ในโลกใบเล็กของเรา มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งออกมาในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ข่าวเล็กๆ ที่แทบจะไม่มีใครให้ความสนใจในประเทศไทย แต่ข่าวนี้หากเป็นจริงเมื่อใด ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงวิธีชีวิตของคนหลายร้อยล้านคนบนโลกแห่งนี้กันเลยทีเดียว ข่าวที่ผมกล่าวถึงในที่นี้คือ ข่าวการเริ่มพิจารณาเพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายที่จะใช้โครงสร้างภาษีเดียวกัน (Tax harmonization) ของกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union)
หากย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้สร้างความประหลาดใจให้กับโลกใบนี้ ด้วยความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงที่จะใช้เงินสกุลเดียวร่วมกัน ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อของเงินสกุลยูโร เหตุการณ์ในครั้งนั้น ประเทศสมาชิกทั้งหลายจำเป็นต้องยอมเสียสละถึงความมีอิสระทางด้านนโยบายการเงินในแต่ละประเทศ (Monetary policy sovereignty) ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญก้าวใหญ่ ที่จะนำไปสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจหนึ่งเดียวของกลุ่มสหภาพยุโรป มาในวันนี้กลุ่มสหภาพยุโรปกำลังจะสร้างความประหลาดใจให้กับโลกครั้งใหม่ ด้วยการผลักดันข้อตกลงการมีโครงสร้างภาษีนิติบุคคลเดียวกัน ซึ่งในครั้งนี้สิ่งที่ประเทศสมาชิกจะต้องยอมสูญเสียคือ ความมีอิสระของนโยบายภาษี (Tax sovereignty)
แม้การขาดอิสระของการกำหนดนโยบายภาษีจะทำให้รัฐบาลขาดเครื่องมือที่สำคัญไปก็ตาม แต่โครงสร้างภาษีเดียวเองก็มีข้อดีอยู่หลายประการด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่เราสามารถเห็นได้ไม่ยาก คือ โครงสร้างภาษีเดียว ช่วยส่งเสริมให้กลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปรวมกันเป็นเนื้อเดียวกันอย่างเป็นบึกแผ่นและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และยังช่วยลดต้นทุนในการกรอกภาษี (Tax compliance costs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทข้ามชาติ ที่มีธุรกิจ ธุรกรรมอยู่ในหลายประเทศลง
นอกจากนี้อีกหนึ่งประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งในทางเศรษฐศาสตร์คือ การช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบิดเบือนที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่แตกต่างกันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงาน กล่าวคือ บางประเทศใช้วิธีการกำหนดอัตราภาษีต่ำ เพื่อดึงดูดให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่การไหลเข้ามาของเงินทุนที่เกิดขึ้นเนื่องจากอัตราภาษีที่แตกต่างกันในลักษณะนี้ จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์นั้น เราเรียกว่าความสูญเสียทางประสิทธิภาพ (Efficiency) จากการที่ตลาดถูกบิดเบือนนั่นเอง
แม้ว่าในวันนี้ หลายๆ ประเทศได้ออกมาคัดค้านกับแนวความคิดดังกล่าว เช่น อังกฤษ และไอร์แลนด์ และถึงแม้ว่าหนทางสู่ความสำเร็จที่จะบรรลุข้อตกลงยังอยู่ห่างไกลจากปัจจุบันอยู่มากก็จริง แต่ถ้าหากถามถึงความยากง่ายระหว่าง การบรรลุข้อตกลงการใช้เงินสกุลเดียวกัน กับ การบรรลุข้อตกลงการใช้โครงสร้างภาษีเดียวกัน คำตอบค่อนข้างชัดเจนว่า การบรรลุข้อตกลงที่จะใช้เงินสกุลเดียวกันนั้น ค่อนข้างยุ่งยากและมีความซับซ้อนกว่าค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงเป็นไปได้ครับ หากเราจะได้เห็นถึงความสำเร็จในการบรรลุถึงข้อตกลงทางด้านนโยบายภาษีที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปในอนาคต
แต่ทั้งนี้เป็นที่น่าเสียดาย หากมองย้อนกลับมายังประเทศในภูมิภาคเราแล้ว หลายๆครั้งในอดีต เช่น ในช่วงที่เราประสบปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินในภูมิภาคเอเชีย เราเคยพูดถึงความร่วมมือที่จะนำไปสู่การรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งในระดับอาเซียน และในระดับเอเชีย เรายังเคยคิดถึงความร่วมมือที่จะปรับใช้ค่าเงินสกุลเดียวร่วมกันในภูมิภาค หรือ แม้แต่การใช้เงินญี่ปุ่นเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่างประเทศภายในภูมิภาค แทนการพึ่งพิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพียงสกุลเดียว ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างให้ภูมิภาคเอเชียสามารถเติบโตได้อย่างมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
แต่ในวันนี้ 10 ปีผ่านไป ทุกสิ่งทุกอย่าง ยังเป็นเช่นเดิม ไม่มีสัญญานใดๆที่บ่งบอกถึงการพัฒนาหรือความคืบหน้าใดๆที่เป็นรูปธรรม ในการสร้างความร่วมมือกันภายในภูมิภาค ในทางกลับกัน กลับมีแต่สิ่งที่แสดงถึงการแตกแยกและการแข่งขันกันเองภายในภูมิภาค เช่นการแข่งขัน แย่งเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีชนิดทวิภาคีกับประเทศคู่ค้าต่างๆ (Bilateral Free Trade Agreement)
น่าผิดหวังครับ ทั้งๆที่ ทุกคนต่างทราบกันดีอยู่ว่า การแข่งกันเองในลักษณะนี้ จะเป็นการลดอำนาจต่อรองของตนเองในการเจรจากับประเทศคู่ภาคียักษ์ใหญ่ต่างๆ ลง อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลเสียต่างๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากความอ่อนแอและความไม่จริงใจที่จะร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆภายในภูมิภาคนี้นั่นเอง วันนี้หรือวันต่อๆไป เราคงทำได้แต่ยืนมอง ดูการพัฒนาของความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศอื่นๆ ภายนอกภูมิภาคแห่งนี้ ผมขอเอาใจช่วยครับ
* "โครงสร้างภาษีเดียวของกลุ่มสหภาพยุโรป" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 17 พ.ค. 2550
No comments:
Post a Comment