Thursday, September 7, 2006
ใครควรเป็นผู้ลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ?*
การไฟแนนซ์เงินทุนที่ใช้ในโครงการต่างๆ ของรัฐ โดยส่วนใหญ่แล้วมีแหล่งเงินทุนที่สำคัญอยู่ 2 แหล่งหลักคือ การลงทุนโดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนโดยตรง และการลงทุนโดยภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน หนึ่งในข้อดีที่สำคัญของการที่ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนคือ สามารถเพิ่มความเชื่อมั่นในด้านผลประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากโครงการ เนื่องจากโครงการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ แต่ทั้งนี้ในหลายๆโครงการพบว่า ภาครัฐมีเงินไม่เพียงพอที่จะสามารถลงทุนได้เองทั้งหมด ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องไปกู้เงินลงทุนมาเองโดยตรงเพื่อใช้ในการไฟแนนซ์โครงการเหล่านั้น การกู้เงินโดยภาครัฐ ซึ่งภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ที่ใช้ในการลงทุน ในมุมมองของผู้ให้กู้ การค้ำประกันดังกล่าวเป็นการลดความเสี่ยงของโครงการที่มีต่อผู้ให้กู้ลง เนื่องจากแม้ว่าโครงการจะไปไม่รอด ภาครัฐก็สามารถหารายได้ส่วนอื่นๆมาใช้ เช่น รายได้จากภาษี มาใช้ในการชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวได้ ดังนั้นความเสี่ยงต่อการปล่อยกู้จึงค่อนข้างต่ำ
แต่ในความเป็นจริง การที่ภาครัฐเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ที่ใช้ในการลงทุน มิได้เป็นการลดความเสี่ยงของโครงการที่จะเกิดขึ้นแต่อย่างใด ในทางกลับกัน กลับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับโครงการ เนื่องจากการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐเป็นการผลักภาระความเสี่ยงที่เกิดขึ้นโดยตรงจากโครงการไปสู่ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะประชาชนเป็นเจ้าของเงินทุนที่แท้จริง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เจ้าของเงินทุนที่แท้จริง หรือประชาชนผู้เสียภาษีมักไม่มีโอกาสในการเข้ามาตรวจสอบถึงการดำเนินงานและความเหมาะสมของโครงการ ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น โครงการที่มีการค้ำประกันเงินกู้จากรัฐ กลับทำให้การตรวจสอบโครงการจากผู้ให้กู้เช่น สถาบันการเงินต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าโครงการที่ไม่มีการค้ำประกันเงินกู้จากภาครัฐ ดังนั้นความเสี่ยงของโครงการที่ภาครัฐค้ำประกันเงินกู้จึงมีโอกาสสูงกว่าโครงการที่ไม่ได้มีการค้ำประกันเงินกู้ไว้ อย่างไม่อาจปฎิเสธได้
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกรณีที่ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐโดยได้มีการนำเอาภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน โดยที่รัฐไม่ต้องค้ำประกันเงินกู้ทั้งหมด แม้จะดูมีความเสี่ยงสูงขึ้นในมุมมองของผู้ให้กู้เงินทุน จากความเสี่ยงที่มากขึ้น มีการตรวจสอบโครงการจากผู้ให้กู้ก็จะมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเมื่อปล่อยกลไกตลาดทำงาน โดยมีการตรวจสอบมากขึ้นจากภาคเอกชน สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้โครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระความเสี่ยงของโครงการที่มีต่อประชาชนผู้เสียภาษีลง นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาของความไม่โปร่งใสของโครงการ เนื่องจากการภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ การลงทุนโดยภาคเอกชน จะเพิ่มความเชื่อมั่นในแง่ของการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการบริหารโครงการ
