Wednesday, April 1, 2009

แผนการกอบกู้เศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐอเมริกา*

เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอแผนกอบกู้เศรษฐกิจครั้งใหม่จากฟากฝั่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อว่า โครงการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Investment Program หรือ PPIP) ซึ่งสร้างความฮือฮาและได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสหรัฐเป็นอย่างมาก โดยตลาดหุ้นสหรัฐได้พุ่งทะยานขึ้นทันทีเกือบ 500 จุด ตอบรับแผนที่นำเสนอในครั้งนี้โดยคุณ Timothy Geithner รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ (ผู้อ่านหลายท่านอาจไม่ทราบมาก่อนว่า คุณ Timothy Geithner ผู้นี้จะรู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดีมาก เพราะท่านสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายจากโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยของเรานี้เอง)

โครงการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ถูกนำเสนอออกมา มีมูลค่าโครงการรวมถึงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในระบบการเงินสหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สถาบันการเงินสหรัฐ ต้องแบกรับภาระหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากการปล่อยสินเชื่อที่มากเกินไปหรือหละหลวมในอดีต ทั้งนี้ขอบเขตของหนี้เสีย (Legacy assets) ได้รวมถึงหนี้เสียที่เกิดจากการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในธนาคารพาณิชย์ (Legacy loans) และหนี้เสียของตราสารหนี้ที่อยู่ในตลาดทุน (Legacy securities)

โดยปัจจุบัน สถาบันการเงินในสหรัฐกำลังเผชิญกับปัญหาจากการที่ไม่สามารถขายหนี้เสียเหล่านี้ได้ ทั้งนี้เนื่องจาก หนึ่ง ราคาสินทรัพย์ได้ปรับลดลงเป็นอย่างมาก จนสถาบันการเงินไม่อยากขายสินทรัพย์ในราคาปัจจุบันที่ขาดทุนมาก และ สอง ความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้การลงทุนในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง นักลงทุนไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดในช่วงนี้ เมื่อสถาบันการเงินไม่สามารถขายหนี้เสียเหล่านี้ออกไปได้ ย่อมส่งผลต่อความมั่งคงหรือสถานะทางการเงิน ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนใหม่ สุดท้ายย่อมส่งผลต่อความสามารถในการปล่อยกู้ และสภาพคล่องในระบบการเงินสหรัฐ

สำหรับหลักการของโครงการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนที่คุณ Timothy Geithner นำเสนอในครั้งนี้ สามารถสรุปได้โดยสังเขปดังนี้ (เฉพาะในส่วนของหนี้เสียที่ถือโดยธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน หรือที่เรียกว่า Legacy Loans Program)

ขั้นที่หนึ่ง ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินที่ต้องการนำหนี้เสียมาขาย จะต้องแสดงความประสงค์ต่อ สถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corporation หรือ FDIC) หาก FDIC เห็นชอบ ก็จะอนุมัติในหลักการที่จะยินดีปล่อยกู้แก่นักลงทุนที่เข้าซื้อหนี้เสียเหล่านี้ โดยมีสัดส่วนการให้กู้ยืมเงินไม่เกิน 6 ส่วนต่อเงินทุน 1 ส่วน หรือกล่าวคือนักลงทุนจะต้องนำเงินมาลงทุนประมาณ 1 ใน 7 หรือประมาณ 14.3% ของมูลค่าสินทรัพย์ที่เข้าซื้อทั้งหมด

ขั้นที่สอง ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของโครงการนี้คือ การใช้วิธีการประมูล โดยให้นักลงทุนแข่งขันเสนอราคาซื้อหนี้เสียที่เหมาะสม เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ภาครัฐต้องเข้าไปซื้อหนี้เสียเหล่านี้ในราคาที่สูงเกินจริง

ขั้นที่สาม เมื่อตัดสินได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว FDIC จะปล่อยเงินกู้แก่นักลงทุนที่ได้ในสัดส่วนการให้กู้ยืมเงินสูงสุด 6 ส่วนต่อเงินทุน 1 ส่วน ดังที่กล่าวในขั้นที่สอง

ขั้นที่สี่ ในส่วนของเงินทุน 1 ส่วนที่เหลือนั้น (หรือประมาณ 14% ของมูลค่าสินทรัพย์) กระทรวงการคลังของสหรัฐจะเข้ามาเป็นผู้ลงทุนร่วมกับภาคเอกชน ฝ่ายละครึ่ง ซึ่งหมายความถึง การซื้อหนี้เสียของภาคเอกชนในครั้งนี้ นักลงทุนจะต้องควักเงินตนเองในการซื้อเพียงแค่ 7% ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด โดยนักลงทุนหรือภาคเอกชนจะเป็นผู้บริหารสินทรัพย์เหล่านี้ ภายใต้การกำกับดูแลโดย FDIC

แม้นว่าโครงการนี้จะมีจุดเด่นในจากการใช้กลไกตลาด ผ่านวิธีการประมูลในการประเมินมูลค่าหนี้เสียที่สถาบันการเงินถืออยู่ และสามารถเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนได้จากการอุดหนุนการลงทุนโดยภาครัฐ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนของภาคเอกชน แต่กลับมีข้อสังเกตที่ต้องพึงระวังอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น

- การอุดหนุนของภาครัฐในสัดส่วนที่สูงเกินไปเช่นนี้ ได้ผลักภาระความเสี่ยงจากการลงทุนเกือบทั้งหมดไปยังประชาชนสหรัฐโดยไม่รู้ตัว ดังที่เห็นได้จากสัดส่วนเงินลงทุนที่มาจากภาคเอกชนโดยตรงมีค่อนข้างน้อยมาก (7%) เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนเงินลงทุนที่รัฐบาลสนับสนุน (93%) ซึ่งเงินเหล่านี้มาจากเงินภาษีของประชาชน เมื่อความเสี่ยงของการลงทุนที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนต่ำเกินปกติ นักลงทุนอาจตัดสินใจลงทุนโดยขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ และอาจเป็นการเก็งกำไรในสินทรัพย์แทน ซึ่งหากการลงทุนที่เกิดขึ้นล้มเหลว ผู้ที่แบกรับภาระขาดทุนทั้งเกือบหมดกลับเป็นประชาชนสหรัฐนั่นเอง

- ภายใต้หลักการของโครงการนี้ รัฐอาจต้องเข้าไปอุดหนุนการลงทุนจนมากเกินความจำเป็น โดยหนี้เสียที่มีคุณภาพดีและไม่จำเป็นที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ด้วยนโยบายที่ใจดีมากเช่นนี้ อาจทำให้นักลงทุนขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลโดยไม่มีความจำเป็น

นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหา Adverse Selection และปัญหา Moral Hazard ซึ่งขออนุญาตไม่กล่าวถึง ณ ที่นี้

ดังนั้น แม้นว่าโครงการที่นำเสนอในครั้งนี้จะดูดีและสามารถใช้ในการกระตุ้นการลงทุนได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว อาจสร้างปัญหาใหญ่ทั้งต่อเสถียรภาพของระบบการคลังและระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งหากหน่วยงานหรือภาครัฐของไทยสนใจที่จะนำแนวทางของโครงการนี้มาใช้ ก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาต่อประเทศในระยะยาว

*"แผนการกอบกู้เศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐอเมริกา" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 1 เม.ย. 2552

No comments:

Post a Comment