ประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงสำคัญในหลายด้าน
สำหรับข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่กำลังถูกผลักดันออกมาจากผู้กำหนดนโยบายในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล
ได้แก่ การคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ร้อยละ 20 ต่อไป การปรับสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนของ
BOI การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs ที่มีกำไรสุทธิ 1-3 ล้านบาทต่อปี ให้ลดลงเหลือ 15%
(จากเดิมที่จัดเก็บ 20%) เป็นต้น ข้อเสนอสำคัญในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ได้แก่ การคงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีอัตราสูงสุด 35% การนำระบบ Negative income tax (NIT) มาใช้
การปรับปรุงค่าลดหย่อนส่วนตัว เป็นต้น ทั้งนี้การคงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไว้ตามที่ได้ปรับลดลงมานั้น
แม้จะเป็นที่ต้องการของผู้เสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้มีรายได้จากเงินเดือน
แต่อัตราภาษีที่ปรับลดมานั้นกลับซ่อนปัญหาสำคัญที่ทำให้ระบบภาษีเงินได้มีลักษณะที่ไม่เป็นธรรมและยังเอื้อประโยชน์แก่ผู้มีฐานะการเงินดี
ซึ่งดูแล้วขัดกับนโยบายของรัฐบาลที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่
12 กันยายน 2557
ความเป็นธรรมของระบบภาษี หมายถึง
ระบบภาษีต้องมีความยุติธรรม (Fairness) หรือความเสมอภาค (Equity) ทั้งนี้ตามหลักความสามารถในการเสียภาษี
สามารถจำแนกออกได้เป็นสองลักษณะ คือ ความเสมอภาคในแนวตั้ง (Vertical
equity) และความเสมอภาคในแนวนอน (Horizontal equity) ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
ความเสมอภาคในแนวตั้ง กำหนดให้ผู้ที่มีความสามารถในการเสียภาษีที่แตกต่างกัน
(หรือมีระดับทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน) ควรเสียภาษีแตกต่างกัน กล่าวคือ
หากวัดความสามารถในการเสียภาษีตามรายได้ของผู้เสียภาษี ผู้ที่มีรายได้ 10
ล้านบาทต่อปี ควรเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีรายได้ 1 ล้านบาทต่อปี
ในขณะที่ ความเสมอภาคในแนวนอน กำหนดให้ผู้ที่มีความสามารถในการเสียภาษีที่เท่าเทียมกัน
(หรือมีระดับทางเศรษฐกิจที่เท่ากัน) ควรเสียภาษีในระดับเดียวกัน
กล่าวคือ ผู้ที่มีรายได้ที่มาจากเงินเดือน 1 ล้านบาทต่อปี ควรเสียภาษีเท่ากันกับผู้ที่มีรายได้ที่มาจากแหล่งรายได้อื่นๆ
เช่น รายได้ที่มาจากการประกอบธุรกิจ 1 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น
การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เกิดขึ้นในช่วง
2-3 ปีที่ผ่านมาและถูกใช้จนถึงปัจจุบัน ได้ทำให้ระบบภาษีเงินได้ของประเทศไทยไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาคของระบบภาษีทั้งในแนวตั้งและในแนวนอน
กล่าวคือ ผู้ที่มีรายได้เท่าเทียมกัน (หรือมีระดับทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน)
แต่มาจากแหล่งรายได้ที่แตกต่างกัน กลับเสียภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน
และผู้ที่มีระดับทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของปัจจัยแรงงาน) กลับเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่มีระดับทางเศรษฐกิจที่สูง
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น
สมมติว่า นาย ก เป็นเจ้าของปัจจัยแรงงานที่มีรายได้จากเงินเดือนทั้งหมด 10 ล้านบาทต่อปี
ด้วยโครงสร้างของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบัน นาย ก จะเสียอัตราภาษีขั้นสูงสุดที่อัตราร้อยละ
35 (สมมติว่าไม่คิดค่าลดหย่อนต่างๆ
และคิดเพียงอัตราภาษีขั้นสูงสุดเพียงอัตราเดียว หรือกล่าวคือ เงินได้ 10 ล้านบาทต่อปีที่พิจารณานี้ เป็นเงินได้ส่วนเพิ่ม (Marginal income) ที่นาย ก ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 35 ทั้งหมด ซึ่งไม่นับรวมเงินได้ที่ได้รับการลดหย่อนหรือเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า) ในกรณีนี้
นาย ก จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสิ้น 3.5 ล้านบาท และมีรายได้ในส่วนนี้หลังหักภาษีที่
6.5 ล้านบาท
ในขณะเดียวกัน สมมติว่า นาย ข เป็นเจ้าของปัจจัยทุนที่มีรายได้เท่ากับนาย
