หลายหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ เริ่มแสดงความคิดเห็นที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทย ว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไปแล้ว และจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หรือในช่วงต้นปีหน้า บ้างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะฟื้นตัวเป็นรูป V-shape แต่ก็ยังมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ที่กลับมองว่าวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้ยังไปไม่ถึงจุดต่ำสุด และมีโอกาสที่จะตกต่ำลงไปอีกในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
นักเศรษฐกิจชื่อดังอย่างนาย Paul Krugman ได้แสดงความเห็นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า เขายังไม่เห็นสัญญานหรือรู้สึกได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังกลับมาฟื้นตัวแล้วจริง ทั้งนี้เขายังได้ยืนยันความเห็นเดิมที่เคยกล่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังอาจต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการฟื้นตัว ถึงแม้ว่าตัวเลขผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) อาจกลับมาขยายตัวเป็นบวก แต่นั่นอาจไม่ได้หมายถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้เกิดขึ้นแล้วจริง โดยวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในอดีตส่วนใหญ่ จะมีช่วงระยะเวลา (อาจค่อนข้างนาน) ที่ผลผลิตมวลรวมได้กลับมาขยายตัวเป็นบวก แต่ตัวเลขอัตราการจ้างงานไม่ได้มีทิศทางที่ดีขึ้น ซ้ำร้ายในหลายเหตุการณ์กลับพบว่ามีทิศทางที่แย่ลงกว่าเดิม ซึ่งแสดงถึงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่ได้จบสิ้น
เราคงต้องยอมรับว่า ในเมื่อมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในครั้งนี้ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในปัจจุบัน หากเราต้องการจะตัดสินหรือหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ เช่น ปัจจุบันประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตการณ์ไปแล้วหรือยัง หรือ ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ที่ประเทศจะผ่านพ้นปัญหาวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้
ผมได้อ่านบทความวิชาการหนึ่งของ IMF(1) ที่พึ่งออกมาเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว ซึ่งมีความน่าสนใจ แม้ว่าจะไม่สามารถตอบคำถามต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นได้โดยตรง แต่ผลของการศึกษาที่ออกมายืนยันความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งที่มีต่อการใช้นโยบายการคลัง โดยบทความที่กล่าวถึงนี้ ได้ศึกษาถึงผลหรือประสิทธิภาพของการใช้นโยบายการคลังที่มีต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสถาบันการเงินในอดีต (ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1980-2008) โดยพิจารณาทั้งผลที่มีต่อการลดระยะเวลาของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และผลที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะกลาง
ผลจากการศึกษาพบว่า การใช้นโยบายการคลัง เช่น การเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ สามารถช่วยลดระยะเวลาของประเทศที่ตกอยู่ในวิกฤตการณ์เศรษฐกิจลงได้จริง โดยเมื่อเปรียบเทียบผลของการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐระหว่างรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนพบว่า การเพิ่มรายจ่ายประจำของภาครัฐ มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าการเพิ่มรายจ่ายลงทุน เมื่อพิจารณาถึงการลดเวลาของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นผลของการใช้นโยบายการคลังที่มีในการแก้ไขปัญหาระยะสั้น
เมื่อพิจารณาถึงผลของการใช้นโยบายการคลังที่มีในระยะกลางกลับพบว่า การเพิ่มการรายจ่ายประจำของภาครัฐไม่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะกลาง ในขณะที่การเพิ่มรายจ่ายลงทุนของภาครัฐ ส่งผลบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะกลางได้ ผลที่พบในส่วนนี้ ชี้ให้เห็นถึงการได้อย่างเสียอย่าง (Trade-off) ระหว่างการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลาง
งานศึกษานี้ยังพบว่า ผลหรือประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายทางการคลังนั้น ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และภาระทางการคลัง ซึ่งรวมถึง Fiscal space (งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เหลืออยู่ ภายหลังจากการตัดรายจ่ายที่ไม่สามารถตัดลดได้) ของประเทศ โดยประเทศที่ขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และมีระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศต้องตกอยู่ในวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่ยาวนาน เมื่อเทียบกับประเทศที่มีภาระทางการคลังที่น้อยกว่า หรือมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า
โดยสรุปแล้ว ผลของงานศึกษาชิ้นนี้ได้ยืนยันความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์การคลังที่แสดงถึงความจำเป็น ที่ภาครัฐจะต้องรักษากรอบวินัยทางการคลังและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาครัฐยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงการได้อย่างเสียอย่างระหว่างนโยบายการคลังที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น กับนโยบายที่ใช้สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว
อ้างอิง
(1) Baldacci, E., S. Gupta, and C. Mulas-Granados, 2009, “How Effective is Fiscal Policy Response in Systemic Banking Crises?” IMF Working Paper 09/160.
*"นโยบายการคลัง กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" ตีพิมพ์ในคอลัมน์ทันเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ วันที่ 5 ส.ค. 2552
No comments:
Post a Comment