เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความเรื่อง “อย่าคิดแค่ว่าเวียดนามคือคู่แข่งของไทย” โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมไทยที่จะใช้ประโยชน์จากเวียดนามที่มีต้นทุนแรงงานและทรัพยากรบางอย่างที่ถูกกว่า บทความที่ผมได้นำเสนอไป มีความสอดคล้องกับทรรศนะของ นายกิติพงษ์ ณ ระนอง เอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม (ในรายงาน “เปิดช่องลงทุนตลาด ‘เวียดนาม’ โอกาสทองที่ไม่ควรมองข้าม” หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 30 ส.ค.- 1 ก.ย. 2550) ที่มองว่า ผู้ประกอบการไทยควรมองออกไปในต่างประเทศ ว่าจะใช้ประโยชน์จากตลาดต่างประเทศ อย่างเช่น เวียดนามได้อย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่เวียดนามได้มีการลงและเลิกภาษีศุลกากรภายใต้กรอบของเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) จะเป็นโอกาสที่ดี ที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยสามารถเข้าไปในตลาดเวียดนาม รวมถึงโอกาสในการใช้เส้นทาง East-West Corridor ที่เชื่อมระหว่างไทย ลาว จีน และเวียดนาม เพื่อเข้าสู่ตลาดใหญ่ที่สำคัญอย่างจีนอีกด้วย ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมไทยในภูมิภาคนี้ ซึ่งการวางยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมไทยต่อไปข้างหน้าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวางอย่างถูกต้อง มิใช่มัวแต่เดินกลับหลังไปสู้เรื่องค่าแรงงานถูก ดังที่ได้กล่าวไปในบทความครั้งที่แล้ว
BUSINESS IN ASIA.COM ได้ทำการเปรียบเทียบปัจจัยที่ใช้ในการลงทุนในประเทศไทย จีน และเวียดนาม ว่าแต่ละประเทศ มีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในปัจจัยใดบ้าง ซึ่งผมคิดว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียว เลยขอใช้พื้นที่ตรงนี้ มาสรุปให้ท่านผู้อ่านได้เห็น โดยเฉพาะในส่วนของปัจจัยที่มีความแตกต่างกัน เพื่อที่จะได้ รู้เขา และรู้เรา มากขึ้นกว่าเดิม
ปัจจัยแรกที่สำคัญที่ใช้ในการเลือกประเทศที่จะลงทุนคือ ปัจจัยในการถือครองที่ดิน ประเทศไทยมีความได้เปรียบในส่วนนี้ เนื่องจากเราอนุญาตให้บริษัทต่างชาติ สามารถเข้ามาซื้อที่ดินในการสร้างโรงงานได้ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศเวียดนาม และจีน อนุญาตให้ถือครองที่ดิน ในลักษณะการเช่าระยะยาว 40-50 ปี แต่ไม่อนุญาตให้ซื้อขาดได้
ปัจจัยถัดมาคือ มาตรการส่งเสริมการลงทุน เช่นเดียวกัน ประเทศไทยค่อนข้างใจดีมาก นักลงทุนมีโอกาสได้รับการยกเว้นทางด้านภาษี ได้นานถึง 8 ปี ในโครงการที่ BOI อนุมัติ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้รับสิทธิในการลดภาษีลงครึ่งหนึ่งต่ออีก 5 ปี หลังจากช่วงเวลาในการยกเว้นทางด้านภาษีได้จบสิ้นไป
ประเทศจีนให้สิทธิในการยกเว้นภาษีได้ใน 2 ปีแรก และให้สิทธิในการลดภาษีลงครึ่งหนึ่งในอีก 3 ปีถัดมา เท่านั้น ซึ่งค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย
สำหรับเวียดนามที่มีโครงสร้างภาษีค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งโดยปกติ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะอยู่ในอัตราร้อยละ 28 (ยกเว้น ธุรกิจน้ำมันที่อัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 50) แต่นักลงทุนอาจได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีเหลือ ร้อยละ 20% 15% หรือ 10% ในช่วงเวลาหนึ่ง สำหรับสิทธิในการยกเว้นภาษีว่าจะเป็นกี่ปีนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่ๆ ที่เข้าไปลงทุน ซึ่งอาจได้รับการยกเว้นได้นานถึง 8 ปี ในพื้นที่ชนบท ดังนั้นในภาพรวมแล้ว ประเทศไทยให้สิทธิทางด้านภาษีที่ง่ายกว่าและมากกว่าประเทศจีนและเวียดนาม ซึ่งนับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ
สำหรับปัจจัยแรงงาน แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labor) ของไทยมีค่าแรงสูงกว่าทั้งเวียดนามและจีน จึงทำให้ประเทศไทยมีความเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนค่าแรงงานอย่างชัดเจน แต่ในส่วนของแรงงานฝีมือ (Skilled labor) เวียดนามมีปัญหามาก เนื่องจากยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ โดยในส่วนนี้ ประเทศไทยและจีนมีความได้เปรียบเหนือเวียดนามอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ประเทศไทยและจีนยังมีอุตสาหกรรมเชื่อมโยงและสนับสนุนอยู่มากกว่าเวียดนามที่มีข้อจำกัดของอุตสาหกรรมเชื่อมโยงที่มีค่อนข้างน้อย ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ จึงเป็นวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากนอกประเทศ
สำหรับปัจจัยขนาดตลาดภายในประเทศ เป็นที่แน่นอนว่าประเทศจีนมีความได้เปรียบในเรื่องตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ จากการที่มีประชากรอยู่มากกว่า 1,300 ล้านคน สำหรับเวียดนาม แม้นว่าจำนวนประชากรที่มีกว่า 85 ล้านคน จะมากกว่าไทยที่มีประชากรอยู่ประมาณ 65 ล้านคน แต่เนื่องจากกำลังซื้อของคนเวียดนามยังต่ำกว่าไทยอยู่มาก จึงทำให้ประเทศไทยมีขนาดของตลาดภายในประเทศไทยที่มีกำลังซื้อมากกว่าเวียดนาม
จากการเปรียบเทียบปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่ใช้พิจารณาในการลงทุนยังประเทศ ไทย จีน และเวียดนาม พบว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัจจัยส่วนใหญ่ ที่มีความได้เปรียบเหนือกว่าประเทศเวียดนาม หรือแม้นแต่กระทั้งประเทศจีน แต่สำหรับปัจจัยที่ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับจีนและเวียดนามได้อย่างชัดเจนคือ ค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือ และขนาดตลาดภายในประเทศ ที่จีนมีขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าอย่างชัดเจน
สำหรับมาตรการที่ใช้ในการส่งเสริมการลงทุน ประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีกับนักลงทุน มากกว่าที่ประเทศเวียดนามและจีนให้แก่นักลงทุน ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ประเทศไทย จะต้องให้สิทธิหรือข้อยกเว้นทางด้านภาษีแก่นักลงทุนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สรุปแล้ว การวางยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมไทยให้เดินต่อไปข้างหน้า ควรพิจารณาจากจุดแข็งและจุดอ่อนที่ประเทศไทยมี โดยควรส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ อย่างเช่น อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานฝีมือเข้มข้น เป็นต้น เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถเดินก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และสามารถใช้ประโยชน์จากประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงงานไร้ฝืมือถูก อย่างเช่น เวียดนาม และจีนได้นั่นเอง
* "เปรียบเทียบการลงทุนใน ไทย จีน และเวียดนาม" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 13 ก.ย. 2550
No comments:
Post a Comment