ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องสามก๊ก ตอนศึกผาแดง (Battle of Red Cliffs) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ศึกเซ็กเพ็ก แม้นว่าเนื้อหาส่วนหนึ่งในภาพยนตร์จะผิดเพี้ยนไปจากเนื้อเรื่องในพงศาวดารพอสมควร แต่ทั้งนี้ก็พอเข้าใจได้ว่า ผู้สร้างภาพยนตร์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้บทภาพยนตร์มีความสนุกสนานและกระชับมากขึ้น
ศึกเซ็กเพ็กนั้น นับได้ว่าเป็นตอนสำคัญที่สุดตอนหนึ่งในเรื่องสามก๊ก ที่นำไปสู่การกำเนิดขึ้นเป็น “สามก๊ก” นั่นคือ “วุยก๊ก” (โจโฉ) “จ๊กก๊ก” (เล่าปี่) และ“ง่อก๊ก” (ซุนกวน) โดยเนื้อหาในตอนนี้ ไม่เพียงจะเข้มข้นและเต็มไปด้วยพิชัยยุทธในการสงคราม แต่ยังแฝงไปด้วยปรัชญาความคิดที่ยังคงความเป็นอมตะและนำไปประยุกต์ใช้ได้จนถึงวันนี้
หนึ่งในปรัชญาอมตะที่ผู้เขียนขอกล่าวถึงคือ ปรัชญาของขงเบ้งในครั้งที่โจโฉพ่ายแพ้ในศึกเซ็กเพ็กด้วยกลลวงผูกเรือของบังทองและการหยั่งรู้ลมฟ้าของขงเบ้ง เพราะเหตุใด ผู้หยั่งรู้ฟ้าดินอย่างขงเบ้งจึงได้มอบหมายให้กวนอู ผู้ขึ้นชื่อในเรื่องกตัญญู แต่ติดคุณโจโฉในครั้งอดีต ไปดักรอโจโฉ ณ. ด่านสุดท้ายที่ตำบลฮัวหยง ที่จะสามารถปลิดชีพหรือจับกุมโจโฉได้โดยง่าย
ในเนื้อหาสามก๊กของเจ้าพระยาคลัง (หน) ได้กล่าวไว้ว่า ขงเบ้งได้ดูดาวสำหรับโจโฉแล้วพบว่า ชะตาโจโฉยังไม่ขาด ดังนั้นขงเบ้งจึงได้แกล้งให้กวนอูไปทำการ เพื่อหวังให้กวนอูทดแทนคุณโจโฉที่มีมาในอดีต แต่ในความจริงแล้ว ความคิดของขงเบ้งไม่เพียงต้องการให้กวนอูได้ทดแทนบุญคุณเก่าของโจโฉเท่านั้น เพราะหากเป็นเช่นนั่นแล้ว ขงเบ้งคงจะแต่งตั้งให้กวนอูไปตั้งสะกัดที่อื่น ที่มิใช่ด่านสุดท้ายเช่นนี้
เหตุผลที่แท้จริงของขงเบ้งคือ ในตอนนั้นฝ่ายเล่าปี่ยังอ่อนแอมาก โดยถ้าหากสิ้นโจโฉเมื่อใด ฝ่าย “ง่อก๊ก” หรือ ซุนกวน คงถือโอกาสรุกรานก๊กอื่นๆ ที่ยังอ่อนแออยู่ ซึ่งรวมถึงฝ่ายเล่าปี่ด้วย และจะทำให้การรวบรวมดินแดนของเล่าปี่เป็นได้ยาก ดังนั้นขงเบ้งจึงเห็นถึงความจำเป็นของการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสถานะ “สามก๊ก” ที่จะทำหน้าที่ในการคานอำนาจซึ่งกันและกันไว้
สถานะ “สามก๊ก” ถือเป็นสถานะสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้ ก๊กใด ก๊กหนึ่งขึ้นมามีอำนาจ หรือรุกรานก๊กอื่นได้ แต่ทั้งนี้เงื่อนไขที่สำคัญคือ จะต้องไม่มีก๊กใดที่มีอำนาจเหนือกว่าก๊กอื่นๆที่เหลือ เช่น “วุยก๊ก” จะต้องไม่มีอำนาจที่เหนือกว่า “จ๊กก๊ก” และ“ง่อก๊ก”รวมกัน ซึ่งถ้า“วุยก๊ก”คิดจะรุกราน“จ๊กก๊ก”เมื่อใด หาก“จ๊กก๊ก”และ“ง่อก๊ก” (อีกสองฝ่ายที่เหลือ) สามารถรวมตัวกัน ก็จะสามารถต่อสู้การรุกรานของ“วุยก๊ก”ได้ สถานะ “สามก๊ก” ดังกล่าว จึงถือว่าเป็นจุดดุลยภาพที่สำคัญ โดยหากเมื่อใดที่มีก๊กหนึ่งมีอำนาจเหนือก๊กอื่นๆ ที่เหลือ สถานะภาพของ“สามก๊ก” ก็จะจบสิ้นเมื่อนั้น