ดังนั้นโดยสรุปแล้ว โครงการที่ดีควรเกิดจากการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ภาครัฐควรลดบทบาทในการค้ำประกันเงินกู้ลง โดยเงินกู้ส่วนหนึ่งควรมาจากเงินกู้ของภาคเอกชน ซึ่งไม่ได้รับการค้ำประกันจากภาครัฐ เพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีการตรวจสอบจากภาคเอกชน รวมถึงเป็นการลดความเสี่ยงของโครงการที่มีต่อประชาชนลง โดยที่รัฐยังสามารถทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแล และรักษาผลประโยชน์ของประชาชนไว้ได้ นอกจากนี้ข้อมูลของโครงการควรนำมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ เพราะประชาชนผู้เสียภาษีมักไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการ ซึ่งในบางกรณีการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนจะนำไปสู่ปัญหาการต่อต้านโครงการเหล่านั้นต่อมาในภายหลัง ดังนั้นความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐควรมีตั้งแต่เริ่มพิจารณาโครงการ
* "ใครควรเป็นผู้ลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ?" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 7 ก.ย. 2549
Thursday, May 25, 2006
หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค*
โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ถูกเริ่มใช้ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 คงไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า โครงการ 30 บาทเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบจากประชาชนโดยเฉพาะชาวรากหญ้าเป็นอย่างมาก และคงจะปฎิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่านโยบายดังกล่าวเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐที่ช่วยในเรื่องการกระจายรายได้ จากผู้มีรายได้มากไปยังผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาความไม่เท่าเทียมกันในสังคมให้ลดลง โดยช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับโอกาสมากขึ้นในการรับบริการทางด้านสุขภาพจากภาครัฐ
จริงๆแล้วระบบประกันสุขภาพไม่ใช่เรื่องใหม่หรือมีแต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอื่นๆทั่วโลกต่างก็มีเช่นเดียวกัน ประเทศในเอเชียได้แก่ เกาหลีใต้ สิงค์โปร์ ไต้หวัน จีน ฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม ต่างก็มีระบบประกันสุขภาพให้แก่ประชาชน โดยระบบประกันสุขภาพในแต่ประเทศอาจมีความแตกต่างกันบ้างในแง่ของรายระเอียดในการให้บริการ รวมถึงวิธีการจัดหาเงินทุนมาใช้ในการอุดหนุนโครงการ เช่น เงินที่ใช้ในการอุดหนุนระบบประกันสุขภาพในฮ่องกงมากกว่าครึ่งได้มาจากเงินงบประมาณของรัฐ ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเงินอุดหนุนส่วนใหญ่มากจากกองทุนประกันสังคม (Social Insurance) ที่ถูกตั้งขึ้นมา เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่แล้วเงินที่ใช้ในการอุดหนุนระบบประกันสุขภาพไม่ว่าจะเป็นของประเทศใดก็ตาม มักมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่แท้จริง หากเทียบกับเงินที่ใช้ในกรณีที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพ ซึ่งคิดเงินกับผู้รับบริการตามค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นจริง หรือถ้าจะกล่าวในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว ระบบประกันสุขภาพเป็นระบบที่กลไกตลาดไม่ได้ทำหน้าที่ในการตัดสินราคาของการให้บริการ โดยราคาหรือเงินที่ได้ในการอุดหนุนที่เกิดขึ้นนั้น มีระดับที่ต่ำกว่าในกรณีที่ปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่เป็นตัวตัดสิน หรือเป็นระดับราคาที่ต่ำกว่าจุดดุลยภาพที่เกิดจากเส้นอุปสงค์หรือเส้นความต้องการรับการบริการตัดกับเส้นอุปทานหรือเส้นความต้องการให้บริการที่ควรเป็นนั่นเอง
