุบันของประเทศไทย ยังมีลักษณะที่ล้มเหลว (ตามหลักการภาษีที่ดี) โดยขาดความเป็นธรรม (Fairness) ที่ผู้มีรายได้มากสามารถจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าได้

หนึ่งในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมของระบบภาษีดังกล่าว ดูเหมือนจะเริ่มถูกนำเสนอและผลักดันในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดี Barack Obama ได้นำเสนอร่างกฎหมาย Paying a Fair Tax Share Act of 2012 ออกมา (หรือที่ถูกเรียกว่า “the Buffet Rule”) แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยลดการขาดดุลงบประมาณที่เกิดขึ้น แต่ก็ถูกกล่าวถึงว่าสามารถช่วยบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมของระบบภาษีที่มีอยู่เดิมได้ โดยกำหนดให้ผู้ที่มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย (Adjusted gross income) หลังหักเงินบริจาคเพื่อการกุศล จะต้องจ่ายภาษีส่วนเพิ่ม (Surtax) (เพิ่มเติมไปจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีอื่นๆ ที่ยังคงต้องจ่ายอยู่) ในส่วนของรายได้ที่เหลือเกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นต้นไป ในอัตราขั้นต่ำร้อยละ 30 (แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักในหลายเรื่อง เช่น ผู้ที่มีรายได้สูงและจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 30 อยู่แล้ว ก็จะไม่ถูกกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงอาจทำให้เกิดการบิดเบือนจากการลงทุนขึ้น)

แม้ว่าในวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ถูกนำเสนอในสภาสูงของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผลปรากฎว่า สมาชิกสภาสูงที่ให้การสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้มีเพียง 51 เสียง จากทั้งหมด 100 เสียง ซึ่งไม่เพียงพอ (ต้องการเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 3 ใน 5 หรือ 60 เสียง) ที่จะทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่กระบวนการจัดทำกฎหมายต่อไปได้ แต่ประเด็นความไม่เป็นธรรมของระบบภาษีในปัจจุบันก็ยังคงอยู่ และก็จะกลายเป็นประเด็นร้อนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในปีนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในครั้งนี้ ทั้งนาย Barack Obama จากพรรคเดโมแครต กับนาย Mitt Rommey จากพรรครีพับลิกัน ต่างมีนโยบายภาษีที่เรียกว่าตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เช่น นาย Barack Obama จะผลักดันนโยบายไปในแนวทางเดียวกันกับร่างกฎหมาย Paying a Fair Tax Share Act of 2012 ที่ออกมา โดยจะไม่ต่ออายุกฎหมายลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ออกมาโดยประธานาธิบดี George W. Bush ออกไปอีก (สิ้นสุดเดือนธันวาคมปีนี้) อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดจะถูกปรับเพิ่มกลับมาที่ร้อยละ 39.6 (จากปัจจุบันที่อัตราร้อยละ 35) นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่จะเพิ่มอัตราภาษี Capital gains tax จากร้อยละ 15 มาเป็นร้อยละ 20 ในขณะที่ นาย Mitt Rommey เสนอให้มีการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกอัตราลงจากอัตราเดิมร้อยละ 20 และจะเพิ่มข้อยกเว้นสำหรับการจัดเก็บภาษี Capital gains tax เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยไม่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้

แม้ว่านโยบายที่ออกมาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งจะมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อใช้ในการหาเสียง แต่ก็น่าดีใจไม่น้อยที่ปัญหาความไม่เป็นธรรมของระบบภาษีจะไม่ถูกซุกเก็บไว้อีกต่อไป และเมื่อใดก็ตามที่สังคมมองเห็นและให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากขึ้น ผมเชื่อว่า แรงกดดันจากสังคมจะช่วยผลักดันให้ผู้กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะนักการเมือง ต้องเร่งนำเสนอนโยบายที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมของระบบภาษีที่มีมาอย่างยาวนานนี้ได้อย่างแน่นอน


*"ร่างกฎหมาย Paying a Fair Tax Share Act of 2012" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 7 พ.ค. 2555

