รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ใช้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ทั้งการแจกเงิน 2,000 บาท (ซึ่งเป็นการโอนรายได้จากภาครัฐกลับไปสู่ภาคประชาชนโดยตรง) การลดภาษีสำหรับการซื้อบ้าน การเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ รวมถึงการกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
เมื่อพิจารณาถึงมาตรการที่ได้ออกมาพบว่า ส่วนหนึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะเพิ่มอุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการบริโภคสินค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งวัดโดยผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยมีสมมติฐานที่สำคัญคือ เงินที่ภาครัฐใช้จ่ายจะเปลี่ยนเป็นรายได้ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการที่ภาครัฐเข้าไปซื้อ เมื่อคนกลุ่มนี้ได้รับเงินจากการใช้จ่ายของภาครัฐ จะนำเงินไปใช้จ่ายต่อในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนหรือเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และทำให้ภาคเศรษฐกิจขยายตัว
หากการขยายตัวของภาคทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น มีมูลค่ามากกว่าเงินที่ภาครัฐใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในตอนแรก ในกรณีนี้จะเป็นไปตามสมมติฐานที่ภาครัฐตั้งไว้ ที่การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้เมื่อนำผลผลิตมวลรวมที่เพิ่มขึ้นมาหารด้วยรายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในตอนแรก สัดส่วนที่ได้เรียกว่า “ผลทวีคูณของการใช้จ่ายภาครัฐ” หรือ “Multiplier effect of government spending”
การศึกษาถึงผลทวีคูณของการใช้จ่ายภาครัฐ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายในแต่ประเทศ ในกรณีที่ผลทวีคูณของประเทศที่ทำการศึกษามีค่ามากกว่าหนึ่ง สมมติว่ามีค่าเท่ากับสอง ย่อมชี้ให้เห็นว่า การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ 1 บาท กระตุ้นให้ผู้คนหันมาบริโภคสินค้าและบริการกันมากขึ้น (Crowding-in effect) ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 2 บาท ซึ่งมากกว่าเงินที่ภาครัฐใช้จ่ายในตอนแรก
ในทางกลับกัน หากผลทวีคูณที่พบมีค่าน้อยกว่าหนึ่ง สมมติว่ามีค่าเป็นศูนย์ ย่อมหมายถึง เงินที่ภาครัฐใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1 บาทนั้น มีผลให้เกิดการหักล้างหรือลดการใช้จ่ายของภาคเอกชนหรือผู้บริโภค (Crowding-out effect) ซึ่งในกรณีนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐนอกจากจะไม่สามารถกระตุ้นระบบเศรษกิจ แต่ซ้ำร้ายไปแทนที่การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ ปกติแล้วการใช้จ่ายของภาครัฐ ถือว่ามีประสิทธิภาพน้อยกว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชน
ศาสตราจารย์ โรเบิรต์ แบรโร (Robert J. Barro) นักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่มีชื่อเสียง และเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาถึงผลทวีคูณ (Multiplier effect) ของการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ผลการศึกษาที่ได้พบว่า ในภาวะปกติ (ในช่วงที่ประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม) การใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีผลกระทบใดๆ ที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งวัดโดยผลผลิตมวลรวมภายในประเทศเลยแม้แต่น้อย นั่นคือผลทวีคูณที่พบมีค่าไม่แตกต่างจากศูนย์นั่นเอง ผลที่ได้จากการศึกษาชี้ว่าการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นมานั้น แท้จริงแล้วมีผลให้เกิดการหักล้างการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ควรจะเกิดขึ้น
แต่นั่นแหละครับ คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ ที่ผลการศึกษาของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงท่านนี้ กลับไม่นิยมถูกอ้างอิง หรือถูกละเลยไป เพราะผลจากการศึกษาที่ได้คงไม่ถูกใจใครหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะกับผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนเหล่านั้นที่เชื่อว่า นโยบายการคลัง โดยเฉพาะการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ สามารถกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้
แม้ว่าผลของการศึกษาที่พบ จะไม่ชี้ว่าการใช้จ่ายของภาครัฐสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้จริง แต่ทั้งนี้มิได้หมายถึง นโยบายการคลัง (โดยเฉพาะในส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐ) จะไม่มีความสำคัญ การใช้จ่ายของภาครัฐยังถือว่ามีความจำเป็น โดยเฉพาะกับโครงการที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยปกติ แต่หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจะต้องขึ้นกับความคุ้มค่าของโครงการเป็นหลัก หากโครงการใดเมื่อพิจารณาแล้วคุ้มค่า และสังคมได้รับประโยชน์มากกกว่าเงินที่ภาครัฐต้องจ่ายไป โครงการเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างเต็ม แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สิ่งที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ควรกลับมาทบทวนอย่างจริงจังกับการออกนโยบายที่ผ่านมา รวมถึงที่กำลังจะออกต่อไปในอนาคต รัฐบาลควรเปลี่ยนจากการดำเนินนโยบายหรือมาตรการที่มุ่งเน้นการเพิ่มอุปสงค์ในระยะสั้น มาเป็นนโยบายที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้คนและภาคธุรกิจเกิดความต้องการทำงานหรือลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มอุปทาน (Supply) ของตลาดได้ในระยะยาว เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง หรือแม้นกระทั้ง การอนุญาตให้ภาคธุรกิจสามารถหักค่าเสื่อมจากการลงทุนได้มากขึ้นและเร็วขึ้น เป็นต้น มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงจูงใจให้ภาคธุรกิจเกิดการลงทุนและจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยได้ในระยะยาว
*"ผลทวีคูณของการใช้จ่ายภาครัฐ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 4 มี.ค. 2552
No comments:
Post a Comment