โดยปกติแล้ว เครื่องมือทางด้านการคลังจะประกอบไปด้วยนโยบายด้านการจัดเก็บภาษี และนโยบายด้านการใช้จ่ายของภาครัฐ สำหรับนโยบายด้านการจัดเก็บภาษี นอกเหนือจากที่ควรมีจุดมุ่งหมายในการหาเงินเข้ารัฐแล้ว ยังควรจะต้องมีความเท่าเทียมกันใน กล่าวคือ ผู้ที่มีรายได้เท่ากันควรจะจ่ายภาษีในระดับที่เท่าเทียมกัน และผู้ที่มีรายได้มากควรเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้จากคนรวยไปสู่คนจนได้
จากหลักการที่มุ่งหวังให้จัดเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้มากในสัดส่วนที่สูงกว่าคนที่มีรายได้น้อย จึงทำให้หลายๆ ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) ได้มีการจัดเก็บภาษีในลักษณะที่เป็นอัตราภาษีก้าวหน้า (Progressive Tax System) มาโดยตลอด แต่ทั้งนี้มันกลับเป็นระบบภาษีที่มีความซับซ้อนกว่าที่ควรจะเป็น และมีช่องโหว่ทางด้านภาษี (Tax Loophole) เป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นคือ ภายใต้ระบบภาษีที่มีอัตราก้าวหน้า คนที่มีรายได้มากจะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าคนที่มีรายได้น้อยจริงหรือ?
เรากลับพบว่า ไม่แน่เสนอไปที่ผู้มีรายได้มากจะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย เนื่องจาก ผู้เสียภาษีต่างมีความพยายามที่จะลดภาระภาษีให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นได้ สำหรับระบบโครงสร้างภาษีซับซ้อน ย่อมต้องมีช่องโหว่ที่ใช้ในการหลีกเลี่ยงภาษีได้มาก สิ่งเหล่านี้ ยืนยันได้จากการที่เราพบว่า ปัจจุบันมีหลักสูตรในการบริหารภาษีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งมีรายการวิทยุหรือหนังสือ ที่แนะนำให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปว่าจะทำอย่างไรจะประหยัดภาษีลงได้ นอกจากนั้น โครงสร้างภาษีที่ซับซ้อนย่อมก่อให้เกิดต้นทุนในการกรอกภาษี (Compliance Cost) และการตรวจสอบ (Monitor Cost) ที่สูง
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ หลายๆประเทศ จึงมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนระบบภาษีที่ซับซ้อน ให้มาเป็นระบบภาษีที่ง่ายขึ้น เพื่อช่วยลดช่องโหว่ในการหลีกเลี่ยงภาษีลงไป และจะทำให้การเก็บจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพ ระบบภาษีใหม่ดังกล่าวคือ ระบบภาษีที่เก็บในอัตราคงที่ (Flat Tax System) โดยไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือจน จะต้องเสียภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกัน ซึ่งลดโอกาสในการหลบหรือหลีกเลี่ยงอัตราภาษีในระดับที่สูงของผู้เสียภาษี นอกจากนี้ต้นทุนในการใช้ และการตรวจสอบก็ลดลงไปด้วย
แต่ท่านอาจสงสัยว่า ระบบภาษีดังกล่าวจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้หรือไม่ นอกจากนี้เงินภาษีที่รัฐจัดเก็บได้จะลดลงหรือเปล่า จริงๆแล้ว แม้ว่าจะเป็นระบบภาษีที่มีอัตราคงที่ ก็มิได้หมายความว่ารัฐจะจัดเก็บภาษีได้น้อยลง รัฐสามารถออกแบบระบบภาษีให้มีรายรับเท่าเดิมได้ (Tax Neutral) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่รัฐเรียกเก็บ จากการศึกษาที่ผ่านมา ภายหลังการนำระบบภาษีใหม่มาใช้ในรัสเซียพบว่า เงินภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นถึง 26 เปอร์เซ็นต์ และมีผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 16 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังพบว่า คนมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น สำหรับการกระจายรายได้จากคนรวยไปยังคนจนก็ยังสามารถทำได้ เช่น กำหนดให้มีข้อยกเว้นทางภาษีแก่ผู้มีรายได้น้อย (Tax Exemption) เป็นต้น
สำหรับประเทศที่ปัจจุบันได้มีการใช้ระบบอัตราภาษีคงที่ไปแล้วมีหลายประเทศด้วยกัน ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก แต่ทั้งนี้ แม้แต่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีความพยายามผลักดันจากนักวิชาการทางด้านการคลัง ให้นำระบบภาษีดังกล่าวมาใช้ ดูเหมือนว่าทิศทางโลกกำลังไปในทิศทางนี้ ไม่แน่ว่าภายในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยอาจนำระบบภาษีที่เก็บในอัตราคงที่มาใช้ก็เป็นได้
* "ทิศทางโลกต่อระบบโครงสร้างภาษีใหม่" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 26 พ.ค. 2548
No comments:
Post a Comment