Tuesday, July 3, 2012

วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรป… ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข*

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมได้เขียนบทความต่อเนื่องหลายตอนลงในหนังสือพิมพ์โพสท์ ทูเดย์เรื่องปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรป(1) โดยผมได้ชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดของระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในกลุ่ม Eurozone ที่มีการใช้นโยบายทางการเงินและสกุลเงินร่วมกัน แต่ล้มเหลวที่จะบังคับให้ประเทศสมาชิกดำเนินการรักษาพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงฐานะทางการคลังให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่ตั้งไว้ ซึ่งได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการวิกฤติหนี้ภาคยุโรปในครั้งนี้ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยไปหลายปีแล้วก็ตาม วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปก็ยังวนเวียนอยู่ และดูเหมือนว่าจะไม่มีทางจบสิ้นลงได้ ซ้ำร้ายปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้กลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและขยายวงกว้างขึ้นจากประเทศกรีซจนไปถึงประเทศสเปน (และอิตาลี) รัฐบาลไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดทำ Daily report ติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่แล้วท่านรมว. กระทรวงการคลังยังได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนการรับมือวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรป(2) หากเกิดผลกระทบกกับประเทศไทย อาทิเช่น ในกรณีที่เกิดวิกฤติตลาดหุ้นรุนแรง ก็จะมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นเพื่อรองรับ หรือการเตรียมใช้เงินคงคลังที่มี 5.5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับความผันผวนและปัญหาการขาดสภาพคล่อง (หากเกิดขึ้น) เป็นต้น

แต่สิ่งที่ผมยังรู้สึกไม่สบายใจที่สุดในเรื่องปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรป คือ แม้เวลาจะผ่านจากจุดเริ่มต้นไปนานมากแล้ว วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ตรงจุดที่ตรงต้นตอของปัญหา (ที่เกิดจากระบบการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน) นอกจากปัญหาที่เกิดจากระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีข้อผิดพลาด ดังที่ผมได้กล่าวข้างต้นแล้ว สาเหตุของปัญหาอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประเทศสมาชิกในกลุ่มยูโรโซนได้ใช้ประโยชน์จากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศเป็นจำนวนมาก และผลักดันให้ราคาสินค้า (รวมถึงเงินเฟ้อ) และค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น จนเกินกว่ารายได้เพิ่มที่เกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัยการผลิตนั้น (Marginal revenue product) ซึ่งทำให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปโดยที่ไม่สามารถใช้กลไกของอัตราแลกเปลี่ยนในการปรับตัวได้ (เนื่องจากใช้สกุลร่วมกันกับประเทศอื่นๆ) สุดท้ายฟองสบู่ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็แตก

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่างนาย พอล ครุกแมน (Paul Krugman) ก็ได้แสดงความคิดเห็นถึง วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซ ในหนังสือพิมพ์ New York Times ในเดือนที่แล้วว่า(3) แม้จะได้รัฐบาลภายใต้การนำของนาย Antonis Samaras ที่สนับสนุนการเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปและพร้อมนำมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังมาใช้ แต่แค่นั้นก็คงไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศกรีซสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้ด้วยตนเอง โดยนาย พอล ครุกแมน มองว่าหนทางในการแก้ไขปัญหานี้ต้องกลับไปแก้ที่พฤติกรรมของธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) และประเทศยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมันนี นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็พึ่งออกรายงานที่เรียกร้องให้ประเทศในกลุ่มยูโรโซนแสดงความมุ่งมั่นต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใช้นโยบายการเงินร่วมกันที่สมบูรณ์มากขึ้น ด้วยการจัดทำระบบการธนาคารร่วมกัน (ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและจำเป็นของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และควรเกิดขึ้นโดยทันที) และการจัดทำนโยบายทางการคลังร่วมกัน (Fiscal integration) ที่มีการกำกับดูแลดีขึ้น (Better governance) และมีการแบ่งรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น (More risk sharing) ทั้งนี้การดำเนินโยบายทางการคลังร่วมกัน (แม้อาจใช้เวลานาน แต่ก็ควรมีแผนการดำเนินงาน) อาจเริ่มต้นจากการจัดทำข้อกำหนดต่างๆ ในเรื่องหนี้ของแต่ละประเทศ (อาทิเช่น ข้อจำกัดในการออกตราสารหนี้ระยะสั้น และข้อจำกัดในเรื่องระดับหนี้) หรือแม้แต่การให้อำนาจแก่สหภาพยุโรปในการคัดค้านการจัดทำงบประมาณขาดดุลของรัฐบาลในแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยลดแนวโน้มการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งที่จะส่งผลลบต่อประเทศสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มยูโรโซนได้

อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความที่ผ่านมา อนาคตของกลุ่มยูโรโซนที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้ส่วนหนึ่งขึ้นกับว่า สหภาพยุโรปจะมีวิธีการอย่างไรในการจำกัดอธิปไตยของแต่ละประเทศสมาชิกในการกำหนดนโยบายของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายทางด้านการคลัง หากสหภาพยุโรปยังไม่กล้าที่จะพิจารณาในเรื่องนี้ร่วมกันอย่างจริงจังเหมือนเช่นที่ผ่านมา และมัวแต่โต้แย้งถึงข้อกำหนดในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินระยะสั้นแก่ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาเพียงเท่านั้น ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปก็จะไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อเป็นเช่นนั้น ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปก็คงไม่สามารถจบลงได้ และเราคงได้เห็นปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปค่อยๆ ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ที่เหลือในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็อาจช้าเกินไปแล้วที่สหภาพยุโรปจะสามารถรักษาสกุลเงินยูโรให้คงอยู่ต่อไปได้


อ้างอิง

(1) ผู้อ่านสามารถติดตามบทความย้อนหลังได้ที่ http://sasatra.blogspot.com

(2) http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20120625/458362/ตั้งกองทุนพยุง-ดึงเงินคงคลัง-สู้วิกฤตหนี้ยุโรป.html

(3) http://www.nytimes.com/2012/06/18/opinion/krugman-greece-as-victim.html?partner=rssnyt&emc=rss

(4) http://www.imf.org/external/pubs/ft/survey/so/2012/CAR062112A.htm


* "วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรป… ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข"ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 2 ก.ค. 2555