กว่า 200 ปีก่อน มีนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษท่านหนึ่งได้สร้างทฤษฎีประชากรที่ทำให้คนในยุคสมัยนั้นตื่นตระหนกกับคำทำนายของเขา นักเศรษฐศาสตร์ท่านนั้นมีนามว่า โทมัส โรเบิร์ต มัธทาส (Thomas Robert Malthus) สิ่งที่ Malthus ได้นำเสนอในข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประชากร (An Essay on the Principle of Population, 1798) มีใจความสำคัญดังนี้
อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรบนโลก มีลักษณะที่เพิ่มขึ้นเป็น Geometric ratio หรือเพิ่มเป็นอันดับที่มีตัวคูณร่วม เช่น เพิ่มขึ้นจาก 1, 2, 4, 8, 16, …. ในขณะเดียวกันอัตราการเพิ่มขึ้นของอาหารที่มนุษย์สามารถผลิตได้นั้น กลับมีลักษณะเป็น Arithmetic ratio หรือเพิ่มเป็นอันดับที่มีตัวบวกร่วม เช่น เพิ่มขึ้นจาก 1, 2, 3, 4, 5, …. ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นที่แตกต่างกันระหว่างจำนวนประชากรกับจำนวนอาหารที่สามารถผลิตได้นั้น ทำให้คนในยุคสมัยนั้นเกิดความกังวลถึงอนาคต ที่อาหารที่ผลิตบนโลกจะไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของมนุษย์
Malthus ยังได้อธิบายถึงปัจจัยสองประการที่จะคอยป้องกันไม่ให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเกินไปนั้น ปัจจัยแรก Malthus เรียกว่า Positive check หรือปัจจัยที่เพิ่มอัตราการตายของประชากรให้สูงขึ้น ได้แก่ ความยากจนค้นแค้นของประชากร สภาวะสงคราม เป็นต้น สำหรับปัจจัยที่สอง Malthus เรียกว่า Negative check หรือปัจจัยที่ลดอัตราการเกิดของประชากร ได้แก่ ประชากรมีการวางแผนครอบครัว รวมถึงมีการคุมกำเนิดเกิดขึ้น หรือแม้นแต่ลักษณะของประชากรที่แต่งงานช้าลง รวมถึงมีลูกน้อยลง ก็เป็นลักษณะของ Negative check นั่นเอง
แม้นว่าทฤษฎีประชากรที่ Malthus นำเสนอนั้น เรายังไม่พบว่าคำทำนายที่ว่าประชากรล้นโลกได้เกิดขึ้นจริง นักวิชาการในบางยุคบางสมัยได้กล่าวถึงทฤษฎีประชากรของ Malthus ว่าเป็นทฤษฎีที่ล้มเหลวที่สุดตั้งแต่เคยมีมา ซึ่งหนึ่งในเหตุผลหลายประการที่ทำให้ทฤษฎีของ Malthus ดังกล่าวล้มเหลว คือ Malthus เองลืมคิดถึงการปฎิรูปเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นนั้น เช่น การมีเทคโนโลยีในการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ช่วยทำให้มนุษย์สามารถผลิตอาหารได้มากขึ้นแม้นว่าจะมีปริมาณทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตเท่าเดิม หรือแม้นแต่จะลดลงก็ตาม
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่มนุษย์ในยุคหลังอาจไม่รู้จัก หรือรู้สึกกังวลใจกับทฤษฎีประชากรล้นโลกของ Malthus แต่มนุษย์กลับกำลังเผชิญกับคำทำนายของทฤษฎีใหม่ที่เกิดขึ้นมากับปัญหาสภาวะโลกร้อน (Global warming) ที่ทำให้มนุษย์กังวลกับคำทำนายทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ในอนาคตน้ำจะท่วมโลก ทั้งนี้เนื่องจากน้ำแข็งในขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว จากการที่อุณหภูมิบนโลกนี้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการที่แสงแดด ไม่สามารถสะท้อนผ่านกลุ่มก๊าซเรือนกระจกออกจากชั้นบรรยากาศโลกไปได้
เมื่อเราพิจารณาแนวคิดทั้งสองทฤษฎีนี้ ต่างมีความคล้ายคลึงกัน โดยต่างก็เกี่ยวข้องกับการเสียสมดุลย์ทางธรรมชาติบนโลก และมนุษย์ในยุคนั้น ต่างตื่นตระหนกกับคำทำนายของทฤษฎีที่เกิดขึ้น โดย Malthus ได้ทำนายถึงการเสียสมดุลย์ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของอาหารบนโลก ในขณะที่ปัญหาสภาวะโลกร้อนเกิดจากการสมดุลย์ทางธรรมชาติเสียไป จากการที่มนุษย์ได้เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจก (เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) สู่ชั้นบรรยากาศโลก
ทฤษฎีของ Malthus แม้นว่าคนรุ่นหลังในบางยุคกล่าวว่าเป็นทฤษฎีที่ล้มเหลว เนื่องจากสาเหตุหลายประการที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่ในยุคปัจจุบันที่อาหารกำลังมีราคาแพง และดูเหมือนว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุควิกฤติการณ์อาหารขาดแคลน อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นถึงคำทำนายของ Malthus ว่ากำลังเป็นจริงสำหรับปัญหาสภาวะโลกร้อน ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบว่าคำทำนายที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เราคงต้องรอเวลาให้ประชากรรุ่นหลังจากเราเป็นผู้หาคำตอบของคำทำนายนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ของมนุษย์โลกคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่สมดุลย์ของธรรมชาติเสียไป ธรรมชาติ รวมถึงมนุษย์โลก จะต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว เพื่อเข้าหาสมดุลย์ใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Positive หรือ Negative checks ก็ตาม ในขณะเดียวกัน วิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีก็ไม่เคยหยุดอยู่นิ่ง มนุษย์ได้เรียนรู้และพัฒนาสิ่งต่างๆใหม่ๆ เพื่อช่วยให้เราอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้
* "ทฤษฎีประชากรล้นโลกของ Malthus และปัญหาสภาวะโลกร้อน" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 9 เม.ย. 2551
No comments:
Post a Comment