เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ได้นำเสนอบทความ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) แห่งสหประชาชาติ” ลงในคอลัมน์นี้ อาจารย์พิริยะได้เกล่าถึงที่มาของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 25 กันยายน 2558 จากการที่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติได้ให้การรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นองค์ประกอบสำคัญ และจะถูกนำมาใช้เป็นแผนที่นำทางการพัฒนาในอีก 15 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ก่อนที่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติจะได้ให้การรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ. 2030 ไม่นาน ในเดือน กรกฎาคม 2558 ได้มีการจัดการประชุมระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการของสหประชาชาติที่ Addis Ababa ประเทศเอธิโอเปีย ผลลัพธ์สำคัญที่ออกมาจากการประชุมในครั้งนั้น คือ แผนการปฏิบัติการ Addis Ababa Action Agenda หนึ่งในเนื้อหาสำคัญของแผนการปฏิบัติการนี้คือ ได้มีการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า การค้าระหว่างประเทศเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive economic growth) การลดความยากจน (Poverty reduction) และการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศได้ แต่ก็ขึ้นกับนโยบายการค้าที่ออกมาว่า จะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ (เป้าหมายของแผนการปฏิบัติการ Addis Ababa Action Agenda ส่วนหนึ่งได้ถูกรวมเข้าใน “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในเวลาต่อมา)
ในบทความนี้ ผมจะมาเล่าให้ฟังถึง ความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายการค้าที่มีต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายช่องทาง ได้แก่
หนึ่ง การค้าระหว่างประเทศ ทำหน้าที่ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตั้งไว้ โดยภาคการส่งออกของประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกที่มีขนาดใหญ่เกินครึ่งของ GDP ในปัจจุบัน (ร้อยละ 69.1 ในปี 2015) หากรวมมูลค่าการนำเข้าแล้ว (สัดส่วนร้อยละ 57.7 ในปี 2015) สัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศจะมีขนาดใหญ่กว่า GDP ของประเทศไทยเลยทีเดียว ภาคการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออก จึงเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่และเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของคนในประเทศ ซึ่งแน่นอน ย่อมมีผลต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน สหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายหรือเป้าประสงค์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ อาทิเช่น เป้าประสงค์ 17.11 เพิ่มส่วนแบ่งการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาในการส่งออกทั่วโลกให้สูงขั้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มส่วนแบ่งของประเทศพัฒนาน้อยที่สุดให้สูงขึ้น 2 เท่าในปี 2563 หรือเป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน เป็นต้น
การค้าระหว่างประเทศถือได้ว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐบาล โดยรัฐบาลไทยมีรายได้จากกรมศุลกากรปีล่ะกว่า 100,000 ล้านบาท แต่เป็นที่สังเกตว่า รายได้จากกรมศุลกากรที่จัดเก็บได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ตามทิศทางของการปรับลดมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจกลายเป็นข้อจำกัดของรัฐบาลในการหารายได้เพื่อนำไปใช้จ่ายเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตั้งไว้
สอง นโยบายการค้าสามารถส่งผลต่อการเข้าสู่ตลาดและระดับราคาของสินค้าและบริการ ซึ่งมีผลต่อการบริโภคของประชาชนได้ ตัวอย่างเช่น การเปิดเสรีการค้าที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนและยารักษาโรคได้มากขึ้นและในราคาที่ถูกลง ก็จะมีผลช่วยลดอัตราการตายหรืออัตราการเกิดโรคของประชากรลงได้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนที่ตั้งไว้ (เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย)
นโยบายการค้ายังสามารถส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของเจ้าของปัจจัยการผลิตด้วยเช่นเดียวกัน งานศึกษาที่ผ่านมา* พบว่า หากนโยบายการเปิดเสรีการค้านำไปสู่การยกระดับผลิตภาพการผลิตในสาขาเกษตรของประเทศไทย จะส่งผลบวกต่อรายได้และการบริโภคของประชากรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรที่ยากจน (วัดจากระดับการบริโภค) จะได้รับประโยชน์มากกว่ากลุ่มประชากรที่ร่ำรวย ซึ่งจะช่วยลดความไม่เสมอภาคของคนในสังคม ในขณะที่ นโยบายการเปิดเสรีการค้า หากนำไปสู่การยกระดับผลิตภาพในสาขาการผลิตสินค้าและสาขาบริการของประเทศไทย กลุ่มประชากรไทยที่ร่ำรวยจะได้รับประโยชน์มากกว่ากลุ่มประชากรไทยที่ยากจนกว่า ซึ่งในกรณีนี้ปัญหาความไม่เสมอภาคในสังคมไทยก็จะรุนแรงขึ้น
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า นโยบายการค้าสามารถส่งผลกระทบ (ผ่านช่องทางราคาและรายได้) ต่อแต่ละกลุ่มคนแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนจนหรือกลุ่มคนรวย กลุ่มผู้ชายหรือกลุ่มผู้หญิง ซึ่งสหประชาชาติได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้หลายเป้าหมาย อาทิเช่น เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ เป็นต้น
นโยบายการค้าจึงเป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรคของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ หากนำไปใช้อย่างถูกต้อง ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่สำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย แต่หากนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง ก็จะกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สร้างการบิดเบือนทางการค้า ซึ่งส่งผลลบต่อสวัสดิการหรือการกินดีอยู่ดีของประชาชน และอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ตั้งไว้
เอกสารอ้างอิง
ศาสตรา สุดสวาสดิ์ และทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ (2558). “การเปิดเสรีการค้ากับความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในประเทศไทย: การวิเคราะห์ระดับครัวเรือน,” วารสารเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, ปีที่ 33 ฉบับที่ 1, หน้า 24-75.
*"การค้าระหว่างประเทศ กับการบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ"" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ ุ6 มี.ค. 2560
No comments:
Post a Comment