Monday, April 2, 2012

รายจ่ายภาษี (Tax expenditure) ที่ไม่ควรถูกมองข้าม*

ดูเหมือนว่าในช่วงเวลานี้ รัฐบาลได้เริ่มตระหนักถึงผลของมาตรการต่างๆ ที่กำลังถูกเร่งผลักดันออกมานั้น จะทำให้รายได้ภาษีที่รัฐสามารถจัดเก็บลดลงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจากอัตราร้อยละ 30 มาที่อัตราร้อยละ 23 ในปีนี้ และอัตราร้อยละ 20 ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในปี พ.ศ. 2555 ประมาณ 45,000 ล้านบาท (ไม่นับรวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับค่าแรง ที่จะทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งซึ่งไม่สามารถปรับตัวได้ ต้องออกจากธุรกิจไป) การยกเว้นภาษีบ้านหลังแรกหรือรถคันแรก การออกมาตรการช่วยเหลือทางภาษีเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วม และการหารายได้มาชดเชยภาษีน้ำมันดีเซลที่ส่งผลกระทบต่อรายได้อีกประมาณเดือนละ 9 พันล้านบาท (หรือปีละประมาณ 81,000 ล้านบาท) คงเป็นเรื่องที่น่าหนักใจไม่น้อยสำหรับหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงการคลังที่จะต้องเร่งนำเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีต่างๆ ที่รัฐบาลสามารถรับได้ เพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่หายไปในส่วนนี้

หากพูดถึงการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศไทย คงมีหลายเรื่องที่น่าจะพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นการปรับภาษีสรรพาสามิต ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือแม้แต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ในวันนี้ ผมขอกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของรายจ่ายภาษี (Tax expenditure) ซึ่งคือรายได้ภาษีที่รัฐสูญเสียไปจากการดำเนินมาตรการในรูปแบบของการให้การยกเว้นหรือการลดหย่อนทางภาษี โดยในแต่ละปีรัฐมีรายจ่ายภาษีที่สูงมาก แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากรัฐบาลในการพิจารณาปรับลดสักเท่าไหร่นัก

จากรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 มีข้อมูลรายจ่ายภาษีที่น่าสนใจ โดยประเทศไทยสูญเสียรายได้จากการยกเว้นภาษีเฉพาะรายในรูปแบบต่างๆ ในปีงบประมาณ 2555 สูงถึง 283,959 ล้านบาท (หากพิจารณากันให้ถูกต้องแล้ว รายจ่ายภาษีที่เกิดขึ้นจริงจะสูงกว่านี้มาก เพราะต้องรวมถึงค่าลดหย่อนทางภาษีอื่นๆ เช่น ค่าลดหย่อนทางภาษีสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาคิดรวมในรายงานฉบับนี้) ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว (กว่าร้อยละ 98) เป็นผลมาจากการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน ที่ให้การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีศุลกากรแก่กิจการ ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่ายว่ารายจ่ายภาษีหรือรายได้ภาษีที่สูญเสียไปของประเทศไทยนั้นมีขนาดมากน้อยเพียงใด ผมขออนุญาตนำตัวเลขในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 มาประกอบ โดยรัฐมีประมาณการรายได้สุทธิ 1.98 ล้านล้านบาท มาจากรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 254,000 ล้านบาท และรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล 599,800 ล้านบาท เราจะเห็นได้ว่า รายได้ภาษีที่รัฐสูญเสียไปนั้นสูงกว่ารายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่รัฐสามารถจัดเก็บได้ทั้งปี และถ้าหากคิดเป็นสัดส่วนรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่สูญเสียไปต่อรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมดที่ควรจัดเก็บได้พบว่า สูงถึงร้อยละ 32 กันเลยทีเดียว

ในรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลังฉบับดังกล่าว ยังได้ประเมินถึงประโยชน์หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับจากการยกเว้นภาษีเฉพาะรายในรูปแบบต่างๆ โดยจะก่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 85,188 ล้านบาท (คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 30 ของรายได้ภาษีที่รัฐสูญเสียไปในปี 2555) การจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น 56,223 คน (มูลค่าการขาดรายได้ที่รัฐสูญเสียต่อจำนวนการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมีค่าประมาณ 5 ล้านบาทต่อคน) และทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17

