Monday, August 7, 2017

การออกแบบนโยบาย กับการบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ”*

ในบทความ “การค้าระหว่างประเทศ กับการบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ”” ที่ลงในคอลัมน์นี้ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึง ความเชื่องโยงของการค้าระหว่างประเทศที่มีต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น หนึ่ง ผ่านช่องทางการบริโภค ทั้งการเปลี่ยนแปลงของราคา รายได้ และการเข้าสู่ตลาดของสินค้าและบริการ ซึ่งมีผลต่อการบริโภคและความกินดีอยู่ดีของประชาชน สอง ผ่านช่องทางรายได้ ที่การค้าระหว่างประเทศสามารถส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของประชาชน และ สาม ผ่านช่องทางรายได้และรายจ่ายรัฐบาล โดยการค้าระหว่างประเทศนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล ที่สามารถนำมาใช้จ่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตั้งไว้ 

ผมกับอาจารย์ ทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ (สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา) ได้ทำการศึกษาในเรื่องนี้ให้กับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา โดยเราได้จำลองผลของการเปิดเสรีการค้าภายใต้โครงการร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) 4 สถานการณ์ ได้แก่ การปรับลดอุปสรรคทางการค้าที่เป็นภาษี การปรับลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี การยกระดับผลิตภาพการผลิต และการเพิ่มระดับการลงทุนในประเทศไทย ที่มีต่อการเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ทั้งหมด 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน และ เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ

ผลการศึกษาที่ได้ เราพบว่า การเปิดเสรีการค้าโดยรวมจะมีส่วนสนับสนุนการเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นจำนวน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายการยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ (เป้าหมายที่ 1) เป้าหมายการยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 2) และเป้าหมายการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน (เป้าหมายที่ 8) โดยประเทศไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุดในสถานการณ์ที่การเปิดเสรีการค้าได้ก่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้า และนำไปสู่การยกระดับผลิตภาพการผลิตของประเทศไทยขึ้น 

ผลการศึกษาที่พบในส่วนนี้ จึงนำมาสู่คำถามหรือโจทย์ชวนคิดต่อไปว่า จะมีนโยบายหรือเครื่องมือใด? ที่ช่วยเอื้อหรือสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการ และนำไปสู่การยกระดับผลิตภาพของประเทศไทยได้

สำหรับเป้าหมายการลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (เป้าหมายที่ 10) เราพบว่า การเปิดเสรีการค้าทำให้ความไม่เสมอภาคภายในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านรายได้ เพิ่มขึ้น โดยค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือจะปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าค่าจ้างแรงงานฝีมือที่ปรับเพิ่มขึ้น และอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยประชากรทั้งหมดจะสูงกว่าอัตราการเพิ่มของรายได้เฉลี่ยประชากร 40% ล่างในเกือบทุกกรณี (ยกเว้นเฉพาะในกรณีที่การเปิดเสรีการค้าได้นำมาซึ่งการเพิ่มระดับการลงทุนในประเทศไทย) ซึ่งแสดงว่า การเปิดเสรีการค้าจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชากรไทยเพิ่มขึ้น (เมื่อพิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ และสัดส่วนรายได้ประชากร 20% บนต่อ 20% ล่าง ก็พบผลที่สอดคล้องด้วยเช่นเดียวกัน) 

ในกรณีนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ ภาครัฐจึงต้องใช้นโยบายหรือเครื่องมืออื่นๆ มาประกอบ (อาทิเช่น เครื่องมือที่ใช้ในการจัดเก็บรายได้ นโยบายรายจ่าย) เพื่อช่วยให้การกระจายรายได้ของประชากรไทย เป็นไปอย่างเท่าเทียมกันและเกิดความเสมอภาคภายในสังคมไทยมากขึ้น

ผลการศึกษาที่พบ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหรือผลกระทบอันขัดแย้งเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบาย (หรือเครื่องมือ) เช่น นโยบายการค้าระหว่างประเทศ ที่สามารถช่วยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติหลายๆ เป้าหมาย แต่ก็อาจสร้างปัญหาหรือเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายบางอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น การออกแบบนโยบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ พร้อมกันทั้ง 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ ไม่ใช่เรื่องง่าย งานศึกษาต่อไปในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และควรถูกใช้เพื่อให้การออกแบบนโยบายต่อไปของประเทศไทยเป็นไปได้อย่างถูกต้อง

"การออกแบบนโยบาย กับการบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ”" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ ุ7 ส.ค. 2560