สภาวะโลกร้อนนับเป็นปัญหาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนพึ่งมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว โดยมีอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ นาย อัล กอร์ (Al Gore) เป็นผู้นำเสนอเรื่องราวสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ในความคิดของผู้เขียนแล้ว สารคดีเรื่องนี้เป็นสารคดีที่มีประโยชน์และคุ้มค่าต่อการชมเป็นอย่างมาก และอยากแนะนำให้ผู้อ่านได้หามาชมกันครับ
นาย อัล กอร์ ผู้อ่านส่วนใหญ่คงจำกันได้ว่า เขาผู้นี้เป็นผู้อาภัพโชคในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐกับ George W. Bush แต่ถึงกระนั้น ด้วยสปริตที่สูงส่งของนักการเมืองสหรัฐผู้นี้ ทำให้เขายอมรับผลการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยข้อสงสัยต่างๆและไม่เป็นธรรมต่อคนสหรัฐสักเท่าไหร่นัก ภายหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป นาย อัล กอร์ ได้หันกลับมาทำงานรณรงค์ในเรื่องปัญหาสภาวะโลกร้อน ให้โลกหันมาให้ความสนใจและหาแนวทางการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งภายในประเทศสหรัฐเองและประเทศอื่นๆทั่วโลก
ผู้เขียนได้ลองค้นหาคำว่า Global warming ในอินเทอร์เน็ด และพบว่ามีเว็ปไซด์ที่เกี่ยวข้องถึงกว่า 78.3 ล้านเว็ป แต่เมื่อลองดูว่ามีจำนวนเว็ปไซด์ที่เกิดขึ้นภายในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หรือนับตั้งแต่สารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ได้ออกมาในปีที่แล้ว พบว่ามีมากถึง 44.5 ล้านเว็ปไซด์ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 56 ของเว็ปไซด์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่อาจจะปฎิเสธได้ว่านาย อัล กอร์ และสารคดีดังกล่าว มีส่วนสำคัญที่ทำให้โลกตื่นขึ้นมาและหันมาสนใจปัญหาโลกร้อนกันมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
สำหรับบทความวันนี้ ผู้เขียนขอเริ่มต้นจากการเกริ่นนำถึงที่มาของสภาวะโลกร้อนก่อน สภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นเมื่อคลื่นพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ตกกระทบบนพื้นผิวโลก ซึ่งโดยปกติแล้วคลื่นความร้อนส่วนใหญ่จะไม่ได้ถูกดูดซับไว้บนพื้นโลกไปนี้ แต่คลื่นความร้อนจะถูกสะท้อนกลับออกไปยังนอกบรรยากาศโลก ซึ่งถ้าหากคลื่นความร้อนถูกสะท้อนกลับออกไปนอกโลกทั้งหมด ก็คงไม่ใช่สิ่งดี เพราะโลกคงมีสภาพไม่ต่างจากธารน้ำแข็งที่หนาวเย็นและยากต่อการดำรงชีวิตอยู่ได้
เพื่อให้โลกสามารถสะสมความร้อนที่ตกลงมาได้บางส่วน ที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตอยู่ได้ โลกจึงได้สร้างกลไกทางธรรมชาติไว้คือ กลุ่มแก๊สเรือนกระจก (Greenhouse gas) ซึ่งหนึ่งในแก๊สเรือนกระจกที่สำคัญคือ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาพลาญเชิงเพลิงของมนุษย์ ทั้งนี้กลุ่มแก๊สเรือนกระจก (Greenhouse gas) จะก่อให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) ที่ช่วยกั้นความร้อนที่สะท้อนจากพื้นผิวโลกไม่ให้สะท้อนกลับออกไปนอกบรรยากาศโลกทั้งหมด และช่วยสะสมพลังงานความร้อนไว้ หากเปรียบแล้วเรือนกระจกที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนกับผ้าห่มที่ห่อหุ้มและให้ความอบอุ่นแก่ผิวโลก ซึ่งหากกลุ่มแก๊สเรือนกระจกอยู่ในระดับที่เหมาะสม โลกก็จะมีสภาวะอากาศเหมาะสมแก่การดำรงอาศัยของสิ่งมีชีวิต ตัวอย่างเช่น หากปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่บนชั้นบรรยากาศโลกอยู่ในระดับ 380 ppm (parts per million) อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกจะอยู่ที่ 15 C แต่ถ้าปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในระดับที่สูงขึ้น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็จะปรับสูงขึ้นตาม
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ ในช่วงไม่กี่สิบที่ผ่านมา โลกภายใต้น้ำมือของมนุษย์ได้กำลังทำให้สมดุลทางธรรมชาติที่เคยดำรงไว้นับล้านปีสูญเสียไป โดยมนุษย์ได้ปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ ออกไปสู่บรรยากาศโลกอย่างมาก จนทำให้กลุ่มแก๊สเรือนกระจกที่อยู่บนชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อโลกไม่สามารถระบายหรือสะท้อนคลื่นพลังงานความร้อนที่ได้จากดวงอาทิตย์ออกไปได้ เนื่องจากชั้นเรือนกระจกที่หนาขึ้น ความร้อนจึงถูกดูดซับไว้บนพื้นผิวโลก และส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งตรงนี้เป็นสาเหตให้เกิดสภาวะโลกร้อนขึ้นมาในปัจจุบัน
การที่อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ไม่เพียงจะส่งผลทำให้โลกร้อนขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้สมดุลทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจ ที่เราสังเกตได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์วิปฤติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยหากเปรียบเทียบกับจำนวนภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้า 10 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่า โลกในปัจจุบันประสบกับภัยทางธรรมชาติต่างๆ ที่มีจำนวนครั้งที่เกิดและระดับความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Nicholas Stern ได้คาดการณ์ว่าหากแนวโน้มการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ยังดำเนินต่อไปในลักษณะเช่นนี้ คงไม่เกินปี ค.ศ. 2050 ปริมาณของ CO2 จะอยู่ที่ 560 ppm และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 650 ppm ภายในไม่เกินปี ค.ศ. 2100 โดยอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 5 C และจะส่งผลทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1 เมตร (จากการละลายของพื้นที่ธารน้ำแข็ง) ทั้งนี้ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 1 เมตร จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อพื้นผิวที่อยู่อาศัยของโลก ซึ่งหลายพื้นที่ในโลกจะถูกน้ำท่วมและจมอยู่ใต้ทะเลในโอกาสถัดไปผู้เขียนจะขอเล่าถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงนโยบายและเครื่องมือที่น่าสนใจทางเศรษฐศาสตร์ ที่น่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น อย่าลืมติดตามคอลัมน์ “ทันเศรษฐกิจ” ในฉบับทุกวันพฤหัสครับ
* "สภาวะโลกร้อน (Global warming)" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 27 ก.ย. 2550
No comments:
Post a Comment