จริงๆ แล้วจากตัวเลขดังกล่าวคงไม่เพียงพอที่จะตอบได้ว่า ประเทศไทยได้รับประโยชน์คุ้มค่าจากการยกเว้นภาษีเฉพาะรายในรูปแบบต่างๆ หรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ปราฎสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า รัฐได้สูญเสียรายได้ภาษีที่ควรจัดเก็บได้เป็นจำนวนมหาศาล ในขณะที่ประโยชน์ที่ได้รับนั้นกลับยังดูไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า การยกเว้นภาษีเฉพาะราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมาตรการส่งเสริมการลงทุน จะไม่มีความสำคัญหรือสมควรถูกยกเลิกไปทั้งหมด ตามทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ การใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนก็มีความสมเหตุสมผล หากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมสามารถก่อให้เกิด หนึ่ง การถ่ายทอดความรู้ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ (Knowledge spillovers/Transfer of technology) แก่ผู้ประกอบการอื่นๆ ภายในประเทศ ซึ่งหลักการนี้จะสอดคล้องกับที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยควรเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต และนำเสนอมาตรการจูงใจทางภาษีแก่บริษัทต่างๆ ที่ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา สอง แรงจูงใจให้กิจการเข้าไปลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย (ที่ต้องการรับการพัฒนาเป็นอย่างมาก) และก่อให้เกิดการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในพื้นที่โดยในกรณีนี้ ผลของการส่งเสริมการลงทุนจะสามารถช่วยกระจายความเจริญทางอุตสาหกรรม (Industrial decentralization) ไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และ สาม การแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้ผู้ประกอบการต่างๆ เร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและแข่งขันผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายเพื่อสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น

การยกเว้นภาษีเฉพาะรายในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะที่เกิดจากมาตรการส่งเสริมการส่งลงทุนนั้น จึงควรกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมโดยพิจารณาจากผลประโยชน์ที่แท้จริงที่ประเทศจะได้รับจากการลงทุนนั้นเป็นสำคัญ ไม่ใช่ด้วยการกำหนดเป้าหมายที่พิจารณาจากมูลค่าเม็ดเงินลงทุนที่เข้ามาหรือจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมแต่เพียงเท่านั้น คงจะดีไม่น้อยหากการนำเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีต่างๆ ที่จะถูกนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไปนั้น ครอบคลุมไปถึงการลดรายจ่ายภาษี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยอย่างคุ้มค่า

*"รายจ่ายภาษี (Tax expenditure) ที่ไม่ควรถูกมองข้าม" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 2 เม.ย. 2555

Monday, February 6, 2012

สบายใจได้จริงหรือ? กับการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ*

การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านๆ บาทที่ออกมานั้น โดยการออก พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ. 2555 ที่รัฐบาลได้กำหนดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นพาหนะในการชำระหนี้ และมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งทำหน้าที่ในการบริหารจัดการหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แต่เพียงเท่านั้น ทั้งนี้ แหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในการชำระหนี้นั้นจะมาจาก หนึ่ง การเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์ โดยจะเก็บค่าธรรมเนียมจากเงินนำส่งไม่เกินร้อยละ 1 ของฐานเงินฝาก (ในกรณีที่ต้องการเก็บเต็มเพดาน) จากเดิมที่ค่าธรรมเนียมนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 0.4 สอง เงินผลประโยชน์จากบัญชีทุนสำรองเงินตรา รวมถึงสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และสาม กำไรสุทธิของธปท.