ซึ่งแน่นอน ณ.จุดดุลยภาพใหม่ที่เกิดขึ้น ความต้องการรับบริการทางด้านสาธาณสุข จะมีมากกว่าความสามารถในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขของรัฐหากยังรักษาคุณภาพของการให้บริการไว้ให้ดีดังเดิม ดังนั้นเพื่อให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการลดคุณภาพของการให้บริการลดเพื่อให้ต้นทุนต่อการรักษาผู้ป่วยลดลง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาในด้านคุณภาพของการให้บริการทางด้านสาธารณสุขที่ประชาชนจะได้รับต่อไปในอนาคต โดยยิ่งปล่อยให้กลไกของตลาดถูกบิดเบือนมากเท่าไหร่ ปัญหาทางด้านคุณภาพของการให้บริการที่จะเกิดขึ้นก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ประสบการณ์ของประเทศอื่นๆที่ใช้ระบบประกันสุขภาพมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของประเทศที่พัฒนาแล้ว ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการการบิดเบือนกลไลตลาดเป็นอย่างดี เช่น ระบบประกันสุขภาพของประเทศอังกฤษและแคนาดา ต่างก็มีปัญหาในเรื่องเงินอุดหนุนที่มีอยู่จำกัดและมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้โรงพยาบาลไม่สามารถจัดซื้อเครื่องไม้ เครื่องมือในการรักษาที่ทันสมัย จำนวนเตียงต่อหัวประชากรลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนที่จะมีระบบประกันสุขภาพเกิดขึ้น เงินที่ใช้ในการจ้างบุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาต้องรอจนกว่าจะมีแพทย์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ว่าง ซึ่งในบางกรณีการรอคอยมีระยะเวลาที่นานเกินไป จนทำให้การรักษาไม่ทันท่วงที เป็นต้น
การวิเคราะห์โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นและการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่น ทำให้พอคาดเดาได้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้กับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เราคงไม่อยากเห็นปัญหาในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ต้องมาเกิดซ้ำในประเทศไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาถึงแนวทางต่างๆในการอุดหนุนโครงการให้อยู่รอดได้ รวมถึงการดูแลในเรื่องคุณภาพในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขให้อยู่ในระดับที่ดี มิเช่นนั้นแล้ว ในความเป็นจริงประเทศไทยอาจกำลังเดินออกจากเป้าหมายที่ฝันไว้กับการเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพของเอเชีย (Health Hub of Asia)
ถึงจุดนี้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค คงไม่ใช่แค่เพียงนโยบายที่ใช้เพื่อหาเสียงของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นโครงการที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อความเป็นดีอยู่ดีของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั่นเอง
* "หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 25 พ.ค. 2549
Thursday, March 9, 2006
สถาบันการเมืองกับการพัฒนาประเทศ*
เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น ผมขอยกตัวอย่างประกอบ สมมติว่า เราอยู่ในประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน ท่านผู้อ่านคงไม่อยากที่จะซื้อรถแพงๆ มาขับ หรือซื้อของแพงๆมาใช้ เพราะเกรงว่า วันหนึ่งอาจมีขโมยเข้ามาขโมยของรักของท่าน เช่นเดียวกัน บริษัท และธุรกิจต่างๆ ก็คงไม่อยากทำธุรกรรมในประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองการทำสัญญาหรือข้อตกลงที่เกิดจากการทำธุรกรรมเหล่านั้น หรือในสถานการณ์ปัจจุบันที่การเมืองมีความไม่สงบ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐต่างๆ (Megaprojects) ที่วาดหวังไว้คงต้องหยุดหรือชะลอจนกว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัยทางด้านการเมืองและสถาบันต่างๆที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตของประเทศ
นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกอย่าง Prof. William Easterly และ Ross Levine** ได้ทำการศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่รวมถึงปัจจัยทางด้านการเมืองและสถาบันอื่นๆ ที่มีผลต่อการเติบโตของประเทศทั่วโลกกว่า 70 ประเทศ ตัวอย่างเช่น เหตุใดทั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกมีพรมแดนอยู่ติดกัน แต่ทำไมรายได้ต่อหัวประชากรในเม็กซิโกจึงต่ำกว่ารายได้ต่อหัวประชากรในอเมริกาถึงกว่า 4 เท่าตัว การหาคำตอบของประเด็นคำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
ผลที่ได้จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ระดับรายได้แตกต่างกันเช่นนี้ มิใช่เกิดจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีทรัพยากรที่มากกว่าหรือแตกต่างจากประเทศเม็กซิโก แต่กลับเกิดจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีสถาบันทางด้านการเมือง และสถาบันกฎหมายที่เข้มแข็งกว่า ซึ่ง Prof. Easterly และ Levine สรุปว่า หากประเทศเม็กซิโกสามารถพัฒนาสถาบันการเมือง และสถาบันกฎหมายให้เข้มแข็งในระดับเดียวกันกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้ รายได้ต่อหัวประชากรของทั้งสองประเทศจะเท่ากันนั้นเอง
ผลที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ ผู้อ่านอย่าเข้าใจผิดว่า การมีสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งหมายถึงการมีรัฐบาลอยู่ชุดเดียว ที่ไม่ว่าจะเลือกตั้งกี่ครั้งก็ได้นายกกลับมาเป็นคนเดิม หรือการผูกขาดทางการเมืองจะเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ จริงๆแล้วความหมายของการมีสถาบันการเมืองที่เข้มแข็งคือ การที่มีระบบสถาบันที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้มาก รวมถึงมีระบบที่สามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากปราศจากสิ่งเหล่านี้การเมืองที่เข้มแข็งอาจไม่ใช่สิ่งที่ดี ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศซิมบับเว (Zimbabwe)
ประเทศซิมบับเวเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวย หรือมีฐานะดีกว่าประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา ภายหลังการได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในช่วงปี คศ. 1980 ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โรเบิรต์ มูกาเบ้ (Robert Mugabe) ที่มีอำนาจผูกขาดทางการเมือง กลับทำลายระบบสถาบันต่างๆ ที่อังกฤษได้สร้างไว้ในช่วงปกครอง ระบบสถาบันต่างๆเหล่านั้น ทั้งสถาบันการเมือง สถาบันสังคม สถาบันกฎหมาย ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศซิมบับเวร่ำรวยขึ้นมาในช่วงเวลาที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ผลที่ตามมาคือ ในช่วงเวลาเพียงกว่า 20 ปีให้หลัง ประเทศซิมบับเวกลับมายากจน และมีความแตกแยกอย่างรุนแรงจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นสำหรับประเทศไทย การมีรัฐบาลที่เข้มแข็งเกินไปคงไม่ใช่สิ่งที่ดี หากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง หรือขาดซึ่งระบบสถาบันที่สามารถเข้าไปตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ คงต้องยอมรับกันว่า ประเทศไทยยังมีปัญหานี้ค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นการเดินถอยหลังไปหนึ่งก้าว เพื่อปรับกฎเกณฑ์ของสถาบันให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ให้มีความโปร่งใส ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น และมีระบบของสถาบันที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้มากขึ้น การปรับกฎเกณฑ์เหล่านี้จะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และประเทศไทยคงจะไม่เดินซ้ำรอยของประเทศซิมบับเว จากการที่มีผู้นำที่มีอำนาจผูกขาดมากเกินไป โดยขาดระบบสถาบันที่เข้มแข็งพอที่จะเข้าไปตรวจสอบได้นั่นเอง
* "สถาบันการเมืองกับการพัฒนาประเทศ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 9 มี.ค. 2549
** Easterly, William and Ross Levine, 2002, “Tropics, Germs, and Crops: How Endowments Influence Economic Development,” NBER Working Paper no. 9106.
