ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นมาหลายเหตุการณ์ โดยหนึ่งในข่าวใหญ่ที่ปรากฎออกมาคือ การที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีเจ้าพนักงานกรมสรรพากรปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โดยเหตุเกิดจากการที่ กรมสรรพากรไม่จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยการซื้อหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ผลต่างระหว่างราคา เข้าลักษณะเงินพึงได้ประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ซื้อหุ้นต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538
จริงๆแล้ว ข่าวนี้คงไม่ได้เป็นข่าวที่ทำให้คนในสังคมไทยต้องแปลกใจแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคอข่าวหรือผู้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด น่าจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้นชินคอร์ปไปให้เทมาเส็ก หากเปรียบแล้ว ถ้าเรื่องราวเรื่องนี้เป็นหนังชีวิตเรื่องหนึ่ง หนังเรื่องนี้แม้นจะยังไม่ทันเปิดฉายจนจบ แต่ดูจากตอนต้นของเรื่องแล้ว คนดูก็สามารถคาดเดาได้ถึงตอนจบของหนังได้ไม่ยากนัก
สิ่งที่ผู้เขียนแปลกใจคือ เหตุใด ความสนใจของผู้คนในสังคม รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งหมดในเวลานี้ จึงหยุดอยู่เพียงกรณีของหุ้นชินคอร์ปเพียงเท่านั้น การทำนิติกรรมอำพรางในลักษณะเหล่านี้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการเลี่ยงการเสียภาษี หรือแม้นแต่มีวัตถุประสงค์อื่นๆแอบแฝงอยู่ คงไม่ได้เกิดขึ้นกับกรณีของหุ้นชินคอร์ปเป็นกรณีแรกและกรณีเดียวเท่านั้น ในความเป็นจริง การทำนิติกรรมอำพรางคงมีอยู่อีกมากมาย จนหลายท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ที่คนรวยสามารถทำได้ แต่แทบจะไม่มีใคร โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ ให้ความสนใจมากนัก ในการตรวจสอบสิ่งที่ผิดและแก้ไขช่องโหว่เหล่านี้ให้หมดสิ้นไป
คงต้องยอมรับว่าระบบภาษีของประเทศไทย หรือแม้แต่ประเทศส่วนใหญ่ในโลก แม้นแต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีช่องโหว่ทางด้านภาษีมากมาย (Tax loopholes) ที่ช่วยคนรวยให้มีหนทางทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย (Tax avoidance) และหลายๆหนทางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (Tax evasion) ในการที่จะลดหรือเลี่ยงภาษีได้
มหาเศรษฐีของโลก คุณ Warren Buffet ได้กล่าวในงานเลี้ยงเพื่อหาทุนในการเลือกตั้งแก่ Hillary Clinton หนึ่งในผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตในช่วงปลายเดือนที่แล้วว่า ระบบภาษีในปัจจุบันช่วยให้คนรวยสามารถเสียภาษีน้อยกว่าคนชั้นกลาง โดยในปีที่ผ่านมา เขาเสียภาษีเพียงอัตราร้อยละ 17.7 ของรายได้ ทั้งที่เขาไม่ได้พยายามที่จะเลี่ยงภาษีเลย ซึ่งถ้าว่ากันไปแล้ว หากคุณ Warren Buffet พยายามหาช่องทางในการเลี่ยงภาษีอีกนิด อัตราภาษีต่อรายได้ที่เขาจะต้องจ่ายคงจะน้อยกว่านี้อีกมาก ในขณะเดียวกัน พนักงานต้อนรับของเขา กลับต้องเสียภาษีสูงถึงอัตราร้อยละ 30 ของรายได้
เรื่องที่คุณ Warren Buffet กล่าวนี้ หลายคนฟังเป็นเรื่องตลก แต่หากคิดให้ดี เรื่องนี้คงเป็นเรื่องตลกร้าย ที่น่าเศร้ามาก ชี้ให้เห็นและยืนยันถึงความเลวร้ายของระบบภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่มีความความไม่เท่าเทียม หรือความเหลื่อมล้ำของโอกาสระหว่างคนจนและคนรวยที่เกิดขึ้นจริงในโลกใบนี้ ซึ่งคงหมายรวมถึงระบบภาษีของประเทศไทยด้วย
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย หากกรมสรรพากรจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ไล่ล่า และป้องกันไม่ให้มีการทำนิติกรรมอำพรางเกิดขึ้นเพื่อเลี่ยงภาษีภายใต้ระบบภาษีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่จะสามารถตรวจจับได้หมด เพราะการทำนิติกรรมอำพรางในปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก และถึงแม้จะสามารถตรวจจับได้ กรมสรรพากรก็คงจำเป็นต้องทุ่มทรัพยากรเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ในการตรวจสอบ แต่ที่สำคัญ การตรวจสอบเหล่านี้เป็นเสมือนการตรวจจับที่ปลายเหตุมากกว่า
แนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ควรเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า เช่น การพิจารณาถึงแนวทางในการปฎิรูประบบภาษี ให้มีช่องโหว่น้อยที่สุด และเป็นระบบภาษีที่เป็นธรรม กล่าวคือ ผู้มีรายได้น้อยเสียภาษีจริงในอัตราที่น้อยกว่าผู้มีรายได้มาก ไม่ใช่เป็นเพียงอัตราภาษีก้าวหน้าที่ปรากฎอยู่บนกระดาษเท่านั้น
* "ระบบภาษี กับกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ป" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 12 ก.ค. 2550