Thursday, February 2, 2006

หนีภาษีง่ายนิดเดียว*

กรณีการขายหุ้นกว่า 70,000 ล้านบาทที่เกิดขึ้นได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายในสังคมไทย เช่น มีการทำผิดหรือไม่? การขายหุ้นและได้กำไรโดยไม่ต้องเสียภาษี เป็นการหนีภาษีหรือไม่? ผิดกฎหมายหรือเปล่า? รวมถึงแนวทางที่จะไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีก

กฎหมายในปัจจุบัน รายได้ส่วนเพิ่มที่เกิดจากส่วนต่างราคาหุ้น หรือ Capital Gain สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ซึ่งหลักการนี้ไม่เพียงแต่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทย แต่ยังถูกนำมาใช้ในประเทศอื่นๆทั่วโลก สำหรับเหตุผลสนับสนุนที่สำคัญคือ หากกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีจากส่วนต่างราคาหุ้นที่ได้ภายหลังการขายหุ้น อาจส่งผลทำให้นักลงทุนไม่อยากที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือแม้แต่ตัวบริษัทเองก็อาจไม่มีแรงจูงที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น กฎหมายที่เกิดขึ้นจึงได้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ที่เกิดจาก Capital Gain แต่ทั้งนี้การที่ระบบภาษีในปัจจุบันไม่คิดภาษีในส่วนนี้ กลับสร้างปัญหาติดตามขึ้นมาอย่างมาก เช่น สร้างช่องโหว่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี เป็นต้น

ระบบภาษีในปัจจุบันยังมีปัญหาจากการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน (Double Taxation) ในส่วนของการจ่ายเงินปันผล เหตุที่กล่าวว่ามีการเก็บภาษีซ้ำซ้อนคือ รัฐมีการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรของบริษัทที่ได้ในแต่ละปี ซึ่งกำไรที่เหลือหลังหักภาษีแล้วของบริษัท หากนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น เงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นด้รับจะถูกนำมาคิดคำนวณในการเสียภาษีเงินได้บุคคลอีกด้วย โดยถือว่าเงินปันผลที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของภาษีเกิดขึ้นมา

ระบบภาษีเงินได้นิติบุคคลในปัจจุบันมีความไม่เป็นธรรม และยังส่งเสริมให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (Tax Avoidance) เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย สมมติว่านาย ก เป็นเจ้าของบริษัทหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ โดยในแต่ละปี บริษัทมีผลกำไรที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งผลกำไรที่ได้ในแต่ละปี บริษัทได้นำมาคิดในการจ่ายภาษีอย่างถูกต้องเสมอมา สมมติว่า นาย ก กำลังพิจารณาระหว่างการจ่ายเงินปันผลจากผลกำไรที่เหลือหลังหักภาษีแล้ว 1 บาทต่อหุ้น แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งก็คือ นาย ก นั้นเอง หรือไม่ให้มีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นเลย ซึ่งในกรณีนี้หุ้นจะมีราคาปรับเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อหุ้นแทน ถามว่านาย ก ควรเลือกวิธีใด เพื่อให้มีรายได้สูงสุด

หากนาย ก เลือกวิธีที่จะจ่ายเงินปันผล (สมมติว่าปัจจุบันนาย ก เสียภาษีเงินได้บุคคลที่อัตราร้อยละ 30) เงินปันผล 1 บาทที่นาย ก ได้จะเหลือเพียง 0.70 บาท หลังหักภาษีแล้ว ในทางกลับกันหากนาย ก เลือกที่จะไม่จ่ายเงินปันผล ซึ่งทำให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อหุ้น และต่อมานาย ก ตัดสินใจขายหุ้นนั้น นาย ก จะได้รับเงินเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อหุ้นเต็มๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี และที่สำคัญคือ นาย ก ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย จุดนี้เป็นหนึ่งในช่องโหว่ของระบบภาษีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเอื้อให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง

ช่องโหว่ในการหลีกเลี่ยงภาษีในลักษณะนี้ ยังสร้างความไม่เป็นธรรมต่อคนในสังคม ประชาชนกินเงินเดือนที่มีรายได้น้อย รายได้ที่เขาได้มาทุกบาท ทุกสตางค์ ต้องถูกนำมาคิดคำนวณในการเสียภาษี ในขณะที่คนรวยที่มีธุรกิจใหญ่โตอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีได้ง่าย จากช่องโหว่ของระบบภาษีที่มีในปัจจุบัน

* "หนีภาษีง่ายนิดเดียว" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 2 ก.พ. 2549

No comments:

Post a Comment