Monday, February 6, 2012

สบายใจได้จริงหรือ? กับการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ*

การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านๆ บาทที่ออกมานั้น โดยการออก พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ. 2555 ที่รัฐบาลได้กำหนดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นพาหนะในการชำระหนี้ และมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งทำหน้าที่ในการบริหารจัดการหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แต่เพียงเท่านั้น ทั้งนี้ แหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในการชำระหนี้นั้นจะมาจาก หนึ่ง การเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์ โดยจะเก็บค่าธรรมเนียมจากเงินนำส่งไม่เกินร้อยละ 1 ของฐานเงินฝาก (ในกรณีที่ต้องการเก็บเต็มเพดาน) จากเดิมที่ค่าธรรมเนียมนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 0.4 สอง เงินผลประโยชน์จากบัญชีทุนสำรองเงินตรา รวมถึงสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และสาม กำไรสุทธิของธปท.

ข้อสรุปของวิธีการชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุด ได้สร้างความสบายใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงรัฐบาล โดย ธปท. ก็สบายใจ ที่ยังสามารถรักษาวินัยทางการเงินไว้ได้ ซึ่งรวมถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเป็นอิสระและไม่ต้องใช้การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อใช้ในการชำระหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังก็สบายใจ ที่จะไม่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยที่ผ่านมา ภาระดอกเบี้ยจ่ายในแต่ละปีสูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาท เมื่อคิดรวมดอกเบี้ยจ่ายของหนี้ก้อนหนี้ที่ผ่านมาทั้งหมด กระทรวงการคลังได้ชำระไปแล้วเป็นเงินกว่า 6.7 แสนล้านบาท และเมื่อดอกเบี้ยจ่ายที่เคยเป็นภาระทางงบประมาณของกระทรวงการคลังหรือรัฐบาลหายไป (จากการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์) ภาระหนี้ต่องบประมาณของก็จะลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลก็สบายใจ ที่จะสามารถก่อหนี้สาธารณะครั้งใหม่ได้ โดยยังสามารถรักษาวินัยทางการคลังที่ถูกกำหนดไว้ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังไว้ได้ (เช่น กำหนดให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ60 และภาระหนี้ต่องบประมาณกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 15)

แม้ว่าทุกหน่วยงานภาครัฐจะสบายใจกับแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่ออกมาในครั้งนี้ ผมเองกลับมีข้อกังวลใจและเป็นห่วงในหลายเรื่อง ซึ่งวันนี้ ผมขอกล่าวถึงข้อกังวลใจในสามประเด็นก่อน

หนึ่ง หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะที่รัฐบาล (ในอดีต) ได้ก่อขึ้น (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือความจำเป็นอะไรก็แล้วแต่) การใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ด้วยวิธีการผลักภาระหนี้ที่รัฐบาลก่อขึ้นด้วยการบังคับให้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ เป็นวิธีการที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ? เพราะท้ายที่สุด ธนาคารพาณิชย์ก็คงไม่ใช่ผู้รับภาระค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นแต่เพียงผู้เดียว ภาระที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่คงถูกผลักกลับมาให้กับประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากที่ประชาชนจะได้รับลดลง หรือดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่ประชาชนก็ทำหน้าที่เป็นผู้จ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลอยู่แล้ว หรือกล่าวได้ว่า ประชาชนได้ทำหน้าที่จ่ายภาษีให้แก่ภาครัฐไปแล้ว แต่เมื่อภาครัฐต้องการใช้เงินมากกว่ารายรับที่ตนมีจนจำเป็นต้องไปก่อหนี้สาธารณะขึ้น แทนที่รัฐบาลจะใช้วิธีการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงหรือวิธีการหารายได้เพิ่ม กลับโยนภาระการชำระหนี้ของตนไปยังธนาคารพาณิชย์และประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลดูจะไม่มีความรับผิดชอบกับหนี้สินที่ตัวเองได้เคยก่อขึ้นกันเสียเลย

