เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา นายจอห์น แมคเคน (John McCain) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาตัวแทนพรรครีพับลิกัน ได้แถลงนโยบายเศรษฐกิจของเขา ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในประเทศสหรัฐฯ นโยบายที่เขาได้แถลงออกไปในวันนั้นได้ลบคำสบประมาทส่วนหนึ่งที่เคยมีต่อเขา ในเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยแมคเคนได้แสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนว่า หากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ เขาจะผลักดันให้นโยบายเหล่านี้เกิดขึ้นจริงให้จงได้
ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่พรรคเดโมแครตยังไม่สามารถเลือกตัวแทนพรรคเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ที่แบ่งแยกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนระหว่างผู้สนับสนุนนายบารัก โอบาม่า และผู้สนับสนุนนางฮิลลารี คลินตัน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ หากพรรคเดโมแครตยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน เสือเฒ่าอย่าง นายจอห์น แมคเคน ก็จะมีโอกาสที่ดีในการได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ดังนั้นนโยบายเศรษฐกิจของแมคเคน หรือที่ถูกเรียกว่า “McCainomics” จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามอีกต่อไป
นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้ติดตามนโยบายเศรษฐกิจของแมคเคนต่างเห็นพ้องและยอมรับกันว่า หลายๆ นโยบายที่แมคเคนได้นำเสนอ เป็นนโยบายที่ดี และสอดคล้องกับหลักการเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนเองก็มีความเห็นเช่นเดียวกันกับนักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้น และคิดว่าหลายๆนโยบายของแมคเคนมีความน่าสนใจและอาจนำมาปรับใช้ได้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ผู้เขียนขอใช้โอกาสในวันนี้นำเสนอนโยบายส่วนหนึ่งของแมคเคนที่ได้แถลงไว้ เฉพาะในส่วนของนโยบายภาษี (เนื่องจากพื้นที่ของบทความที่มีจำกัด) โดยแมคเคนได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปฎิรูประบบภาษี เพื่อให้เกิดระบบภาษีที่มีความเสมอภาคมากขึ้น และลดการบิดเบือนตลาดที่เคยมีมาในอดีต ซึ่งระบบภาษีที่ดีนั้น จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตขึ้น เพิ่มการจ้างงาน และเพิ่มบรรยากาศการลงทุนที่ดีภายในประเทศ
ข้อเสนอในด้านนโยบายภาษีของแมคเคน สามารถสรุปได้ดังนี้
- ข้อเสนอในการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จากที่เดิมกำหนดไว้สูงสุดที่ร้อยละ 35 มาเป็นอัตราสูงสุดที่ร้อยละ 25 โดยแมคเคนได้กล่าวถึงเหตุผลว่า การที่ปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐฯ ถูกกำหนดไว้ในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ เป็นปัจจัยหนี่งที่ทำให้บริษัทหรือนักลงทุนของสหรัฐฯ นำเงินไปลงทุนยังประเทศอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐฯลง จะทำให้บริษัทหรือนักลงทุนเหล่านั้นหันกลับมาลงทุนภายในประเทศกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มการจ้างงาน รวมถึงเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
- ข้อเสนอในการปรับวิธีการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิมที่มีการคิดภาษี 2 ระบบด้วยกันคือ ระบบการคิดภาษีแบบดั้งเดิม ที่มีข้อยกเว้นและช่องโหว่ทางด้านภาษี (Tax loopholes) เป็นจำนวนมาก และระบบการคิดภาษีแบบ the Alternative Minimum Tax ที่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า แต่มีข้อยกเว้นทางด้านภาษีไม่มากนัก เพื่อลดช่องโหว่ทางด้านภาษีที่เกิดขึ้นในระบบแรก ทั้งนี้ชาวสหรัฐฯจะต้องแสดงการคิดคำนวนภาษีทั้งสองระบบดังกล่าว และจะต้องจ่ายภาษีเท่ากับวิธีการคิดคำนวนที่ให้ภาษีสูงกว่า โดยแมคเคนเสนอให้ยกเลิกวิธีการคิดภาษีแบบ Alternative Minimum Tax ออกไป เพราะก่อให้เกิดต้นทุนทางด้านภาษีที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้การยกเลิกวิธีการคิดดังกล่าว จะช่วยลดภาระภาษีที่เกิดขึ้นต่อชนชั้นกลางของสหรัฐฯ กว่า 25 ล้านครอบครัวได้เป็นอย่างมาก
- ข้อเสนอในการปรับปรุงระบบภาษีให้มีความเสมอภาคมากขึ้น เช่น บุคคลที่สมรส หรือบุคคลที่เป็นโสด ควรจ่ายภาษีในลักษณะที่เท่าเทียมกัน เช่นได้รับการลดหย่อนทางด้านภาษีที่เท่าเทียมกัน ข้อเสนอในเรื่องนี้จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมจากภาษีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
- ข้อเสนอในการเพิ่มค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดู คู่สมรส บิดา มารดา หรือผู้ที่ต้องอุปการะ จากเดิมที่กำหนดไว้ $US 3,500 มาเป็น $US 7,000 ต่อคน โดยข้อเสนอนี้เกิดจากการที่ค่าลดหย่อนดังกล่าวถูกกำหนดไว้มาเป็นเวลานาน ซึ่งมูลค่าที่แท้จริงของค่าลดหย่อนลดลงทุกปีเนื่องจากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น
- ข้อเสนอในการปรับระบบภาษีให้ส่งเสริมและเอื้อหนุนต่อการพัฒนาทางด้านนวัตกรรม (Innovation) ตัวอย่างเช่น การอนุญาตให้ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการลงทุนทางเครื่องจักรและเทคโนโลยีทั้งหมดในปีนั้น โดยข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศ
- ข้อเสนอในการปฎิรูประบบภาษีให้เป็นระบบภาษีที่ง่ายขึ้น (A simpler tax system) โดยแมคเคนได้เสนอให้เพิ่มทางเลือกในการคิดคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ระบบภาษีแบบดั้งเดิม หรือใช้ระบบภาษีที่จะถูกนำเสนอขึ้นมาใหม่ โดยระบบภาษีใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นระบบภาษีที่มีความเสมอภาคและไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจะมีอัตราภาษีเพียง 2 อัตรา (เปรียบเทียบกับเดิมที่มี 6 อัตรา) แต่ทั้งนี้จะมีการลดหย่อนทางด้านภาษีไม่มากนัก (ตามหลักการของระบบภาษีคงที่ A flat tax system) เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม รวมถึงลดช่องโหว่ทางด้านภาษีนั้นเอง
- ข้อเสนอในการยกเว้นการเก็บภาษีน้ำมันในช่วงฤดูร้อน เพื่อบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันแพงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการวิพากย์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมเป็นอย่างมาก
* "แมคเคนโนมิกส์ (McCainomics): นโยบายภาษี" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 21 พ.ค. 2551
No comments:
Post a Comment