ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ปี พ.ศ. 2556 ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เราลองพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมต่อปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้ในปีหน้า ทั้งนี้จากรายงานที่ออกมาล่าสุดของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) (*) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund)(**) ได้มองว่า เศรษฐกิจโลกยังมีลักษณะที่อ่อนแอ โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่รวมถึงประเทศไทย ได้แก่
หนึ่ง ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่มาจาก “หน้าผาทางการคลัง” (Fiscal cliff) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านที่อาจจะไม่คุ้นว่า “หน้าผาทางการคลัง” ที่ถูกกล่าวถึงนั้นคืออะไร ผมจะขออธิบายสักเล็กน้อย ดังนี้
หน้าผาทางการคลังที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกามาจากการที่มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่เคยถูกนำมาใช้ในอดีตหลายมาตรการกำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปีนี้ เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ถูกมาใช้ในสมัยประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ในช่วงปี 2001-2003 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ถูกนำใช้ในช่วงปี 2009-2010 นอกจากนี้ กฏหมายควบคุมงบประมาณ (Budget Control Act of 2011) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดการขาดดุลงบประมาณภาครัฐและระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกา ก็กำลังจะถูกนำมาบังคับใช้ในวันที่ 2 มกราคม 2556 ซึ่งจะมีผลที่นำไปสู่การตัดลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐโดยอัตโนมัติ (Sequestration) เป็นต้น
ดังนั้น หน้าผาทางการคลังจะมีผลโดยตรงที่ทำให้อัตราภาษีที่จัดเก็บในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายตัวปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายภาครัฐถูกตัดทอนลง ซึ่งย่อมส่งผลลบต่อเศรษฐกิจที่เปราะปรางและอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา ที่ยังจำเป็นต้องการแรงผลักดันที่มาจากการใช้จ่ายภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย มองว่า หากสภาคอนเกรสของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถหาข้อสรุปที่นำไปสู่การต่ออายุมาตรการต่างๆ ออกไปได้ และจำเป็นต้องเผชิญกับหน้าผาทางการคลังดังกล่าวข้างต้น เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งในไตรมาสแรกของปี 2556 นี้
ในเรื่องนี้ ผมมองว่า สุดท้ายถึงจุดหนึ่ง (ในเร็ววันนี้) การเจรจาระหว่างพรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครต ในเรื่องวิธีการลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ (เพราะต่างก็มีนโยบายทางด้านการคลังที่ใช้ในการลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่แตกต่างกัน) ก็คงสำเร็จและนำไปสู่ข้อตกลงในระยะสั้นที่จะขยายอายุของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกไปก่อนในช่วง 1-2 ปี ซึ่งจะทำให้หน้าผาทางการคลังที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญเลื่อนเวลาออกไปหรือบรรเทาลงไปได้
สอง วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งผมมองว่า ปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปก็คงจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกยาวนาน เพราะต้นตอของปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข (ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความแตกต่างกันอย่างมากของลักษณะพื้นฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวระบบของการรวมกลุ่มประเทศยูโรโซน) แม้ว่าที่ผ่านมาในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2555 โลกจะเริ่มกลับมามีความหวังอยู่บ้าง จากการออกมาแถลงของนาย Mario Draghi ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank, ECB) ว่าจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องเงินยูโร หรือแม้แต่ความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนถาวรในการรักษาเสถียรภาพการเงิน European Stability Mechanism (ESM) ก็ตาม
สาม การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสาธารณะประชาชนจีน และความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เปราะปรางของประเทศญี่ปุ่นก็ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจสำคัญโดยเฉพาะต่อประเทศไทย ที่มีลักษณะเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงและขึ้นอยู่กับประเทศเหล่านี้เป็นอย่างมาก
เราจึงพอมองเห็นได้ว่า ในปี พ.ศ. 2556 ที่จะมาถึงนี้ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่ค้าและคู่ลงทุนที่สำคัญของประเทศไทยเกือบทั้งหมด จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจไทยในเชิงลบที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น การดำเนินธุรกิจในปีหน้าจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออกของประเทศ ภาครัฐเองก็ควรให้ความสำคัญมากขึ้นในการช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจไทยสามารถปรับตัวและรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้น
อ้างอิง
(*) Asian Development Bank, 2012, Asia Bond Monitor (Philippines; November).
(**) International Monetary Fund, 2012, Global Financial Stability Report, World Economic and Financial Surveys (Washington; October).
