ในปีนี้ธนาคารโลกได้ปรับฐานะของประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper-middle income economies) ซึ่งกำหนดให้รายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรในประเทศอยู่ที่ระดับ 3,976-12,275 เหรียญสหรัฐ จากเดิมที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่าง (Lower-middle income economies) ซึ่งกำหนดให้รายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรอยู่ที่ระดับ 1,006-3,975 เหรียญสหรัฐ เพราะเนื่องจากรายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรของประเทศไทยสูงขึ้นมาเป็น 4,210 เหรียญสหรัฐ จึงเป็นเรื่องที่น่าดีใจไม่น้อยที่ประเทศไทยสามารถเลื่อนขึ้นมาอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศมาเลเซียและจีนได้ (ประเทศจีนได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปีนี้เช่นเดียวกับประเทศไทย ส่วนประเทศมาเลเซียได้เลื่อนขึ้นมาก่อนหน้านี้)
เมื่อลองพิจารณาต่อถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถเลื่อนฐานะขึ้นไปอยู่ในระดับถัดไป ซึ่งคือกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง (High income economies) ที่กำหนดให้รายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรสูงกว่า 12,275 เหรียญสหรัฐ (ประเทศสิงค์โปร์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้) ประเทศไทยคงมีโอกาสไม่มากนักภายในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากรายได้ต่อหัวประชากรในประเทศไทยต้องเพิ่มขึ้นสูงถึง 3 เท่าจากระดับปัจจุบัน โดยประเทศไทยคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางอีกนาน ซึ่งคงสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า ประเทศไทยติดอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle income trap) ที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่สามารถก้าวข้ามไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้
เพื่อให้เข้าใจถึง “กับดักรายได้ปานกลาง” ได้ดีขึ้น ผมขอกล่าวถึงการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับขั้น คือ
ระดับที่ 1 ประเทศที่มีลักษณะอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยกระบวนการผลิตถูกกำกับและควบคุมจากนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยังจำเป็นต้องพึ่งพิงจากการนำเข้าจากประเทศ ประเทศในกลุ่มนี้ทำหน้าที่แต่เพียงป้อนปัจจัยแรงงานที่ใช้ในการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและปัจจัยที่ดินแต่เพียงเท่านั้น มูลค่าเพิ่มของการผลิตที่ได้จากอุตสาหกรรมหรือผู้ผลิตภายในประเทศมีค่อนข้างน้อย สำหรับตัวอย่างของประเทศที่ยังอยู่ในระดับนี้ได้แก่ ประเทศเวียดนาม เป็นต้น
ระดับที่ 2 ประเทศที่มีลักษณะอุตสาหกรรมที่ยังพึ่งพิงเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ แต่วัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตเริ่มมาจากผู้ผลิตภายในประเทศมากขึ้น โดยมูลค่าเพิ่มของการผลิตที่ได้จากอุตสาหกรรมหรือผู้ผลิตภายในประเทศมีมากขึ้น แต่กระบวนการผลิตส่วนใหญ่ยังมีลักษณะถูกกำกับและควบคุมจากนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน ซึ่งประเทศไทยและมาเลเซียถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้
ระดับที่ 3 ประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตที่นักลงทุนภายในประเทศได้เข้ามาแทนที่นักลงทุนจากต่างประเทศในทุกขั้นตอนการผลิต มูลค่าเพิ่มของการผลิตที่ถูกสร้างจากอุตสาหกรรมภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และประเทศในกลุ่มนี้เริ่มเป็นผู้ส่งออกสินค้าของตนเองที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับจากตลาดโลก ตัวอย่างเช่น สินค้าภายใต้แบรด์ซัมซุงและฮุนไดของเกาหลีใต้ หรือ แบรด์ HTC ของไต้หวัน เป็นต้น
ระดับที่ 4 ประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตที่เป็นผู้นำในการผลิตสินค้าหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ป้อนสู่ตลาดโลก ประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน เป็นต้น
โดยทั้งนี้ “กับดักรายได้ปานกลาง” มักเกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่านระดับการพัฒนาทางอุตสาหกรรมจากระดับที่ 2 มาเป็นระดับที่ 3 ซึ่งเป็นการเลื่อนขึ้นที่ยากที่สุด และไม่เพียงประเทศไทยและมาเลเซียแต่เพียงเท่านั้น ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ส่วนใหญ่ในโลกนี้ ก็ล้วนติดหล่มของการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ณ จุดนี้ด้วยกันทั้งสิ้น จึงทำให้เราเรียกการไม่สามารถเลื่อนขึ้นของระดับการพัฒนาทางอุตสาหกรรมที่มักเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางว่า “กับดับรายได้ปานกลาง”
แน่นอนว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประเทศไทยจะสามารถผ่านพ้นจากกับดับรายได้ปานกลางนี้ไปได้ แต่ถ้าจะผ่านไปได้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ (รวมถึงปัจจัยการผลิตและนโยบายภาครัฐ) ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการยกระดับการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ผมจะขอกล่าวถึงเรื่องนี้ต่อในบทความถัดไปครับ
*"กับดักรายได้ปานกลางกับระดับการพัฒนาทางอุตสาหกรรม" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 5 ก.ย. 2554
No comments:
Post a Comment