เมื่อนำเอาหลักการของ “สามก๊ก” มาประยุกต์ในการวิเคราะห์ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย จะพบว่าแต่เดิมระบอบการปกครองของไทยนั้น มีหลักการในการแบ่งและคาน 3 อำนาจที่เกิดจาก ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ หลักในการคานอำนาจของ 3 อำนาจดังกล่าว ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินไปได้อย่างราบรื่น แต่เช่นเดียวกันจะต้องไม่มีฝ่ายใดที่มีอำนาจเด็ดขาดเหนือกว่าฝ่ายอื่นๆ ดังเช่นในระบอบเผด็จการ
หากพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์การเมืองภายในประเทศมีความวุ่นว่าย หนึ่งในสาเหตุที่สำคัญเกิดจาก การสูญเสียสถานะในการดุลและคานอำนาจของ 3 ฝ่ายข้างต้น โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราพบว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัตินั้นไม่ได้เป็นอิสระจากกันอย่างแท้จริง ดังนั้นฝ่ายบริหารเมื่อรวมกับฝ่ายนิติบัญญัติจึงมีอำนาจมากเกินไป ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้การคานอำนาจของ 3 ฝ่ายไม่เกิดขึ้น แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ ความพยายามที่จะแทรกแซงฝ่ายตุลาการ แต่นับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่ความพยายามดังกล่าวยังไม่สัมฤทธิผล
เมื่อการคานอำนาจของ 3 ฝ่ายที่ควรจะเป็นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของการเมืองนอกสภาในเวลานี้ โดย 3 ฝ่ายที่มีในเวลานี้กลับเปลี่ยนมาเป็น 1) ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร 2) ฝ่ายตุลาการ และ 3) ฝ่ายการเมืองนอกสภา ซึ่งเป็นจุดหักเหสำคัญของการเมืองไทย
ดังนั้นหากต้องการแก้ปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้น และทำให้การเมืองนอกสภาลดลง ประเทศไทยจะต้องหาทางที่จะทำให้ 3 อำนาจเดิมที่เกิดจาก ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหาร สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระและตรวจสอบการทำงานซึ่งกันและกัน โดยปราศจากการแทรกแซงการทำงานระหว่างกัน
หากแนวทางแก้ไขดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น เราคงต้องหวังพึ่งฝ่ายตุลาการให้มีอำนาจเพียงพอในการตรวจสอบ เพื่อดุลกับสองอำนาจที่เหลือ ซึ่งถ้าหากฝ่ายตุลาการสามารถพิสูจน์การทำงานของตน จนประชาชนยอมรับและฝากความหวังไว้ได้ ผู้เขียนเชื่อว่า วันนั้นการเมืองนอกสภาก็จะไม่มีความจำเป็น ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย อย่างน้อยในระยะสั้น ก็คือ การสนับสนุนและให้อำนาจที่เพียงพอแก่ฝ่ายตุลาการในการทำหน้าที่ตรวจสอบ โดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายต่างๆ
* "ปรัชญาขงเบ้งกับระบอบประชาธิปไตยแบบไทย" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 20 ส.ค. 2551