*"ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษกิจภายนอกประเทศที่สำคัญในปี พ.ศ. 2556" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 ธ.ค. 2555
หนึ่ง ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่มาจาก “หน้าผาทางการคลัง” (Fiscal cliff) ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านที่อาจจะไม่คุ้นว่า “หน้าผาทางการคลัง” ที่ถูกกล่าวถึงนั้นคืออะไร ผมจะขออธิบายสักเล็กน้อย ดังนี้
หน้าผาทางการคลังที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกามาจากการที่มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่เคยถูกนำมาใช้ในอดีตหลายมาตรการกำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปีนี้ เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ถูกมาใช้ในสมัยประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ในช่วงปี 2001-2003 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ถูกนำใช้ในช่วงปี 2009-2010 นอกจากนี้ กฏหมายควบคุมงบประมาณ (Budget Control Act of 2011) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดการขาดดุลงบประมาณภาครัฐและระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกา ก็กำลังจะถูกนำมาบังคับใช้ในวันที่ 2 มกราคม 2556 ซึ่งจะมีผลที่นำไปสู่การตัดลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐโดยอัตโนมัติ (Sequestration) เป็นต้น
ดังนั้น หน้าผาทางการคลังจะมีผลโดยตรงที่ทำให้อัตราภาษีที่จัดเก็บในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายตัวปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายภาครัฐถูกตัดทอนลง ซึ่งย่อมส่งผลลบต่อเศรษฐกิจที่เปราะปรางและอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา ที่ยังจำเป็นต้องการแรงผลักดันที่มาจากการใช้จ่ายภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย มองว่า หากสภาคอนเกรสของสหรัฐอเมริกาไม่สามารถหาข้อสรุปที่นำไปสู่การต่ออายุมาตรการต่างๆ ออกไปได้ และจำเป็นต้องเผชิญกับหน้าผาทางการคลังดังกล่าวข้างต้น เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งในไตรมาสแรกของปี 2556 นี้
ในเรื่องนี้ ผมมองว่า สุดท้ายถึงจุดหนึ่ง (ในเร็ววันนี้) การเจรจาระหว่างพรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครต ในเรื่องวิธีการลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ (เพราะต่างก็มีนโยบายทางด้านการคลังที่ใช้ในการลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่แตกต่างกัน) ก็คงสำเร็จและนำไปสู่ข้อตกลงในระยะสั้นที่จะขยายอายุของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกไปก่อนในช่วง 1-2 ปี ซึ่งจะทำให้หน้าผาทางการคลังที่สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญเลื่อนเวลาออกไปหรือบรรเทาลงไปได้
สอง วิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งผมมองว่า ปัญหาวิกฤตหนี้ภาครัฐยุโรปก็คงจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกยาวนาน เพราะต้นตอของปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข (ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความแตกต่างกันอย่างมากของลักษณะพื้นฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวระบบของการรวมกลุ่มประเทศยูโรโซน) แม้ว่าที่ผ่านมาในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2555 โลกจะเริ่มกลับมามีความหวังอยู่บ้าง จากการออกมาแถลงของนาย Mario Draghi ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank, ECB) ว่าจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องเงินยูโร หรือแม้แต่ความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนถาวรในการรักษาเสถียรภาพการเงิน European Stability Mechanism (ESM) ก็ตาม
สาม การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสาธารณะประชาชนจีน และความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เปราะปรางของประเทศญี่ปุ่นก็ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจสำคัญโดยเฉพาะต่อประเทศไทย ที่มีลักษณะเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงและขึ้นอยู่กับประเทศเหล่านี้เป็นอย่างมาก
เราจึงพอมองเห็นได้ว่า ในปี พ.ศ. 2556 ที่จะมาถึงนี้ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่ค้าและคู่ลงทุนที่สำคัญของประเทศไทยเกือบทั้งหมด จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจไทยในเชิงลบที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้น การดำเนินธุรกิจในปีหน้าจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการส่งออกของประเทศ ภาครัฐเองก็ควรให้ความสำคัญมากขึ้นในการช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจไทยสามารถปรับตัวและรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้น
อ้างอิง
(*) Asian Development Bank, 2012, Asia Bond Monitor (Philippines; November).
(**) International Monetary Fund, 2012, Global Financial Stability Report, World Economic and Financial Surveys (Washington; October).
*"ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษกิจภายนอกประเทศที่สำคัญในปี พ.ศ. 2556" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 3 ธ.ค. 2555
No comments:
Post a Comment