ข้อสรุปของวิธีการชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุด ได้สร้างความสบายใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงรัฐบาล โดย ธปท. ก็สบายใจ ที่ยังสามารถรักษาวินัยทางการเงินไว้ได้ ซึ่งรวมถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเป็นอิสระและไม่ต้องใช้การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อใช้ในการชำระหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังก็สบายใจ ที่จะไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยที่ผ่านมา ภาระดอกเบี้ยจ่ายในแต่ละปีสูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาท เมื่อคิดรวมดอกเบี้ยจ่ายของหนี้ก้อนหนี้ที่ผ่านมาทั้งหมด กระทรวงการคลังได้ชำระไปแล้วเป็นเงินกว่า 6.7 แสนล้านบาท และเมื่อดอกเบี้ยจ่ายที่เคยเป็นภาระทางงบประมาณของกระทรวงการคลังหรือรัฐบาลหายไป (จากการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์) ภาระหนี้ต่องบประมาณของก็จะลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลก็สบายใจ ที่จะสามารถก่อหนี้สาธารณะครั้งใหม่ได้ โดยยังสามารถรักษาวินัยทางการคลังที่ถูกกำหนดไว้ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังไว้ได้ (เช่น กำหนดให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ60 และภาระหนี้ต่องบประมาณกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 15)

แม้ว่าทุกหน่วยงานภาครัฐจะสบายใจกับแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ออกมาในครั้งนี้ ผมเองกลับมีข้อกังวลใจและเป็นห่วงในหลายเรื่อง ซึ่งวันนี้ ผมขอกล่าวถึงข้อกังวลใจในสามประเด็นก่อน

หนึ่ง หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะที่รัฐบาล (ในอดีต) ได้ก่อขึ้น (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือความจำเป็นอะไรก็แล้วแต่) การใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ด้วยวิธีการผลักภาระหนี้ที่รัฐบาลก่อขึ้นด้วยการบังคับให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ เป็นวิธีการที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ? เพราะท้ายที่สุด ธนาคารพาณิชย์ก็คงไม่ใช่ผู้รับภาระค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นแต่เพียงผู้เดียว ภาระที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่คงถูกผลักกลับมาให้กับประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากที่ประชาชนจะได้รับลดลง หรือดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่ประชาชนก็ทำหน้าที่เป็นผู้จ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลอยู่แล้ว หรือกล่าวได้ว่า ประชาชนได้ทำหน้าที่จ่ายภาษีให้แก่ภาครัฐไปแล้ว แต่เมื่อภาครัฐต้องการใช้เงินมากกว่ารายรับที่ตนมีจนจำเป็นต้องไปก่อหนี้สาธารณะขึ้น แทนที่รัฐบาลจะใช้วิธีการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงหรือวิธีการหารายได้เพิ่ม กลับโยนภาระการชำระหนี้ของตนไปยังธนาคารพาณิชย์และประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลดูจะไม่มีความรับผิดชอบกับหนี้สินที่ตัวเองได้เคยก่อขึ้นกันเสียเลย

นอกจากนี้ การใช้วิธีการชำระหนี้ของรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่ปกติเช่นนี้ (แทนที่จะทำผ่านระบบการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี) ในอนาคตจะกลายเป็นแนวทางหรือบรรทัดฐานที่รัฐบาลต่อๆไปเลือกใช้หรือไม่? ถ้าหากรัฐบาลสามารถก่อหนี้ได้โดยหลีกเลี่ยงการเป็นภาระผูกพันทางงบประมาณ จนสามารถก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นไปได้เรื่อยๆ แม้จะดูเหมือนว่า รัฐบาลยังสามารถรักษากรอบวินัยทางการคลังไว้ได้ แต่เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการขาดวินัยหรือความรับผิดชอบในการสร้างหนี้และชำระหนี้ของรัฐบาล สถานะทางการคลังของประเทศไทยที่แท้จริงคงอยู่ในอันตราย และอาจพัฒนาจนเป็นต้นตอของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ก็เป็นได้

