Wednesday, January 19, 2005

ประเมินผลงานด้วย EVA ถูกต้องจริงหรือ?*

รัฐบาลปัจจุบันได้ผลักดันให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจนำแนวคิดของ Economic Value Added (EVA) หรือ การวัดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการประเมินผลการดำเนินงาน โดยปัจจุบันหน่วยงานของภาครัฐเช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลังและอีกหลายๆหน่วยงานของรัฐที่ถูกผลักดันให้นำ EVA มาใช้

โดยหลักการ EVA เป็นมาตรวัดผลงานทางการเงินชนิดหนึ่ง ที่คิดคำนวณมาจาก

EVA = กำไรสุทธิจากการดำเนินงานภายหลังหักภาษี (NOPAT) – เงินลงทุนในสินทรัพย์ (Capital)*อัตราต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital)

ความแตกต่างของ EVA เมื่อเทียบกับกำไรทางบัญชี คือได้มีการนำต้นทุนในส่วนของเงินทุนจากผู้ถือหุ้นมาคิดเป็นหนึ่งในต้นทุนของการดำเนินงานด้วย ซึ่งผมเองไม่ได้มีความคิดเห็นขัดแย้งในหลักการที่มีการผลักดันให้มีการวัดผลงานในหน่วยงานของรัฐเกิดขึ้น ซึ่งคงเป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้ซึ่งประกอบด้วยผู้มีความสามารถในภาคธุรกิจอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ผลักดันให้เกิดการประเมินผลงานของหน่วยงานภาครัฐในลักษณะเดียวกันกับภาคเอกชน ที่เน้นการสร้างผลกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นวัตถุประสงค์หลัก แต่มีข้อสังเกตบางประการดังนี้

1. EVA ไม่ได้มีการนำต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ หรือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากโครงการนั้นๆเข้ามาใช้ในการคิดคำนวณจริง ซึ่งถึงตรงนี้หน่วยงานภาครัฐต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ระหว่างการสร้างผลกำไรต่อองค์กรสูงสุด (Maximizing profit) หรือ การทำให้สวัสดิการสังคมหรือความเป็นดีอยู่ดีสูงสุด (Maximizing social welfare) เพื่อที่จะได้มีการวัดผลงานที่ถูกต้อง หากเป้าหมายคือการสร้างผลกำไรต่อองค์กรสูงสุด การนำเอามาตรวัดผลงานทางการเงินเช่น EVA มาใช้คงเป็นเรื่องที่ไม่ผิด แต่ในทางกลับกัน หากเป้าหมายของรัฐคือการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี การใช้มาตรวัดทางการเงินในลักษณะนี้มาตัดสินโครงการนั้นเป็นโครงการที่ดีหรือไม่ดี คงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก
 
ตัวอย่างเช่น สมมติว่ารัฐกำลังพิจารณาว่าควรสร้างเส้นทางรถไฟเส้นหนึ่งหรือไม่ ถ้าพิจารณาแต่ในเรื่องของผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว โครงการนี้อาจเป็นโครงการที่ไม่มีผลกำไร และอาจขาดทุนด้วยซ้ำไป โครงการนี้จึงไม่ควรสร้าง แต่ในด้านสังคม โครงการนี้อาจเป็นโครงการที่ดีและน่าลงทุนหากพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม เช่น ปัญหาการจราจรลดลง คนไทยมีชีวิตและความเป็นอยู่ทีดีขึ้น เป็นต้น

2. จริงหรือที่ EVA เป็นมาตรวัดผลงานทางการเงินที่ดีกว่ามาตรวัดทางการเงินอื่นๆ เช่น กำไรทางบัญชี EPS เงินปันผล? เหตุที่ผมต้องยกประเด็นนี้ขึ้นมาเขียน เพราะในปัจจุบันหน่วยงานของภาครัฐหลายๆ หน่วยงาน ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของ EVA เท่าไหร่นัก จึงมีความจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาให้คำแนะนำ หาก EVA เป็นมาตรวัดที่ดีกว่ามาตรวัดอื่นๆจริง ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากว่า EVA ไม่ได้ดีกว่ามาตรวัดอื่นๆ แล้วเหตุใดภาครัฐจึงได้ผลักดันให้มีการใช้ EVA ซึ่งในปัจจุบันหลายๆหน่วยงานภาคเอกชนที่เคยนำมาตรวัดผลงาน EVA มาใช้ ได้เริ่มปรับเปลี่ยนไปใช้มาตรวัดอย่างอื่นแทน
 
จากการศึกษาในต่างประเทศ ที่ทำการทดสอบเปรียบเทียบมาตรวัดทางการเงินต่างๆกับ EVA ผลการศึกษาที่ได้ ไม่ได้ชี้ว่า EVA จะเหนือกว่ามาตรวัดอื่นๆในหลายๆด้าน อีกทั้งในงานวิจัยยังพบว่า ยังมีหลายๆประเด็นที่ EVA ไม่สามารถนำมาใช้ได้

3. การคิดคำนวณ EVA ในส่วนของ กำไรสุทธิจากการดำเนินงานภายหลังหักภาษี (NOPAT) หากกำไรที่ถูกบันทึกลงในบัญชีทางการเงินเป็นกำไรที่ถูกนำมาปรับมาแล้ว เช่น มีการปรับลดผลกำไรลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายทางด้านภาษี ผลกำไรที่ระบุในบัญชีจึงไม่ใช้ผลกำไรที่แท้จริงของบริษัท EVA ที่คิดคำนวณได้จะเป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้การประเมินผลงานด้วย EVA ไม่ถูกต้องด้วย

จุดมุ่งหมายของผม ไม่ได้ต้องการจะชี้ว่าการนำมาตรวัดทางการเงินต่างๆมาใช้ในการประเมินผลงานของหน่วยงานภาครัฐเป็นสิ่งที่ผิด ซึ่งในความเป็นจริงกลับเป็นสิ่งดี ที่ช่วยก่อให้เกิดการแข่งขันและทำให้การทำงานของภาครัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทั้งนี้ภาครัฐคงต้องอย่าลืมนำเอามาตรวัดอื่นๆ ที่อาจไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขทางบัญชีมาใช้ในการประเมินด้วย เพราะหน้าที่ของภาครัฐ คงไม่ใช่การมุ่งหวังในการทำกำไร แต่เป็นการสร้างความเป็นดีอยู่ดีของประชาชนได้นั้นเอง

* "ประเมินผลงานด้วย EVA ถูกต้องจริงหรือ?" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 19 ม.ค. 2548

No comments:

Post a Comment