แม้ว่าปี พ.ศ. 2554 พึ่งจะผ่านพ้นไป และเรากำลังอยู่ในเทศกาลแห่งความสุข ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองต้อนรับปี พ.ศ. 2555 แต่ดูแล้วการเริ่มต้นปีใหม่ปีนี้ของประเทศไทย น่าจะเริ่มต้นด้วยความวุ่นวายจากปัญหาที่เรื้อรังและยาวนานทางด้านการเงินการคลังของประเทศ นั่นคือ ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institution Development Fund, FIDF) ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งหรือวิกฤตสถาบันทางการเงินในช่วงปี พ.ศ.2540 ที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังเข้าไปช่วยแบกรับภาระของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยการออกพันธบัตร FIDF 1-3 เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2541-2545) รวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งในวันนี้ ยอดหนี้ FIDF ยังคงเหลือประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท
ท่านผู้อ่านหลายท่านคงแปลกใจว่า เพราะเหตุใด เวลาผ่านไปเกิน 10 ปี ยอดหนี้ FIDF ถึงได้ลดลงจากเดิมเพียงเล็กน้อย เพียงประมาณ 2 แสนล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยต้องจ่ายดอกเบี้ยไปแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจาก ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ได้มีข้อตกลงร่วมระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลังที่กำหนดให้ หนี้ FIDF ธปท. จะเป็นผู้ชำระคืนเงินต้น และกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชำระดอกเบี้ย ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก มีการมองว่า ธปท. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินปีที่เกิดขึ้นในตอนนั้น (จากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด โดยการเข้าปกป้องค่าเงินบาท) แต่ทั้งนี้ ธปท. จะสามารถชำระเงินต้นได้ ก็ต่อเมื่อผลการดำเนินงานของ ธปท. ในปีนั้นมีกำไร ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ก็ไม่ค่อยมีกำไรที่จะไปจ่ายคืนเงินต้นได้ หนี้ FIDF จึงไม่ค่อยลดลง ในขณะที่ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ได้กลายเป็นภาระทางงบประมาณที่กระทรวงการคลังต้องแบกรับภาระในแต่ละปีที่สูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาท หนี้ FIDF จึงได้กลายเป็นปัญหาระหว่าง ธปท. กับกระทรวงการคลังมาอย่างยืดเยื้อและยาวนาน
โดย ธปท. มองว่า หนี้ที่เกิดขึ้นก้อนนี้เป็นหนี้ภาครัฐ จากการที่รัฐบาลในสมัยนั้นเข้าไปรับประกันหนี้ของสถาบันการเงิน ผ่านกลไกของรัฐซึ่งคือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ นอกจากนี้ ธปท. ก็ไม่ได้มีเงินหรือกำไรที่จะสามารถนำไปใช้ในการชำระคืนเงินต้นได้ หากจะให้ ธปท. รับผิดชอบ ก็อาจจะต้องใช้วิธีการพิมพ์เงิน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาต่อวินัยทางการเงินของประเทศ หรือการทำให้ทุนของ ธปท. ติดลบเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำลายความน่าเชื่อถือของ ธปท. ในขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง ก็มองว่ายอดหนี้ก้อนนี้ ธปท. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่เดิม แต่ถ้าหากกระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้ชำระคืนเงินต้น ก็คงไม่พ้นต้องทำผ่านระบบงบประมาณ ซึ่งจะมีผลทำให้ Fiscal space หรือ งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เหลือหลังจากตัดรายจ่ายที่ไม่สามารถตัดได้แล้วลดน้อยลง และถ้าหากรัฐบาลไม่ยอดลดรายจ่ายในโครงการต่างๆ ลง ก็จะทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลร้ายแรงต่อการรักษาวินัยทางการคลังของประเทศ
ที่ผ่านมา มีผู้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไว้อย่างมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปใดๆ ได้ แต่เกือบทันทีที่ปัญหามหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 จบสิ้นลง ที่ประชุมครม. ในวันที่ 27 ธันวาคม ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะโอนภาระหนี้สินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ กระทรวงการคลัง ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการรวบรวมความเห็นเพื่อเสนอกลับมาที่ ครม.อีกครั้งในสัปดาห์นี้ (4 มกราคม)
การที่รัฐบาลมีมติหรือตัดสินใจเช่นนี้ก็สามารถเข้าใจได้โดยง่าย เพื่อเป็นการลดหนี้สาธารณะของประเทศที่มีอยู่เดิมลงจากที่อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 41 มาที่ร้อยละ 30 ของ GDP หลังจากนั้น รัฐบาลก็จะสามารถก่อหนี้สาธารณะก้อนใหม่ที่ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศเดิม เพื่อใช้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน ในการลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตประเทศและวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญในช่วงเวลานี้
แต่ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ครม. สามารถตัดสินใจมีมติเห็นชอบโดยหลักการที่จะโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ให้แก่ ธปท. ได้โดยง่าย ก่อนที่จะทำการศึกษาหรือบอกได้ว่า ธปท. จะใช้วิธีการชำระหนี้อย่างไร และวิธีการดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อประเทศน้อยกว่าการเลือกที่จะโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไปให้แก่ กระทรวงการคลัง ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรักษาวินัยทางการเงินการคลังของประเทศไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
*"ต้อนรับปีใหม่กับปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 2 ม.ค. 2555
No comments:
Post a Comment