สอง การใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ด้วยวิธีการเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันทางการเงินในครั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า จะสามารถชำระหนี้เงินต้นได้หมดภายในเวลาประมาณ 25 ปี (ซึ่งอาจจะเร็วกว่านั้น หากฐานเงินฝากในระบบเพิ่มขึ้น) โดยหากค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1% ธปท. จะสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้ประมาณ 77,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาจ่ายดอกเบี้ยได้ 50,000 ล้านบาท และเงินต้นได้ 27,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงช่วงเวลาที่ใช้ในการชำระหนี้จนหมด ซึ่งค่อนข้างยาวนาน (25 ปี) กับอัตราดอกเบี้ยจ่ายในปัจจุบันที่นับว่าค่อนข้างต่ำเมื่อพิจารณาทั้งช่วงระยะเวลา 25 ปี หากอัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเมื่อใด ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นจากหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก็จะเพิ่มสูงขึ้น และก็อาจเป็นไปได้ว่า ดอกเบี้ยจ่ายจะเกินค่าธรรมเนียมที่ ธปท. สามารถจัดเก็บได้ หรือระยะเวลาในการชำระหนี้เงินต้นจนหมดจะเกินกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้แต่แรก ดังนั้นแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้น ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และรัฐบาลจะมีวิธีในการบริหารจัดการอย่างไร ในการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูได้จนหมด?

สาม ระยะเวลาที่ใช้ในการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่คาดการณ์ไว้นานถึง 25 ปีนั้น เป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนานจนเกินไปหรือไม่? เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ประเทศไทยจะไม่ประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ขึ้นมาอีก เพราะถ้าหากเกิดขึ้น รัฐบาลก็คงมีความจำเป็นที่จะต้องก่อหนี้ในลักษณะเดียวกันกับหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่เกิดจากเข้ารับภาระหนี้จากภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนของรัฐบาล ในขณะที่หนี้เก่าก็ยังไม่หมดสิ้น ซึ่งจากข้อมูลที่พบในงานศึกษาที่ผ่านมา(*) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1970-2009 โอกาสที่ประเทศกำลังพัฒนาจะประสบปัญหาวิกฤติหนี้ภายนอกประเทศสูงถึงร้อยละ 25.3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉลี่ยจะประสบปัญหาวิกฤติหนี้ 1 ครั้งในทุก 4 ปี กันเลยทีเดียว

ถ้าหากรัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ อย่างแท้จริง (ไม่ใช่มีความตั้งใจแต่เพียงการหากทางออกในการก่อหนี้ใหม่เท่านั้น) ระยะเวลาที่ใช้ในการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ควรถูกปรับลดให้สั้นลงกว่านี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อม หากต้องเผชิญและต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนับวันจะยิ่งมีความรุนแรงและรวดเร็วกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต

ที่มา
(*) ศาสตรา สุดสวาสดิ์ และประสพโชค มั่งสวัสดิ์ (2554) “วิกฤติหนี้กับกรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศไทย” งานวิจัยภายใต้โครงการการศึกษานโยบายเพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)

*"สบายใจได้จริงหรือ? กับการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 6 ก.พ. 2555

Tuesday, January 3, 2012

ต้อนรับปีใหม่กับปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ*

แม้ว่าปี พ.ศ. 2554 พึ่งจะผ่านพ้นไป และเรากำลังอยู่ในเทศกาลแห่งความสุข ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองต้อนรับปี พ.ศ. 2555 แต่ดูแล้วการเริ่มต้นปีใหม่ปีนี้ของประเทศไทย น่าจะเริ่มต้นด้วยความวุ่นวายจากปัญหาที่เรื้อรังและยาวนานทางด้านการเงินการคลังของประเทศ นั่นคือ ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institution Development Fund, FIDF) ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งหรือวิกฤตสถาบันทางการเงินในช่วงปี พ.ศ.2540 ที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังเข้าไปช่วยแบกรับภาระของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยการออกพันธบัตร FIDF 1-3 เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2541-2545) รวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งในวันนี้ ยอดหนี้ FIDF ยังคงเหลือประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงแปลกใจว่า เพราะเหตุใด เวลาผ่านไปเกิน 10 ปี ยอดหนี้ FIDF ถึงได้ลดลงจากเดิมเพียงเล็กน้อย เพียงประมาณ 2 แสนล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยต้องจ่ายดอกเบี้ยไปแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจาก ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ได้มีข้อตกลงร่วมระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลังที่กำหนดให้ หนี้ FIDF ธปท. จะเป็นผู้ชำระคืนเงินต้น และกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชำระดอกเบี้ย ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก มีการมองว่า ธปท. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินปีที่เกิดขึ้นในตอนนั้น (จากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด โดยการเข้าปกป้องค่าเงินบาท) แต่ทั้งนี้ ธปท. จะสามารถชำระเงินต้นได้ ก็ต่อเมื่อผลการดำเนินงานของ ธปท. ในปีนั้นมีกำไร ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ก็ไม่ค่อยมีกำไรที่จะไปจ่ายคืนเงินต้นได้ หนี้ FIDF จึงไม่ค่อยลดลง ในขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ได้กลายเป็นภาระทางงบประมาณที่กระทรวงการคลังต้องแบกรับภาระในแต่ละปีที่สูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาท หนี้ FIDF จึงได้กลายเป็นปัญหาระหว่าง ธปท. กับกระทรวงการคลังมาอย่างยืดเยื้อและยาวนาน