ก โดยมีกำไรจากการประกอบธุรกิจ 10 ล้านบาท ในกรณีนี้ กำไรที่ได้จะถูกเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตราร้อยละ
20 ซึ่งทำให้มีกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 8
ล้านบาท หากกำไรที่เหลือทั้งหมดในส่วนนี้ถูกจ่ายคืนแก่ นาย ข ในรูปของเงินปันผล
ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 (คิดเป็น 0.8
ล้านบาท) และจะทำให้ นาย ข
มีรายได้สุทธิหลังหักภาษีทั้งหมดอยู่ที่ 7.2 ล้านบาท (หรือเสียภาษีรวมทั้งสิ้น 2.8 ล้านบาท )
จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า นาย ก ผู้เป็นเจ้าของปัจจัยแรงงาน
เสียอัตราภาษีที่แท้จริงที่ร้อยละ 35 ในขณะที่ นาย ข ผู้เป็นเจ้าของปัจจัยทุน
เสียอัตราภาษีที่แท้จริงที่ร้อยละ 28 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่
นาย ก เสียภาษีถึงร้อยละ 20 กันเลยทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคในแนวนอนที่เกิดขึ้น
(อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาก่อนหน้าที่จะมีการปรับลดในครั้งนี้
ผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยทุนและผู้ที่เจ้าของปัจจัยแรงงาน ต่างก็เสียอัตราภาษีที่แท้จริงสูงสุดที่ร้อยละ
37 เท่ากัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักความเสมอภาคในแนวนอน)
เมื่อเปรียบเทียบสถานะทางเศรษฐกิจของผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยแรงงานกับผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยทุน
(เช่น ผู้ที่ได้รับรายได้จากกำไรในรูปแบบเงินปันผลที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น
หรือผลได้จากทุน (Capital gains) หากบริษัทมีนโยบายไม่จ่ายคืนกำไรในรูปแบบเงินปันผล)
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยทุนจะมีความสามารถในการเสียภาษี
(หรือระดับทางเศรษฐกิจ) สูงกว่าผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยแรงงาน
ดังนั้นตามหลักความเสมอภาคในแนวตั้ง ผู้ที่มีรายได้จากการเป็นเจ้าของปัจจัยทุน
อย่างเช่น นาย ข ควรเสียภาษีในระดับที่ไม่ต่ำกว่าผู้ที่มีรายได้จากแรงงาน
อย่างเช่น นาย ก แต่ด้วยอัตราภาษีที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน
อัตราภาษีที่แท้จริงที่นาย ข จ่ายนั้น กลับต่ำกว่าอัตราภาษีที่แท้จริงที่ นาย ก
จ่าย ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาคในแนวตั้งของระบบภาษี
ความไม่เสมอภาคของระบบภาษีเงินได้ยังก่อให้เกิดช่องโหว่ทางภาษี
(Tax
loopholes) ที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้มีฐานะการเงินดี อย่างเช่นเจ้าของปัจจัยทุน
ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าของหน่วยธุรกิจสามารถเคลื่อนย้ายรายได้ที่มาจากแหล่งรายได้ที่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงไปยังแหล่งรายได้ที่เสียภาษีในอัตราภาษีที่ต่ำกว่าได้
อย่างเช่นการโอนย้ายรายได้ที่มาในรูปแบบเงินเดือนค่าจ้าง ไปเป็นรูปแบบอื่นๆ
อาทิเช่น รายได้ในรูปแบบเงินปันผลมากขึ้น ซึ่งช่วยลดภาระภาษีลงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้นเจ้าของปัจจัยทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรวยในสังคม
กลับมีทางเลือกมากมายในการลดภาระภาษีของตนได้ ในขณะที่ผู้ที่เป็นเจ้าปัจจัยแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้มีรายได้น้อย
มักจะมีหนทางไม่มากนักในการลดภาระภาษีของตน ดังนั้นความไม่เสมอภาคของระบบภาษีเงินได้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนไทยทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
หากผู้กำหนดนโยบายต้องการปรับปรุงหรือปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นและไม่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่มีฐานะการเงินดีตามนโยบายของรัฐบาลที่
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงไว้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลกับบุคคลธรรมดาที่ผ่านมา
ซึ่งได้สร้างความไม่เป็นธรรมและสร้างช่องโหว่ทางภาษีที่เอื้อประโยชน์แก่คนรวย
ควรได้รับการพิจารณาแก้ไขอย่างจริงจังเป็นอันดับแรกๆ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
*"ความไม่เป็นธรรมของระบบภาษีเงินได้" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 พ.ย. 2557
No comments:
Post a Comment