Monday, August 3, 2015

สมุดปกขาวกับการแก้ไขปัญหาด้านประชากร*

ในปี 2013 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกสมุดปกขาวด้านประชากร (Population white paper) ซึ่งเป็นการนำเสนอนโยบายที่ใช้แก้ไขปัญหาด้านประชากรในระยะยาวของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ปัญหาแนวโน้มการลดลงของจำนวนประชากรที่มีอัตราเจริญพันธ์เพียงร้อยละ 1.2 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการทดแทน (Replacement rate) ที่ร้อยละ 2.1 ในการรักษาระดับจำนวนประชากรเดิมไว้ได้ โดยหากแนวโน้มของประชากรยังเป็นเช่นนี้ต่อไปก็จะทำให้ประชากรและแรงงานในประเทศลดลง และกลายเป็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปในอนาคต

แนวทางแก้ไขปัญหาด้านประชากรที่ถูกนำเสนอออกมาในสมุดปกขาว ประกอบไปด้วยสามเสาหลัก (Pillars) คือ

เสาที่หนึ่ง การสร้างสังคมที่แข็งแกร่งที่มีชาวสิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง โดยมีนโยบายสำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวและการมีบุตรของชาวสิงคโปร์ ทั้งนี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกแพ็กเกจส่งเสริมให้เกิดการแต่งงานและการเป็นพ่อแม่ (Marriage & Parenthood package) โดยเริ่มต้นจากการสนับสนุนบริการที่ส่งเสริมให้คนโสดได้เจอคู่ครอง เช่น การรับรองบริษัทจัดหาคู่ที่เป็นมาตรฐาน และหลังจากที่ได้เจอคู่ครองที่เหมาะสมแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ก็สนับสนุนให้คู่แต่งงานสร้างครอบครัว โดยมีนโยบายส่งเสริมให้คู่แต่งงานสามารถมีบ้านได้ง่ายยิ่งขึ้น หลังจากนั้น ก็ยังมีการส่งเสริมให้คู่แต่งงานมีบุตร เช่น สำหรับผู้มีบุตรยาก รัฐบาลสิงคโปร์จะช่วยค่าใช้จ่ายถึง 75% ในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology, ART) เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว การทำกิฟท์ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังมีเงินรางวัลให้แก่การมีบุตร และมีเงินสมทบเข้าบัญชีพัฒนาเด็ก (Child Development Account, CDA) ของบุตรอีกด้วย

แม้จะมีนโยบายส่งเสริมให้คนแต่งงาน สร้างครอบครัว ไปจนถึงการมีบุตร แล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็ตระหนักดีว่า คงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาการลดลงของจำนวนประชากรชาวสิงคโปร์ได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายคนเข้าเมือง (Immigration policy) ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับผู้ที่ขออยู่อาศัยถาวร (Permanent residents) ปีล่ะ 30,000 คน และเปิดรับผู้ที่ขอเป็นพลเมืองใหม่ (New citizens) ปีล่ะ 15,000 ถึง 25,000 คน เพื่อที่จะทำให้จำนวนประชากรรวมของสิงคโปร์อยู่ในระดับเป้าหมายที่ประมาณ 6.5 ถึง 6.9 ล้านคน ได้ในปี 2030 (เพิ่มขึ้นจากในปี 2012 ที่มีจำนวนประชากรรวมจำนวน 5.31 ล้านคน)

เสาที่สอง คือ การสร้างเศรษฐกิจเชิงพลวัตที่สร้างงานและโอกาสที่ดีให้แก่ชาวสิงคโปร์ โดยนโยบายสำคัญในส่วนนี้ ได้แก่ การเพิ่มโอกาสในการศึกษาต่อและการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น (ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวสิงคโปร์ได้งานที่ดีและอยู่ในระดับสูง) การสนับสนุนให้เกิดการปรับโครงสร้างของธุรกิจที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและการเพิ่มผลิตภาพ เป็นต้น

เสาที่สาม คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน โครงสร้างประชากร และเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการกำหนดเป้าหมายให้สิงคโปร์เป็น “บ้าน” ที่มีสิ่งแวดล้อมดีและน่าอยู่อาศัย ตัวอย่างของนโยบายในส่วนนี้ได้แก่ การลงทุนทางด้านระบบขนส่งมวลชน (อาทิเช่น การขยายเส้นทางของรถไฟฟ้าที่รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้ ภายในปี 2030 จำนวน 8 ใน 10 ของประชากรสามารถเดินจากบ้านมายังสถานีรถไฟฟ้าได้ภายใน 10 นาที จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 6 ใน 10 ของประชากร) การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (อาทิเช่น สวนสาธารณะ) การเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลให้เพียงพอ หรือแม้แต่การเพิ่มจำนวนบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมาย เป็นต้น

แม้ว่านโยบายหลายเรื่องที่ออกมาในสมุดปกขาวจะก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในสังคมชาวสิงคโปร์ ที่นำไปสู่การชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกว่า 5,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องนโยบายคนเข้าเมือง ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เกรงว่า การเข้ามาเป็นจำนวนมากของคนต่างชาติจะสร้างความเดือดร้อนและทำลายวิถีการดำเนินชีวิตของชาวสิงคโปร์ แต่สุดท้ายรายงานหรือสมุดปกขาวฉบับนี้ก็ได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร และได้กลายเป็นนโยบายของประเทศที่จะดำเนินต่อไป

จริงๆ แล้ว ปัญหาด้านประชากรที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะแต่ในประเทศสิงคโปร์ ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพัฒนาแล้ว หรือแม้แต่ประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่น ประเทศไทย ก็กำลังประสบปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือการมีอัตราเจริญพันธ์ที่ลดลงอย่างมากของประชากรไทย (จากอัตราร้อยละ 6.15 ในปี 1960 มาเป็นร้อยละ 1.41 ในปี 2012) ซึ่งสังคมไทย นักวิชาการไทย และรัฐบาลไทยเองก็ตระหนักและพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นเวลานาน แต่สิ่งที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ไม่น้อยสำหรับนักวิชาการด้านประชากรศาสตร์หรือผู้กำหนดนโยบายของไทย คือ วิธีการคิดและการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านประชากรในระยะยาวที่เป็นระบบและเป็นรูปธรรมของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งดูแล้วอาจเป็นสิ่งที่ยังขาดหายไปจากประเทศไทยในปัจจุบัน 

อัตราเจริญพันธ์ (Fertility rate) ในประเทศอาเซียน 5 ประเทศ
(วัดจากจำนวนเฉลี่ยของบุตรต่อสตรีหนึ่งคน)
 
  
ที่มา: World Bank, World Development Indicators.

*"สมุดปกขาวกับการแก้ไขปัญหาด้านประชากร" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 ส.ค. 2558