Thursday, February 2, 2006
หนีภาษีง่ายนิดเดียว*
กรณีการขายหุ้นกว่า 70,000 ล้านบาทที่เกิดขึ้นได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายในสังคมไทย เช่น มีการทำผิดหรือไม่? การขายหุ้นและได้กำไรโดยไม่ต้องเสียภาษี เป็นการหนีภาษีหรือไม่? ผิดกฎหมายหรือเปล่า? รวมถึงแนวทางที่จะไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีก
กฎหมายในปัจจุบัน รายได้ส่วนเพิ่มที่เกิดจากส่วนต่างราคาหุ้น หรือ Capital Gain สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ซึ่งหลักการนี้ไม่เพียงแต่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทย แต่ยังถูกนำมาใช้ในประเทศอื่นๆทั่วโลก สำหรับเหตุผลสนับสนุนที่สำคัญคือ หากกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีจากส่วนต่างราคาหุ้นที่ได้ภายหลังการขายหุ้น อาจส่งผลทำให้นักลงทุนไม่อยากที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือแม้แต่ตัวบริษัทเองก็อาจไม่มีแรงจูงที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น กฎหมายที่เกิดขึ้นจึงได้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ที่เกิดจาก Capital Gain แต่ทั้งนี้การที่ระบบภาษีในปัจจุบันไม่คิดภาษีในส่วนนี้ กลับสร้างปัญหาติดตามขึ้นมาอย่างมาก เช่น สร้างช่องโหว่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี เป็นต้น
ระบบภาษีในปัจจุบันยังมีปัญหาจากการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน (Double Taxation) ในส่วนของการจ่ายเงินปันผล เหตุที่กล่าวว่ามีการเก็บภาษีซ้ำซ้อนคือ รัฐมีการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรของบริษัทที่ได้ในแต่ละปี ซึ่งกำไรที่เหลือหลังหักภาษีแล้วของบริษัท หากนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น เงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นด้รับจะถูกนำมาคิดคำนวณในการเสียภาษีเงินได้บุคคลอีกด้วย โดยถือว่าเงินปันผลที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของภาษีเกิดขึ้นมา
ระบบภาษีเงินได้นิติบุคคลในปัจจุบันมีความไม่เป็นธรรม และยังส่งเสริมให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (Tax Avoidance) เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย สมมติว่านาย ก เป็นเจ้าของบริษัทหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ โดยในแต่ละปี บริษัทมีผลกำไรที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งผลกำไรที่ได้ในแต่ละปี บริษัทได้นำมาคิดในการจ่ายภาษีอย่างถูกต้องเสมอมา สมมติว่า นาย ก กำลังพิจารณาระหว่างการจ่ายเงินปันผลจากผลกำไรที่เหลือหลังหักภาษีแล้ว 1 บาทต่อหุ้น แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งก็คือ นาย ก นั้นเอง หรือไม่ให้มีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นเลย ซึ่งในกรณีนี้หุ้นจะมีราคาปรับเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อหุ้นแทน ถามว่านาย ก ควรเลือกวิธีใด เพื่อให้มีรายได้สูงสุด
หากนาย ก เลือกวิธีที่จะจ่ายเงินปันผล (สมมติว่าปัจจุบันนาย ก เสียภาษีเงินได้บุคคลที่อัตราร้อยละ 30) เงินปันผล 1 บาทที่นาย ก ได้จะเหลือเพียง 0.70 บาท หลังหักภาษีแล้ว ในทางกลับกันหากนาย ก เลือกที่จะไม่จ่ายเงินปันผล ซึ่งทำให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อหุ้น และต่อมานาย ก ตัดสินใจขายหุ้นนั้น นาย ก จะได้รับเงินเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อหุ้นเต็มๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี และที่สำคัญคือ นาย ก ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย จุดนี้เป็นหนึ่งในช่องโหว่ของระบบภาษีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเอื้อให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง
ช่องโหว่ในการหลีกเลี่ยงภาษีในลักษณะนี้ ยังสร้างความไม่เป็นธรรมต่อคนในสังคม ประชาชนกินเงินเดือนที่มีรายได้น้อย รายได้ที่เขาได้มาทุกบาท ทุกสตางค์ ต้องถูกนำมาคิดคำนวณในการเสียภาษี ในขณะที่คนรวยที่มีธุรกิจใหญ่โตอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีได้ง่าย จากช่องโหว่ของระบบภาษีที่มีในปัจจุบัน
* "หนีภาษีง่ายนิดเดียว" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 2 ก.พ. 2549