ราคาน้ำมันได้พุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทย ประเทศอื่นๆในโลกที่ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมัน ล้วนประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน สิ่งที่แตกต่างกันกลับกลายเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดว่า ประชาชนในประเทศใด จะเผชิญกับปัญหาในระดับที่รุนแรงกว่ากัน
เมื่อพิจารณาดูอัตราการใช้น้ำมันในแต่ละประเทศ กลับเป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศไทยมีอัตราการใช้น้ำมันสูงกว่าประเทศอื่นๆ เป็นอย่างมาก โดยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้งหมด และสูงกว่าประเทศส่งออกสำคัญของโลกเช่น จีน และประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆอีกด้วย เป็นที่น่าแปลกใจว่า เหตุใดประเทศไทยจึงมีอัตราการใช้น้ำมันสูงกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งๆที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม
หากประเทศไทยผลิตสินค้าที่ใช้ปัจจัยน้ำมันเข้มข้นหรือเน้นใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบในการผลิต เราคงไม่แปลกใจกับตัวเลขที่สูงขนาดนี้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีลักษณะใกล้เคียงกับไทย อย่างเช่น มาเลเซีย กลับพบว่ามาเลเซียมีอัตราการใช้น้ำมันที่ต่ำกว่าเราเกือบสองเท่า ดังนั้นอัตราการใช้น้ำมันที่สูงย่อมแสดงถึงการใช้น้ำมันอย่างไร้ประสิทธิภาพของประเทศไทยนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มากกว่าประเทศอื่นๆจากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับแพงขึ้นในปัจจุบัน
ปัญหาการใช้น้ำมันอย่างไม่มีประสิทธิภาพของไทย เป็นปัญหาที่ภาครัฐควรออกมายอมรับถึงข้อผิดพลาดในการกำหนดนโยบายที่ผ่านมา ที่ควรส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่าการคิดนโยบายฉาบฉวยมาใช้ เช่น การกำหนดเวลาการปิดปั้มน้ำมันเร็วขึ้นจากเดิม หรือแม้แต่การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เป็นต้น
ผู้อ่านอาจสงสัยว่า แล้วนโยบายใดบ้าง ที่ภาครัฐสามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันได้อย่างมีนัยสำคัญและทำให้การใช้น้ำมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จริงๆแล้วมีหลายแนวที่ภาครัฐสามารถทำได้ เช่น การสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนน้ำมันที่ถูกต้องอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมให้มีทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลด้วยก๊าซธรรมชาติในภาคการขนส่งอย่างเช่นรถไฟ (ดังที่หลายๆประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ได้มีการนำมาใช้เป็นเวลานานแล้ว) เป็นต้น จริงๆแล้วแนวคิดดังกล่าวมีมานานแล้วในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงยังต้องพึ่งพิงการใช้น้ำมันเป็นหลักในภาคการขนส่ง ซึ่งน่าจะถึงเวลาแล้ว ที่ภาครัฐควรกลับมาทบทวนถึงความเป็นไปได้ในการการใช้พลังงานทดแทนน้ำมันอย่างจริงจังกว่านี้
นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือสำคัญของภาครัฐที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้สนับสนุนให้มีการลดปริมาณการใช้น้ำมันลงอย่างถูกต้อง เครื่องมือดังกล่าวคือ มาตรการทางด้านภาษี หากผู้อ่านลองสังเกตราคาน้ำมันในแต่ละประเทศจะพบว่า ราคาน้ำมันของไทยค่อนข้างถูกกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สิงค์โปร ญี่ปุ่น เป็นต้น สาเหตุที่สำคัญคือ ประเทศเหล่านั้นกำหนดอัตราภาษีน้ำมันที่สูงกว่า เพื่อทำให้ราคาน้ำมันในประเทศแพงขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความต้องการใช้น้ำมัน เงินภาษีที่จัดเก็บได้จะถูกจัดสรรในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงถูกนำมาใช้ในการอุดหนุนราคาค่าใช้บริการขนส่งมวลชนให้ถูกลง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนกันมากขึ้น ดังนั้นประชาชนในประเทศเหล่านั้น แม้นว่าจะต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่สูงกว่า แต่เนื่องจากมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่ภาครัฐจัดให้ ประชาชนในประเทศเหล่านั้น จึงเดือดร้อนน้อยกว่าประชาชนชาวไทยจากปัญหาราคาน้ำมันแพงในปัจจุบัน
การกำหนดนโยบายของภาครัฐให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากกำลังของประชาชนธรรมดาจะสามารถทำเองได้ แต่เป็นหน้าที่ของภาครัฐโดยตรงที่ต้องกำหนดนโยบายให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการใช้น้ำมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนจากปัญหาราคาน้ำมันแพงในขณะนี้ ดังนั้นการใช้น้ำมันอย่างไร้ประสิทธิภาพของไทยในปัจจุบันจึงเกี่ยวข้องกับนโยบายของภาครัฐที่ผ่านมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
* "นโยบายของภาครัฐกับการใช้น้ำมันอย่างไร้ประสิทธิภาพ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 15 ก.ย. 2548
No comments:
Post a Comment