Monday, July 1, 2013

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ฝืนกลไกการทำงานของตลาด*

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ที่นับวันจะทวีความสัมพันธจนทำให้ ความผันผวนที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจในต่างประเทศหรือแม้แต่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอื่น สามารถส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างรุนแรง อาทิเช่น การไหลเข้าออกอย่างรวดเร็วและรุนแรงของเงินทุนจากต่างประเทศ ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาส่งสัญญาณว่าจะลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตร หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ได้ส่งผลทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากประเทศไทยอย่างรุนแรง ทั้งจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยทั้งประเทสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งนับเป็นโจทย์ยากของผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทย ที่จะทำอย่างไรให้ประเทศสามารถผ่านพ้นจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจเหล่านี้ไปได้ และจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจต่อความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของผู้ประกอบการไทย นับเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ผ่านมา และก็เป็นภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจของประเทศที่เคยมี แต่ที่ผ่านมากลับถูกบั่นทอนและลดลงมาโดยตลอด ทั้งนี้เป็นที่น่าสนใจว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลงในช่วงหลังนั้น เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายภาครัฐเสียเอง นโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ถูกผลักดันออกมาในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กลับบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย อาทิเช่น โครงการรับจำนำข้าว (ที่ถูกต้องเรียกว่าโครงการรับซื้อข้าวของรัฐบาล) ไม่เพียงแต่สร้างภาระทางงบประมาณอย่างมหาศาล (จะใช่สองแสนหกหมื่นล้านบาทหรือไม่ คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ) และยังได้สร้างความเสียหายถึงระดับโครงสร้างของภาคเกษตรกรรมไทย ซึ่งรวมถึงภาคการส่งออกข้าวไทย ที่ตลาดส่งออกที่เคยมีอยู่เดิมได้ถูกแย่งชิงไปโดยผู้ส่งออกข้าวจากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรืออินเดีย

นโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท” ก็เช่นเดียวกัน ได้ถูกผลักดันออกมาโดยไม่ได้มีเงื่อนไขของการยกระดับผลิตภาพแรงงานควบคู่ไปด้วย ซึ่งได้ทำให้ต้นทุนรายจ่ายของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เพิ่มสูงขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น) ในขณะที่ผลิตภาพการผลิตที่ได้จากแรงงานกลับไม่ปรับเพิ่มตามมา ผลของนโยบายนี้ก็ได้บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกไทย นโยบายประชานิยมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงภัยอันร้ายแรงหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายภาครัฐ ที่พยายามฝืนกลไกการทำงานของตลาดการแข่งขันเสรี ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีกับผู้กำหนดนโยบายของประเทศ โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง ที่สมควรจะเรียนรู้ถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศจากการนำเสนอนโยบายที่มุ่งหวังเพียงแต่ประชานิยม โดยไม่สนใจถึงผลกระทบในเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นติดตามมา

แน่นอนจากบทเรียนที่ผ่านมาเหล่านี้ นโยบายภาครัฐที่ดีที่ควรออกมานั้น อย่างน้อยที่สุดจะต้องไม่มีลักษณะของการฝืนกลไกการทำงานของตลาดการค้าเสรี และควรสนับสนุน (หรือไม่บั่นทอน) การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยอาจจำเป็นต้องคิดถึงกลไก เครื่องมือ หรือกฎหมายบางอย่างที่น่าจะขาดหายไปในปัจจุบัน เพื่อทำหน้าที่ควบคุม ป้องกัน หรือสามารถยับยั้งมิให้นโยบายภาครัฐที่แข่งขันกันนำเสนอออกมานั้นเป็นเพียงแต่นโยบายประชานิยมที่มุ่งผลทางการเมือง แต่กลับทำลายกลไกการแข่งขันของระบบตลาดออกมาได้ เพราะที่ผ่านมา แม้ว่านักวิชาการจะพยายามสักเพียงใดในการออกมาคัดค้านหรือยับยั้งนโยบายที่ทำลายระบบการแข่งขันตลาดซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างชัดเจน อย่างเช่นโครงการรับซื้อข้าว แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากไม่มีช่องทางตามกฎหมายใดในปัจจุบันที่เปิดให้ยื่นเรื่องเพื่อยับยั้งได้


*"การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ฝืนกลไกการทำงานของตลาด" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 1 ก.ค. 2556