โดย ธปท. มองว่า หนี้ที่เกิดขึ้นก้อนนี้เป็นหนี้ภาครัฐ จากการที่รัฐบาลในสมัยนั้นเข้าไปรับประกันหนี้ของสถาบันการเงิน ผ่านกลไกของรัฐซึ่งคือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ นอกจากนี้ ธปท. ก็ไม่ได้มีเงินหรือกำไรที่จะสามารถนำไปใช้ในการชำระคืนเงินต้นได้ หากจะให้ ธปท. รับผิดชอบ ก็อาจจะต้องใช้วิธีการพิมพ์เงิน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่อวินัยทางการเงินของประเทศ หรือการทำให้ทุนของ ธปท. ติดลบเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำลายความน่าเชื่อถือของ ธปท. ในขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง ก็มองว่ายอดหนี้ก้อนนี้ ธปท. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่เดิม แต่ถ้าหากกระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้ชำระคืนเงินต้น ก็คงไม่พ้นต้องทำผ่านระบบงบประมาณ ซึ่งจะมีผลทำให้ Fiscal space หรือ งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เหลือหลังจากตัดรายจ่ายที่ไม่สามารถตัดได้แล้วลดน้อยลง และถ้าหากรัฐบาลไม่ยอดลดรายจ่ายในโครงการต่างๆ ลง ก็จะทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลร้ายแรงต่อการรักษาวินัยทางการคลังของประเทศ

ที่ผ่านมา มีผู้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไว้อย่างมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปใดๆ ได้ แต่เกือบทันทีที่ปัญหามหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 จบสิ้นลง ที่ประชุมครม. ในวันที่ 27 ธันวาคม ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะโอนภาระหนี้สินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ กระทรวงการคลัง ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการรวบรวมความเห็นเพื่อเสนอกลับมาที่ ครม.อีกครั้งในสัปดาห์นี้ (4 มกราคม)

การที่รัฐบาลมีมติหรือตัดสินใจเช่นนี้ก็สามารถเข้าใจได้โดยง่าย เพื่อเป็นการลดหนี้สาธารณะของประเทศที่มีอยู่เดิมลงจากที่อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 41 มาที่ร้อยละ 30 ของ GDP หลังจากนั้น รัฐบาลก็จะสามารถก่อหนี้สาธารณะก้อนใหม่ที่ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศเดิม เพื่อใช้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน ในการลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตประเทศและวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญในช่วงเวลานี้

แต่ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ครม. สามารถตัดสินใจมีมติเห็นชอบโดยหลักการที่จะโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้แก่ ธปท. ได้โดยง่าย ก่อนที่จะทำการศึกษาหรือบอกได้ว่า ธปท. จะใช้วิธีการชำระหนี้อย่างไร และวิธีการดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อประเทศน้อยกว่าการเลือกที่จะโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไปให้แก่ กระทรวงการคลัง ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรักษาวินัยทางการเงินการคลังของประเทศไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
 
 
*"ต้อนรับปีใหม่กับปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 2 ม.ค. 2555