นอกจากนี้ การใช้วิธีการชำระหนี้ของรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่ปกติเช่นนี้ (แทนที่จะทำผ่านระบบการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี) ในอนาคตจะกลายเป็นแนวทางหรือบรรทัดฐานที่รัฐบาลต่อๆไปเลือกใช้หรือไม่? ถ้าหากรัฐบาลสามารถก่อหนี้ได้โดยหลีกเลี่ยงการเป็นภาระผูกพันทางงบประมาณ จนสามารถก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นไปได้เรื่อยๆ แม้จะดูเหมือนว่า รัฐบาลยังสามารถรักษากรอบวินัยทางการคลังไว้ได้ แต่เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการขาดวินัยหรือความรับผิดชอบในการสร้างหนี้และชำระหนี้ของรัฐบาล สถานะทางการคลังของประเทศไทยที่แท้จริงคงอยู่ในอันตราย และอาจพัฒนาจนเป็นต้นตอของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ก็เป็นได้

สอง การใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ด้วยวิธีการเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันทางการเงินในครั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า จะสามารถชำระหนี้เงินต้นได้หมดภายในเวลาประมาณ 25 ปี (ซึ่งอาจจะเร็วกว่านั้น หากฐานเงินฝากในระบบเพิ่มขึ้น) โดยหากค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1% ธปท. จะสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้ประมาณ 77,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาจ่ายดอกเบี้ยได้ 50,000 ล้านบาท และเงินต้นได้ 27,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงช่วงเวลาที่ใช้ในการชำระหนี้จนหมด ซึ่งค่อนข้างยาวนาน (25 ปี) กับอัตราดอกเบี้ยจ่ายในปัจจุบันที่นับว่าค่อนข้างต่ำเมื่อพิจารณาทั้งช่วงระยะเวลา 25 ปี หากอัตราดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเมื่อใด ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นจากหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก็จะเพิ่มสูงขึ้น และก็อาจเป็นไปได้ว่า ดอกเบี้ยจ่ายจะเกินค่าธรรมเนียมที่ ธปท. สามารถจัดเก็บได้ หรือระยะเวลาในการชำระหนี้เงินต้นจนหมดจะเกินกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้แต่แรก ดังนั้นแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้น ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และรัฐบาลจะมีวิธีในการบริหารจัดการอย่างไร ในการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูได้จนหมด?

สาม ระยะเวลาที่ใช้ในการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่คาดการณ์ไว้นานถึง 25 ปีนั้น เป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนานจนเกินไปหรือไม่? เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ประเทศไทยจะไม่ประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ขึ้นมาอีก เพราะถ้าหากเกิดขึ้น รัฐบาลก็คงมีความจำเป็นที่จะต้องก่อหนี้ในลักษณะเดียวกันกับหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ที่เกิดจากเข้ารับภาระหนี้จากภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนของรัฐบาล ในขณะที่หนี้เก่าก็ยังไม่หมดสิ้น ซึ่งจากข้อมูลที่พบในงานศึกษาที่ผ่านมา(*) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1970-2009 โอกาสที่ประเทศกำลังพัฒนาจะประสบปัญหาวิกฤติหนี้ภายนอกประเทศสูงถึงร้อยละ 25.3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉลี่ยจะประสบปัญหาวิกฤติหนี้ 1 ครั้งในทุก 4 ปี กันเลยทีเดียว

ถ้าหากรัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ อย่างแท้จริง (ไม่ใช่มีความตั้งใจแต่เพียงการหากทางออกในการก่อหนี้ใหม่เท่านั้น) ระยะเวลาที่ใช้ในการชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ควรถูกปรับลดให้สั้นลงกว่านี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อม หากต้องเผชิญและต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนับวันจะยิ่งมีความรุนแรงและรวดเร็วกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต

ที่มา
(*) ศาสตรา สุดสวาสดิ์ และประสพโชค มั่งสวัสดิ์ (2554) “วิกฤติหนี้กับกรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศไทย” งานวิจัยภายใต้โครงการการศึกษานโยบายเพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.)

*"สบายใจได้จริงหรือ? กับการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 6 ก.พ. 2555